การที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ

ยังอยู่ในห้วงของวันมิ่งมงคลของปวงชนชาวไทยทุกคนคือวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน ผมเลยจะขออนุญาตเล่าถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ใน AEC ของพระองค์ท่านเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ

เวียดนามใต้เป็นประเทศแรกของ AEC ที่ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเยือนในปี 2502 ซึ่งในสมัยนั้นเวียดนาม ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเทศคือเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้อยู่ก่อนที่จะรวมเป็นประเทศเดียวกันในปี 2519 ในการเสด็จฯ เยือนครั้งนั้น มหาวิทยาลัยไซ่ง่อนได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ด้านกฎหมายแด่พระองค์ท่านด้วย

ปี 2503 เป็นปีที่ในหลวงเสด็จฯเยือนต่างประเทศมากที่สุดคือเสด็จฯ เยือน 16 ประเทศคือใน AEC 2 ประเทศ สหรัฐอเมริกา และอีก 13 ประเทศในยุโรป ใน AEC นั้นพระองค์ท่านเสด็จฯเยือนอินโดนีเซียในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งในการเสด็จฯ เยือนได้ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงให้แก่ประธานาธิบดีซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของ อินโดนีเซียและรัฐมนตรีคนสำคัญ ๆ ของอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา เมืองจ๊อกจาการ์ตา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย ที่โด่งดังมีชื่อเสียงมากก็ได้ทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ท่านในการเสด็จเยือนครั้งนั้น ที่น่าอะเมซิ่ง ก็คือประธานาธิบดีคนล่าสุดของอินโดนีเซีย โจโควี่ก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้เช่นกัน

สหภาพพม่า (ชื่อเดิมในเวลานั้น) คืออีกประเทศหนึ่งที่ในหลวงเสด็จฯเยือนในปี 2503 ในการเสด็จฯเยือนครั้งนั้น ในหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการชเว่ย์ดาโก่น (ชเวดากอง) และทรงถวายเงินบำรุงเป็นพุทธบูชาเป็นจำนวนเท่าอายุของพระพุทธศาสนาในตอนนั้นคือ 2,503 จ๊าด

ประเทศที่ 4 ที่ในหลวงเสด็จฯเยือนในปี 2505 คือ สหพันธรัฐมาลายา (ชื่อเดิม) หรือมาเลเซียในปัจจุบัน “ยังดิ เปอร์ตวน อากง” ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งที่หมายถึง “กษัตริย์ของมลายา” และ “ประไหมสุหรี” ซึ่งหมายถึง “พระราชินี” ได้ถวายการต้อนรับและได้ทูลเกล้าฯถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแด่ในหลวงของเรา

ในปีเดียวกันนั้นเอง ในหลวงได้เสด็จฯเยือนประเทศแรกในกลุ่มอาเซียน+6 คือ นิวซีแลนด์ และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ จากต่างประเทศพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนนิวซีแลนด์ ประเทศต่อ ๆ มาในกลุ่มอาเซียน+6 ที่พระองค์ท่านเสด็จฯ เยือนก็คือ ออสเตรเลีย ในปี 2505 และญี่ปุ่นกับจีน ในปี 2506

ประเทศสุดท้ายใน AEC ที่ในหลวงเสด็จฯเยือนคือฟิลิปปินส์ในปี 2506 ส่วนประเทศสุดท้ายที่เสด็จฯ เยือนคือแคนาดา ในปี 2510 เพราะหลังจากนั้นพระองค์ท่านทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะทรงพระราชกรณียกิจเพื่อความผาสุกของปวงชนชาวไทย แต่หากพระประมุขหรือประมุขของประเทศใดกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ก็จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ แทนพระองค์

