การสั่งการและการควบคุมในขั้นตอนการดำเนินงานอาชีวอนามัยมีดังนี้

การบริหารงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของเกรทบริเตน

โดย รองศาสตราจารย์สราวุธ สุธรรมาสา

        

ในวารสารความปลอดภัยและสุขภาพฉบับก่อน ๆ ได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึงความหวังที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดียิ่งขึ้นให้สมกับการรอคอยมาเกือบ 20 ปี ว่าจะสมกับการรอคอยที่ยาวนานเช่นนั้นหรือไม่ ในโอกาสที่ต้องเขียนเรื่องในจุลสาร วส.ฉบับนี้ จึงคิดว่าน่าจะเขียนถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของต่างประเทศ เพื่อจะได้เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ของต่างประเทศ เผื่อว่าในโอกาสต่อ ๆ ไปเราจะได้ก้าวต่อไปอย่างมีพลัง ไม่ก้าวไปอย่างช้า ๆ แบบว่าตามเขาไม่ทันซะทีอะไรทำนองนั้น ในที่นี้ ผู้เขียนว่าจะเลือกเอาประเทศอังกฤษมาเป็นกรณีศึกษา แต่เอกสารที่ค้นคว้ามาเขามองในภาพใหญ่เลย คือ เป็นเกรทบริเตน ชื่อบทความก็เลยต้องว่าไปตามภาพใหญ่นั้นไปด้วย
     
บทนำ

        เกรทบริเตนประกอบด้วยประเทศอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลล์ มีสถิติการประสบอันตรายทั้งในแง่การเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากการทำงานที่ถือว่าดีมากประเทศหนึ่งในโลก ว่าไปแล้ว ประเทศนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยย้อนหลังได้มากกว่า 150 ปี แต่กฎหมายแม่ในยุคใหม่ที่เป็นต้นแบบของการออกกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ คือ Health and Safety at Work Act etc. (ซึ่งต่อไปนี้จะเขียนย่อเป็น HSWA) ที่ประกาศใช้เมื่อปี 1974 ทำให้รูปแบบการกำหนดกฎหมายของประเทศนี้เปลี่ยนไปจากเดิม และเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการบริหารงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของประเทศนี้ และเนื่องจากประเทศไทยเพิ่งจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่ตามมา คือ การออกกฎหมายลูก ที่มีทั้งที่เป็นกฎหมายเชิงการจัดการและกฎหมายเชิงเทคโนโลยี ผู้เขียนจึงหวังว่าการเรียนรู้จากประเทศเกรทบริเตนที่มีประสบการณ์ในงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมายาวนาน จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ทำงานและหน่วยงานทางด้านนี้ของประเทศไทย

1. หลักการของการกำหนด HSWA

     
1.1 หลักการของความยืดหยุ่นหลักการที่ประเทศเกรทบริเตนยึดถือมาตลอดเกี่ยวกับการกำหนดกฎหมายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คือ การกำหนดกฎหมายที่เป็นการเฉพาะประเภทอุตสาหกรรม (Industry-specific) ซึ่งในรายงานของลอร์ดโรบินระบุว่า การกำหนดกฎหมายในลักษณะเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หลักการที่นำมาใช้ใหม่ในการกำหนด HSWA คือ การเน้นหลักการของการมีความยืดหยุ่น จึงทำให้ลักษณะการเขียนเนื้อหาจะมุ่งบอกเป้าหมายและหลักการทั่วไปเป็นสำคัญ จะหลีกเลี่ยงการลงรายละเอียดเหมือนเช่นที่เคยทำมาในอดีต แต่จะนำรายละเอียดเหล่านั้นไปเขียนในรูปแบบของ Codeและ Guidance แทน ซึ่ง code และguidance จะเป็นตัวอธิบายในรายละเอียดว่าทำอย่างไรจึงจะบรรลุถึงมาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่ถ้าใครไม่ได้ปฎิบัติตาม code และหรือ guidance ก็ต้องพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นดีกว่าหรือเทียบเท่ากับที่ทางการแนะนำไว้ นี้คือช่องทางที่เปิดให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในงานอาชีวอนามัย เป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่าง ๆ  ทำให้เกิดความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการทำงาน

