ความสําคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวัฒนธรรม ศิลปะ

พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย

          พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตโต) ได้กล่าวถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยไว้ว่า วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันอยู่อย่างแนบแน่นกับพระพุทธศาสนา ซึมแทรกผสมผสานอยู่ในแนวความคิด จิตใจและกิจกรรมแทบทุกก้าวของชีวิตโดยตลอดเวลายาวนาน โดยยังคงเนื้อหาสาระเดิมที่บริสุทธิ์ไว้ได้ก็มี ถูกดัดแปลงเสริมแต่งตลอดจนปนเปกับความเชื่อถือและข้อปฏิบัติสายอื่นหรือผันแปรในด้านเหตุอื่นๆจนผิดเพี้ยนไปจากเดิมก็มากในทางจิตใจเห็นได้ชัดว่าหลักธรรมความประพฤติปฏิบัติการดำเนินชีวิตและกิจกรรมต่างๆทั้งในและเนื่องด้วย พระพุทธศาสนา ได้หล่อหลอมชีวิตจิตใจและลักษณะนิสัยของคนไทยให้เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวางและร่าเริงแจ่มใส ชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แสดงความเป็นมิตร เข้ากับใครๆได้ง่ายยินดีในการให้และการแบ่งปันพร้อมที่จะบริจาคและให้ความช่วยเหลืออย่างที่เรียกว่าเป็นคนมีน้ำใจ อันเป็นเอกลักษณ์เด่นชัด ที่ชนต่างชาติมักสังเกตเห็นและประทับใจ จนตั้งสมญาเมืองไทยว่าเป็นดินแดนแห่งความยิ้มแย้มหรือสยามเมืองยิ้มประเพณีและพิธีการต่างๆในวงจรชีวิตของแต่ละบุคคลก็ดี ในวงจรเวลาหรือฤดูกาลของสังคมหรือชุมชนก็ดี ล้วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยตลอด ถ้าไม่เป็นเรื่องของศาสนาหรือสืบเนื่องจากพระพุทธศาสนาโดยตรง ก็ต้องมีกิจกรรมตามคติความเชื่อหรือแนวปฎิบัติในพระพุทธศาสนาแทรกอยู่ด้วย

          สำหรับวงจรชีวิตของบุคคล เช่น ตั้งชื่อ โกนผมไฟ บวช แต่งงาน ทำบุญอายุ พิธีศพ เป็นต้น กล่าวโดยรวมก็คือ ตั้งแต่เกิดจนตายล้วนจัดให้เนื่องด้วยคติในพระพุทธศาสนา ส่วนในวงจรกาลเวลาของสังคมชุมชน ก็มีงานประเพณี และเทศกาลประจำปี ทั้งที่เป็นเรื่องทางพระพุทธศาสนาโดยตรง เช่นวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา งานทอดกฐิน เป็นต้น และที่จัดให้เข้าในคติของพุทธศาสนาเช่น ตรุษสงกรานต์ สารท ลอยกระทง เป็นต้น ตลอดจนงานนมัสการปูชณียวัตถุสถานประจำปีของวัดต่างๆด้วยเหตุผลนี้ ในท้องถิ่นทั้งหลาย ทั่วสังคมไทย ฤดูกาลจึงผ่านเวียนไปโดยไม่ว่างเว้นจากงานพิธีทางพระพุทธศาสนา จนชีวิตและสังคมไทยผูกพันแนบสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระพุทธศาสนาดังได้กล่าวแต่ต้นเทศกาล งานประเพณี และพิธีการต่างๆเหล่านี้ นอกจากเป็นเครื่องผูกพันและร้อยประสานรวมใจประชาชนทั่วทั้งถิ่นและทั้งสังคมให้กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียว มีความสามัคคีกันแล้วกิจกรรมบุญกุศลในโอกาสเหล่านี้ ล้วนโน้มน้อมไปในทางการให้การบริจาค สละและสลัดคลายความยึดติด จึงเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจและฝึกนิสัยของคนไทยให้มีอัธยาศัยกว้างขวางเผื่อแผ่มีไมตรีและน้ำใจภาษาเป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่งของวัฒนธรรมและคำบาลีสันสกฤตก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของภาษาไทย คำบาลีนั้นมาจากพระพุทธศาสนาโดยตรง ส่วนคำสันสกฤตมาจากพระพุทธศาสนาบ้างมาจากศาสนาฮินดูบ้างแต่รวมความแล้วพระพุทธศาสนาก็เป็นแหล่งใหญ่แห่งความเจริญงอกงามของภาษาไทยแม้แต่ถ้อยคำสามัญที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็เป็นคำที่มาจากบาลีสันสกฤตหลายส่วนยกตัวอย่าง เช่น ข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2530ความว่า ?ในการพิจารณาเรื่องนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นเรื่องการประกันภัยเกษตรกร โดยให้กลุ่มสหกรณ์ชาวนาเป็นผู้ดำเนินการ แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่เห็นด้วยและเสนอว่ากลุ่มสหกรณ์ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการดำเนินงาน ทั้งทางด้านการบริหาร…? คำว่า พิจารณา เกษตร กับ เกษตรกร สหกรณ์ การพาณิชย์ ประสิทธิภาพและบริหาร ก็เป็นคำบาลีสันสกฤตทั้งนั้นในภาษาราชการและภาษาทางวิชาการ ก็จะมีถ้อยคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤตมากขึ้น