หลังจากทรงว่างเว้นจากการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศอีกเป็นเวลา 27 ปี เมื่อถึงวันที่ 8 เมษายน 2537 ในหลวงจึงได้เสด็จพระราช ดำเนินต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปทรงประกอบพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ร่วมกับประธานประเทศซึ่งเป็นประมุขของ สปป.ลาวคือ ฯพณฯ หนูฮัก พูมสะหวัน หลังพิธีเปิดสะพานในหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานต่อยังโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่ได้ทรงพระราชทานแก่ประชาชน สปป.ลาวมาก่อนหน้านั้น
ประเทศใน AEC ที่พระองค์ท่านยังมิได้เสด็จฯ เยือน จึงมีเพียง บรูไน กัมพูชาและสิงคโปร์ แต่พระประมุขและประมุขของทั้งสามประเทศนี้ต่างก็ได้เคยเสด็จฯและเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกันแล้วทั้งสิ้น

พระบารมีของพระองค์ท่านจึงเผยแผ่ไพศาลกว้างไกลทั้งในและนอกประเทศอย่างที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกเทียมได้ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ.

เกษมสันต์ วีระกุล

บทที่ 5: การเสด็จพระราชดำเนินเยือนเดนมาร์กของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อปี พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 พ.ย. 2565

| 31,316 view

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450 ซึ่งทำให้ทรงสามารถสร้างพันธมิตรทางการทูตกับมหาอำนาจตะวันตกและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ในยุโรป นอกจากนี้ ทรงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศตะวันตกเนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์จากเอเชียพระองค์แรกที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษกับกษัตริย์ยุโรปได้อย่างคล่องแคล่วโดยไม่ต้องใช้ล่าม

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2440

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสยุโรปด้วยเรือหลวง ”มหาจักรี” ในปี พ.ศ. 2440 โดยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 เรือหลวงได้เข้าเทียบท่ากรุงโคเปนเฮเกนพร้อมกับเรือรบ Helgoland และ Tordenskjold ของเดนมาร์ก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบจอมพลและประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูล Order of the Elephant ของเดนมาร์ก ทั้งนี้ ในขบวนเสด็จประกอบด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช รวมทั้งสมาชิกในพระราชวงศ์และข้าราชบริพารอีกจำนวนมาก โดยในการเสด็จประพาสเดนมาร์กครั้งนี้ทรงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 ซึ่งทรงจัดให้ประทับที่พระราชวัง Amalienborg ด้วย

ระหว่างการประทับที่เดนมาร์ก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนสถานที่ต่างๆ ในกรุงโคเปนเฮเกนและเกาะซีแลนด์ เช่น โรงงาน Royal Danish Porcelain หรือ Royal Copenhagen ในปัจจุบัน โดยทรงซื้อเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากกลับไปยังสยาม นอกจากนี้ ทรงได้เยี่ยมชมพระราชวัง Frederiksborg พระราชวัง Fredenborg สวน Tivoli พิพิธภัณฑ์รูปปั้นและประติมากรรมสลักหินอ่อน Thorvaldsen และโรงเบียร์ Carlsberg ซึ่งได้ทอดพระเนตรกระบวนการหมักดอกฮ็อปส์และมอลท์ รวมทั้งการหมักและการเก็บรักษาเบียร์ นอกจากนี้ ทรงได้ประทับล่องเรือ “Dannebrog” ร่วมกับพระราชวงศ์เดนมาร์กไปยังเมือง Helsingør ด้วย

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2450

ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กเป็นครั้งที่ 2 ด้วยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2450 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและเดนมาร์กแนบแน่นยิ่งขึ้น โดยทรงได้รับการต้อนรับจากสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 8 ให้ประทับที่พระราชวัง Bernstorff

ในระหว่างการเสด็จฯ เยือนเดนมาร์กครั้งนี้ ได้เสด็จฯ ไปยังเมือง Roskilde และเยี่ยมชมวิหาร Roskilde Cathedral ซึ่งเป็นสถานที่ฝังพระศพเก่าแก่ของกษัตริย์และราชินีแห่งเดนมาร์ก โดยทรงวัดส่วนสูงบน “เสาวิหารหลวง” ร่วมกับพระมหากษัตริย์เดนมาร์กในอดีต นอกจากนี้ ได้เสด็จฯ ไปเยือนที่พำนักของ Andreas du Plessis de Richelieu และ H.N. Andersen โดยมีสมาชิกในครอบครัวของบุคคลทั้งสองเฝ้าฯ รับเสด็จ