1.2 หลักการการรับผิดชอบของผู้ก่อความเสี่ยง แนวคิดของการกำหนดกฎหมายว่าใครจะต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงที่มี ประเทศเกรทบริเตนกำหนดหลักการไว้ว่าใครเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสี่ยง ผู้นั้นเหมาะที่สุดที่จะต้องเป็นผู้ควบคุมความเสี่ยงนั้น ดังนั้นผู้ที่เป็นนายจ้าง นายจ้างในลักษณะ self-employed ผู้ผลิตสินค้า(manufacturer) ผู้นำเข้า ผู้รับเหมา ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ต่างมีหน้าที่ท่ีต้องรับผิดชอบที่จะเป็นผู้ควบคุมความเสี่ยง จะเห็นได้ว่าการบริหารงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของประเทศนี้จะครอบคลุมตั้งแต่แรกของการออกแบบไปจนถึงเมื่อทำการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าย่อมดีกว่าการไปทำการป้องกันภายหลังซึ่งยากและอาจต้องลงทุนในการป้องกันมากกว่า ส่วนผู้ปฎิบัติงานหรือลูกจ้างนั้นจะมีหน้าที่ในลักษณะของการทำงานที่มีความระมัดระวัง (reasonable care)ไม่ให้ตนเองและผู้อื่นต้องได้รับอันตรายสำหรับสิ่งที่ยึดถือกันมาของประเทศไทย ถือว่านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการต้องรับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง

1.3 หลักการของความมีเหตุมีผลในการป้องกันและควบคุมความเสี่ยง เนื่องจากการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงมีหลายวิธีการ และการลงทุนอย่างมากไม่ได้หมายความว่าจะให้ความปลอดภัยมากกว่าการป้องกันที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า และอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในเชิงธุรกิจได้ กฎหมายของเกรทบริเตนไม่ได้วางหลักการของการป้องกันและควบคุมที่ขนาดของโรงงานหรือที่ความสามารถทางการเงินของโรงงานนั้น ๆ แต่กฎหมายจะใช้คำว่า "so far as is reasonably practicable" เป็นกรอบหรือแนวทางในการกำหนดวิธีการป้องกัน นั่นคือต้องพิจารณาถึงความยากลำบากของการป้องกัน ควบคุมไม่ว่าจะในด้านเวลา งบประมาณหรือปัญหาต่าง ๆ ที่มีด้วย ในทางปฎิบัติจะพิจารณาว่าทางโรงงานได้มีมาตรการป้องกัน ควบคุมที่สมเหตุสมผลหรือไม่ด้วยการดูว่ามาตรการต่าง ๆ เหล่านั้นสอดคล้องกับ Code of Practice หรือมาตรฐานการปฎิบัติงานที่เผยแพร่อยู่ในขณะนั้นหรือ Guidance ของ HSE หรือของวงการอุตสาหกรรมนั้นที่มีอยู่หรือไม่ ส่งผลให้ทางผู้รับผิดชอบคือทางโรงงานต้องพยายามค้นหาและปฎิบัติตามสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น

2. หลักการในการกำหนดกฎหมายรอง

        

การกำหนดกฎหมายรองของ HSE จะยึดหลักการทั่วไปที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรยึดถือปฎิบัติอยู่ ได้แก่
2.1 หลักความโปร่งใส (Transparent) ต้องเขียนกฎหมายที่คนทั่วไปและผู้ประกอบการอ่านแล้วเข้าใจ มีความชัดเจน ต้องเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น รวมทั้งต้องมีระยะเวลาเพียงพอให้ผู้ประกอบการสามารถปฎิบัติสิ่งที่กฎหมายกำหนดได้ด้วย

2.2 หลักความรับผิดชอบ (Accountable) HSE ต้องมีความรับผิดชอบในกฎหมายที่กำหนด จึงต้องมีการรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและสาธารณะ ต้องมีการกำหนดกระบวนการอุทธรณ์ของผู้ที่ถูกบังคับตามกฎหมาย

2.3 หลักความมีเป้าหมาย (Targeted) กฎหมายที่จะกำหนดต้องมีเป้าหมายชัดเจนต่อปัญหาที่มี ต้องลดผลกระทบข้างเคียงที่จะมีด้วย

2.4 หลักความสอดคล้อง (Consistent) กฎหมายใหม่ต้องไม่ขัดแย้งกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งต้องมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับมาตรฐานและกฎหมายระหว่างประเทศ

2.5 หลักความสมดุล (Proportionate) HSE คำนึงถึงประชาชนและการทำธุรกิจ ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและการลงทุนทางเศรษฐกิจ

3. การประเมินผลกระทบ (Impact Assessment)
  