           ตลอดจนกระทั่งการตั้งชื่อบุคคลและสถานที่ต่างๆเพื่อไพเราะหรือเพื่อให้เห็นความสำคัญก็นิยมตั้งเป็นคำบาลี สันสกฤตและนิยมให
้พระสงฆ์ผู้ที่เคารพนับถือเป็นผู้ตั้งให้เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วยภาษาเป็นอุปกรณ์ของวรรณกรรม และวรรณกรรมก็ช่วยให้ภาษาเจริญเติบโต อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นนอกจากภาษาของพระพุทธศาสนา คือ บาลี สันสกฤต จะเป็นเครื่องมือหลักของกวีไทยทั้งหลาย เรื่องราวต่างๆในคัมภีร์
พุทธศาสนายังเป็นแหล่งใหญ่ของบทประพันธ์และกวีนิพนธ์ทั้งหลายในประเทศไทย สืบแต่โบราณอีกด้วย วรรณคดีไทยเรื่องสำคัญๆที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่อดีตเป็นเรื่องราวในพระพุทธศาสนาโดยตรงบ้างได้รับอิทธิพลโดยอ้อม เป็นผลงานนิพนธ์ของพระสงฆ์ในวัดเองบ้าง ประพันธ์โดยท่านที่ได้รับการศึกษาไปจากวัดบ้างแม้ว่าในปัจจุบันภาษาไทยและวรรณกรรมไทยขยายตัวเจริญเติบโต โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศสายอื่นและเรื่องราวแปลกใหม่ในขอบเขตที่กว้างขวางออกไป จนบางครั้งทำให้ถ้อยคำที่มาจากบาลีสันสกฤตบางส่วนและวรรณคดีไทยเก่าๆเหล่านั้น ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องของอดีตนานไกลที่ล่วงผ่านพ้นสมัยไปแล้ว แต่กระนั้นก็ตามถ้อยคำและวรรณคดีไทยเก่าๆทั้งหลาย ก็ยังคงความสำคัญในฐานะเป็นที่สืบค้นความเป็นไทยและความเป็นมาของไทยพร้อมทั้งภูมิธรรมภูมิปัญญาของไทยอยู่ต่อไปยิ่งกว่านั้นการที่จะนำสังคมไทยให้เดินหน้าไปสู่ความเจริญพัฒนาอย่างได้ผลดีมีเนื้อหาสาระแท้จริงโดยไม่ล้มเหลวเสียก่อนและทั้งไม่สูญเสียความเป็นไทยด้วยนั้น คนไทยในช่วงต่อแห่งยุคสมัยนี้จะต้องเป็นผู้ฉลาดที่สืบทอดความเป็นไทยเอาไว้เป็นแกนในของตัว พร้อมไปด้วยกันกับการรับเอาความเจริญใหม่ๆจากภายนอกเข้ามาผนวกและกลั่นย่อยเสริมตัวให้เติบโตขยายและก้าวหน้าต่อไป

            นอกจากภาษาและวรรณคดีแล้ว ศิลปะและดนตรีไทยก็เนื่องอยู่ด้วยกันกับพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่านอกจากวังซึ่งเป็นส่วนเฉพาะเจ้านายแล้ว สำหรับประชาชนทั่วไป ก็มีแต่วัดเท่านั้นที่เป็นแหล่งใหญ่ที่กำเนิด รักษา สืบทอด พัฒนาหรือสนับสนุนศิลปะและดนตรีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนเป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมทางสังคมและเป็นสมบัติส่วนรวมร่วมกันของชุมชน ศิลปะและดนตรีจึงอาศัยวัดเป็นที่จัดแสดงหรือปรากฏตัว ดนตรีถูกใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆทางพระศาสนา แม้แต่การแสดงพระธรรมเทศนา เป็นเครื่องเสริมคุณค่าทางอารมณ์ ความละเมียดละไม โอ่อ่า และความรู้สึกเป็นจริงเป็นจัง ตั้งแต่งานสมโภชไปจนถึงงานอวมงคล จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมต่างๆได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจ เพื่อแสดงถึงศรัทธาในพระศาสนาและเป็นสื่อถ่ายทอดหลักธรรม สาระสำคัญที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนเป็นสมบัติร่วมกันของชุมชนและเป็นที่ปรากฏแสดงตัวของชุมชนท้องถิ่นนั้น