ในวันสุดท้ายของการเสด็จฯ เยือนเดนมาร์ก ได้ทรงล่องเรือไปยังคาบสมุทร Jutland และทรงหยุดประทับที่เมือง Aarhus ก่อนจะทรงล่องเรือต่อไปยังท่าเรือเมือง Frederikshavn และประทับรถไฟไปยังเมือง Skagen ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุดของคาบสมุทร Jutland โดยเสด็จฯ ถึงเมือง Skagen ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 และเสด็จฯ เยือนแหลมเกรเนนซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของเดนมาร์กและทรงปักธงช้างเผือกไว้ที่แหลมดังกล่าว ต่อมาได้พระราชทานธงช้างเผือกดังกล่าวให้แก่เมือง Skagen เป็นของขวัญ

ในโอกาสรำลึกวันครบรอบ 100 ปี ของการเสด็จประพาสเมือง Skagen ในปี พ.ศ. 2550  สโมสรไลออนส์เดนมาร์กและประเทศไทยร่วมกับ พญ. คุณหญิงอัมพร สุคนธมาน ที่ปรึกษากิตติศักดิ์สโมสรไลออนส์กรุงเทพ ได้จัดสร้างองค์หล่อพระบรมรูปทรงม้าสัมฤทธิ์เพื่อจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เมือง Skagen โดยเป็นองค์หล่อจำลองของพระบรมรูปทรงม้าที่ตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม หลังจากนั้น พระบรมรูปทรงม้าสัมฤทธิ์จำลองดังกล่าวได้ถูกย้ายไปประดิษฐานที่อาคาร Asia House ณ กรุงโคเปนเฮเกนจนถึงทุกวันนี้ โดยชุมชนไทยในเดนมาร์กและนักท่องเที่ยวชาวไทยจะเดินทางไปสักการะพระบรมรูปทรงม้าดังกล่าวเนื่องในโอกาสสำคัญ เช่น วันปิยมหาราช เป็นประจำทุกปี

 แหล่งข้อมูลและภาพ: 1) หนังสือ “A Tale of Two Kingdoms” จัดพิมพ์โดยบริษัท อีสเอเชียติก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2539

2) หนังสือ Admiralen, Kongen & Kaptajnen, Danskere i Elefanternes Rige จัดพิมพ์โดยบริษัท Høst & Søn ในเดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. 2541

3) https://aarhuswiki.dk/wiki/Kong_Chulalongkorns_bes%C3%B8g_i_Aarhus_i_1907

4) https://scandasia.com/2547-the-exhibition-celebrating-100-years-of-king-rama-v-visit-denmark/

5) http://thai-dansk.dk/indvielse%20Kong%20Chulalongkorns%20rytterstatue.htm

6) www.kanalfrederikshavn.dk

7) www.siraphisut.com

การที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถึงท่าเรือด่านศุลกากรกรุงโคเปนเฮเกนเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2440

การที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ

สมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 ทรงให้การต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จประพาสเดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. 2440

การที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รัชการที่ 5 และรัชการที่ 9 ทรงวัดส่วนสูงบน “เสาวิหารหลวง” ในวิหาร Roskilde Cathedral ร่วมกับพระมหากษัตริย์เดนมาร์กในอดีต

การที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ

ในการเสด็จประพาสเดนมาร์กครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการต้อนรับจากสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 8 และพระราชวงศ์เดนมาร์กเมื่อเสด็จฯ ถึงสถานีรถไฟใจกลางกรุงโคเปนเฮเกน ก่อนที่จะเสด็จฯ ไปยังพระราชวัง Amalienborg โดยรถม้า

การที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปักธงช้างเผือกที่แหลมเกรเนนซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของเดนมาร์กเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2450

การที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ

ธงช้างเผือกเมื่อครั้งที่ได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เมือง Skagen เมื่อปี พ.ศ. 2550

การที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ

สถานเอกอัครราชทูตฯ และชุมชนไทยในเดนมาร์กร่วมสักการะพระบรมรูปทรงม้าที่อาคาร Asia House เนื่องในโอกาสวันปิยมหาราช ปี 2562