        จุดเด่นหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วถือปฎิบัติเมื่อจะมีการกำหนดกฎหมาย คือ ต้องมีการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการมีกฎหมายฉบับนั้น ๆ การประเมินจะทำในเรื่องต่อไปนี้
3.1 ชี้บ่งความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนี้ ระบุวัตถุประสงค์เฉพาะและผลลัพธ์(Outcome) ที่ต้องการของกฎหมาย
3.2 ประเมินความเสี่ยง
3.3 ประเมินความวามคุ้มค่าระหว่างค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์
3.4 ประเมินผลกระทบที่มีต่อ SMEs การแข่งขันทางการค้า สิ่งแวดล้อม การระบายก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สู่บรรยากาศ และผลต่อเด็กและเชื้อชาติ
3.5 สรุปธุรกิจที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
3.6 ชี้บ่งถึงแนวทางการเฝ้าติดตาม(Monitor) การป้อนกลับข้อมูล และการประเมินผลการมีกฎหมายนี้

        ผู้เขียนมีโอกาสศึกษารายงานการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกฎหมาย พบว่า มีประโยชน์มาก แสดงถึงความรอบคอบและมีการพิจารณาลึกซึ้งกว่าจะประกาศกฎหมายฉบับหนึ่ง ๆ การมีกฎหมาย (ที่ประกาศใช้) จึงสะท้อนว่ามีความจำเป็นจริง ๆ ที่ต้องกำหนดกฎหมายนั้นออกมา เมื่อมีการประกาศใช้จึงมีปัญหาตามมาไม่มาก

4. ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย

        HSWA ใช้บังคับสถานประกอบกิจการที่หลายหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นกิจการประเภทนิวเคลียร์ เหมือง อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม  การคมนาคม การขนส่ง เกษตรกรรม โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ และการบังคับใช้กฎหมายนี้ครอบคลุมไม่เฉพาะนายจ้างหรือผู้บริหารเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเองทำงานเอง (self-employed) ด้วย โดยมีเป้าหมายให้ความคุ้มครองความปลอดภัยไม่เพียงแค่คนงานเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย ทำให้จำนวนคนที่อยู่ในความดูแลของ HSE มีจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่จำกัดเฉพาะลูกจ้างในสถานประกอบการตามกฎหมายของกระทรวงแรงงานและคนงานในโรงงานตามกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม

5. ผู้บังคับใช้กฎหมาย

        หน่วยงานหลักที่บังคับใช้กฎหมายมี 2 หน่วยงานคือ Health and Safety Executive (HSE) ซึ่งเป็นหน่วยงานตั้งใหม่ตามที่กำหนดไว้ใน HSWA ทำหน้าที่บังคับใช้กับสถานประกอบกิจการที่เป็นภาคอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบกิจการที่มีลักษณะงานที่มีความเสี่ยง และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น(Local Authority,LA) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 400 แห่ง ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกับกิจการการค้าปลีก ภาคการเงิน ภาคบริการ โดยเฉพาะสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทั้งสองหน่วยงานมีข้อตกลงการทำงานในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งมีเรื่อง" Flexible Warrants"ซึ่งอนุญาตให้หน่วยงานหนึ่งสามารถไปตรวจบังคับใช้กฎหมายที่โดยทั่วไปแล้วเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของอีกหน่วยงานหนึ่งได้

        สิ่งที่เรียนรู้จากการบริหารงานของประเทศเกรทบริเตนคือเรื่องอำนาจของพนักงานตรวจ (Inspectors) เรื่องการพัฒนาพนักงานตรวจให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เรื่องแนวทางการยกร่างกฎหมายและมาตรฐาน

6. อำนาจและความรู้ความสามารถของพนักงานตรวจ

        กฎหมาย HSWA ได้ให้อำนาจกับพนักงานตรวจของ HSE ที่สามารถจะเข้าสถานประกอบกิจการได้ โดยไม่ต้องแจ้งบอกล่วงหน้า สามารถที่จะให้คำแนะนำทั้งที่เป็นวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ หากพบว่ามีการกระทำใด ๆ ที่ไม่ได้มาตรฐานก็สามารถออกใบ improvement notice เพื่อให้มีการแก้ไข ปรับปรุงภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือเห็นว่าจะเป็นอันตราย หากให้มีการดำเนินการในส่วนใดส่วนหนึ่งก็สามารถสั่งให้หยุดการกระทำนั้น ๆ ได้ ในกรณีของประเทศอังกฤษและเวลส์พนักงานตรวจสามารถสั่งฟ้องหรือไม่ได้เลย แต่ในประเทศสก๊อตแลนด์ทางพนักงานตรวจจะส่งรายงานให้กับ Procurator Fiscal เป็นผู้พิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่

        พนักงานตรวจจะได้รับการพัฒนาทั้งในเรื่องระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และเรื่องทางด้านเทคโนโลยีที่จะทำให้มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ได้  แต่ในกิจการที่มีอันตรายสูงและต้องการความเชี่ยวชาญมากเช่นกิจการด้านปิโตรเคมี ด้านเหมือง ด้านพลังงานน้ำมันและก๊าซที่แท่นกลางทะเล HSE จะมีพนักงานตรวจที่มีความชำนาญในกิจการเหล่านี้เป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ หากพนักงานตรวจต้องการประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากพนักงานฝ่ายอื่นหรือคนอื่น ก็สามารถร้องขอให้มาช่วยเหลือด้านเทคนิคได้

        มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร คือ การรับสมัครคนเข้ามาเป็นพนักงานตรวจนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีวุฒิการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี พนักงานเหล่านี้ต้องผ่านการอบรมนานถึง 4 ปี โดยมีการฝึกปรือผ่านการอบรมภาคสนามภายใต้การควบคุมดูแลของคนที่มีประสบการณ์ด้านการตรวจ มี HSE-led tutorials ให้ปรึกษาหารือ และที่น่าสนใจยิ่ง คือ HSE จะคุยกับสถาบันการศึกษาให้จัดหลักสูตรอบรมพนักงานตรวจควบคู่ไปกับการทำงาน และผู้ผ่านการอบรมก็จะได้ Post graduate diploma in Occupational Health and Safety ด้วยระบบการพัฒนาบุคลากรเช่นนี้ ทำให้พนักงานตรวจมีความมั่นใจและมีความสามารถในการตรวจ จะว่าไปแล้ว ยังมีเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของพนักงานตรวจและพนักงานท้องถิ่นที่เสริมสร้างความสามารถของบุคลากรเหล่านี้ด้วย

7. แนวทางการยกร่างกฎหมายผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ
  
        เมื่อจะมีการยกร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มจากภายในประเทศเองหรือจากภายนอก คือ จากสหภาพยุโรปก็ตาม HSE จะดำเนินการยกร่างโดยทีมงานฝ่ายนโยบาย ซึ่งจะปรึกษากับฝ่ายอื่น ๆ ภายใน HSE เช่น พนักงานตรวจ นักเทคโนโลยี นักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น และรวมถึงการปรึกษากับองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อจะทำให้การยกร่างกฎหมายมีความรอบคอบรอบด้านมากที่สุด จากนั้น จึงผ่านกระบวนการปรึกษาหารือกับภายนอกโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาหรือ Advisory committee และจะจัดทำเป็นเอกสารฉบับขอความคิดเห็น (Consultation  document) จากผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจทั่วไป ที่น่าสนใจมาก คือ จะมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดจากการกำหนดกฎหมายนั้น ๆ ว่ามีผลกระทบต่อใคร อะไร อย่างไร มากน้อยแค่ไหน เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมาย จึงทำให้ไม่มีเสียงคัดค้านหรือมีเสียงไม่เห็นด้วยไม่มาก นอกจากนี้ ทาง HSE ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย สถาบันด้านวิศวกรรม องค์กรวิชาชีพทั้งภายในและภายนอกประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ILO,WHO,IAEA และ OECD เป็นต้น

8. การจัดการความเสี่ยง

        ในเรื่องการจัดการความเสี่ยงทาง HSE จะให้น้ำหนักความสำคัญกับการเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยของผู้บริหาร และการมีส่วนร่วมของลูกจ้าง เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างให้สามารถปฎิบัติตามกฎหมายได้เป็นอย่างดี นายจ้างต้องแต่งตั้งผู้ที่มีความสามารถ (ซึ่งอาจจะโดยการผ่านการอบรม มีการศึกษา และประสบการณ์ที่ดี) มาเป็นผู้ช่วยเหลือ คน ๆ นี้อาจเป็นคนในโรงงานนั้น ๆ หรือแต่งตั้งคนภายนอก หรือแต่งตั้งทั้งคนในและคนนอกก็ได้ ตามความเหมาะสมกับกรณีที่มี และฝ่ายลูกจ้างก็จะมี "ผู้แทนด้านความปลอดภัย" หรือ Safety Representative ทำหน้าที่แทนลูกจ้างในการทำงานด้านความปลอดภัยกับทางนายจ้าง

        สำหรับกระบวนการประเมินความเสี่ยงนั้น ทาง HSE ไม่ยึดติดว่าต้องใช้วิธีการใด เพราะมันมีหลายวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์หนึ่ง ๆ แต่เน้นว่า เมื่อมีการประเมินความเสี่ยงแล้วก็ต้องมีการควบคุมความเสี่ยงตามที่กำหนดไว้ อย่าให้เป็นแต่เพียงกระดาษเท่านั้น

        

ที่น่าสนใจในเชิงการเรียนรู้ คือ มีการนำระบบการอนุญาตมาใช้ในการจัดการความเสี่ยง เช่น มีการทดสอบ (Testing) การออกใบอนุญาต (License) การออกใบรับรอง (Certification) โดยเฉพาะธุรกิจที่มีอันตรายสูง เช่น อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี การจัดเก็บและขนส่งสารเคมีอันตราย กิจการ Offshore เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้ถือเป็นอุตสาหกรรมร้ายแรง (Major Hazard Industry) จึงต้องมีการจัดทำรายงานความปลอดภัย (Safety Report) หรือรายงานกรณีความปลอดภัย (Safety Cases) และต้องผ่านความเห็นชอบจาก HSE จึงจะดำเนินการต่อไปได้ การตรวจสอบว่ารายงาน(คล้าย ๆ กับรายงานผลการประเมินความเสี่ยงตามกฎหมายประเมินความเสี่ยงของกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศไทย) มีความถูกต้องและสมควรออกใบอนุญาตให้หรือไม่นั้น ต้องมีค่าใช้จ่ายให้กับทาง HSE ด้วย รายงานเหล่านี้จะครอบคลุมกิจกรรมตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง เดินระบบ บำรุงรักษา และพนักงานตรวจความปลอดภัยของ HSE จะยึดเอารายงานข้างต้นสำหรับใช้ในการตรวจตราและสอบสวนอุบัติเหตุ (ที่เกิดขึ้น)

        ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นรื่องการบริหารจัดการงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยด้านการกำหนดกฎหมายในเกรทบริเตน หลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยปฎิบัติอยู่ หลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องของประเทศไทยควรจะได้พิจารณานำไปประยุกต์ต่อไป

...................................................................

ขั้นตอนการทำงานชีวอนามัยและความปลอดภัยจะใช้กระบวนการอะไรเป็นหลัก

การด าเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนั้น อาศัยหลักการด าเนินงาน 3 หลักการ ที่ส าคัญ ได้แก่ การตระหนัก (Recognition) การประเมิน (Evaluation) และ การควบคุม (Control)

อาชีวอนามัยมีความสําคัญอย่างไร

อาชีวอนามัย (Occupational Health) เป็นการส่งเสริมสุขภาพการทำงานให้คงไว้ซึ่งสุขภาพกาย ใจ และความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการ เบี่ยงเบนด้านสุขภาพที่มีสาเหตุจากการทำงานของคนทำงานในทุกอาชีพ โดยการดูแลสภาพแวดล้อม เครื่องมือ กระบวนการให้เหมาะสมกับสภาพกาย และจิตใจของคนทำงาน โดยการปรับงานแต่ละงานให้ ...

แนวทางการป้องกันและควบคุมปัญหางานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมีอะไรบ้าง

5.แนวทางการป้องกันและควบคุมปัญหางานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 5.1ศึกษาข้อมูลและตรวจหาปัญหาที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน 5.2ประเมินปัญหาที่พบว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด 5.3เปรียบเทียบความรุนแรงของปัญหาว่ามีความรุนแรงระดับใด 5.4 ดำเนินการป้องกันและควบคุมอันตรายที่จะเกิดขึ้น

โครงสร้างระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมีองค์ประกอบ 8 ประการอะไรบ้าง

#1: ทำการประเมินความเสี่ยงที่ครอบคลุม.
#2: ตรวจสอบขั้นตอนการล็อก / แท็กเอาต์เฉพาะอุปกรณ์.
#3: ดูแลงานไฟฟ้า.
#4: เตรียมพร้อมสำหรับการทำงานที่ความสูง.
#5: หลีกเลี่ยงการทำงานที่ร้อนแรง.
#6: บังคับใช้การยกและการจัดการที่ปลอดภัย.
#7: โอบกอดเทคโนโลยีเซนเซอร์และการทำให้เป็นดิจิทัล.
#8: การจัดการผู้รับเหมา.