สรุปผลการเลือกตั้งผู้ว่า ก ทม 2565

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ผู้ว่าฯ กทม. ผู้คว้าคะแนนเลือกตั้งสูงสุดในประวัติศาสตร์

23 พฤษภาคม 2022

ปรับปรุงแล้ว 29 พฤษภาคม 2022

สรุปผลการเลือกตั้งผู้ว่า ก ทม 2565

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 สร้างสถิติใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กวาดไปกว่า 1,386,215 คะแนน ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดนับแต่ที่มีการเลือกตั้งมา

ชัชชาติ ในวัย 55 ปี ทำลายสถิติที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำไว้จากการเลือกตั้งปี 2556 ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน และก่อนหน้านี้ คือ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ชนะการเลือกตั้งปี 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน

ศูนย์ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร รายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 0.10 น. ของ 23 พ.ค. หลังจากนับคะแนนครบ 100% อย่างไม่เป็นทางการ ดังนี้

อันดับ 1 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สมัครในนามอิสระ 1,386,215 คะแนน

อันดับ 2 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ 254,647 คะแนน

อันดับ 3 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล 253,851 คะแนน

อันดับ 4 นายสกลธี ภัททิยกุล สมัครในนามอิสระ 230,455 คะแนน

อันดับ 5 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สมัครในนามอิสระ 214,692 คะแนน

มีผู้มาใช้สิทฺธิ 60.73% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 4,402,948 คน บัตรเสีย 1.5% ไม่เลือกผู้สมัคร 2.7%

  • รสนาหวนคืนสนามเลือกตั้งในรอบ 14 ปี “ไม่เคยสนใจเรื่องแพ้-ชนะ”
  • เช็กความแข็งแกร่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้อาสาสร้างเมืองให้แข็งแรง
  • โฟกัสของ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ท่ามกลางวาทกรรม-คำปรามาส

ผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร 2565 (อย่างไม่เป็นทางการ)

นับแล้ว 100%

โปรดเลือกเขตเพื่อดูคะแนน หรือ คลิกดูรายละเอียดบนแผนที่

กรุงเทพมหานคร

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

9.49%

นายสกลธี ภัททิยกุล

8.62%

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

9.52%

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

8.03%

น.ส. รสนา โตสิตระกูล

2.95%

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

51.85%

น.ต.ศิธา ทิวารี

2.76%

ผู้สมัครรายอื่น ๆ

2.58%

ที่มา: กกต. กทม. (24 พฤษภาคม 2565 03.00 น.)

ชัชชาติ ที่จะกลายเป็นว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 กล่าวแถลงเมื่อ 20.30 น. ของ 22 พ.ค. ขอบคุณทุกคะแนนเสียงจากประชาชนที่มอบให้ในวันที่มีความหมายมาก เพราะเมื่อ 8 ปีก่อน เกิดเหตุรัฐประหาร เขาถูกคลุมหัว มัดมือ และถูกนำตัวไปค่ายทหาร ตอนขากลับก็ถูกคลุมหัว โดยไม่รู้ว่าถูกนำตัวไปที่ไหน แต่หลังเหตุการณ์ผ่านไป ก็ไม่ได้รู้สึกโกรธหรือเกลียดแต่อย่างใด พร้อมให้อภัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

"นั่นคือความทรงจำเตือนใจเราว่า เมื่อไหร่ที่ประชาชนทะเลาะ เกลียด กลัวซึ่งกันและกัน สุดท้ายจะมีกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์" และ "คนเราเห็นต่างกันได้ แต่อย่าสร้างความโกรธ ความเกลียดชังให้กันและกัน" นายชัชชาติกล่าว

  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้มี "ดีเอ็นเอก้าวไกล" กับ "บันไดขั้นแรก" สู่การเป็นรัฐบาล ?
  • อัศวิน ขวัญเมือง ลั่นไม่ยึดติดกับอำนาจ แต่ขอลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. อีกเพื่อ "ทำงานต่อให้เสร็จ"
  • สกลธี ภัททิยกุล ประเมินจุดแข็ง-จุดอ่อนตัวเอง หลังลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ในนามอิสระ

คำบรรยายวิดีโอ,

ฟังเสียงชัชชาติประกาศเดินหน้าต่อ

ชัชชาติระบุว่า อยากอาสาเข้ามารับหน้าที่เป็น "ผู้นำทางความหวัง" ให้ทุกคน และชี้ว่า พลังของความเป็นอิสระกับพลังของอาสาสมัครที่มารวมตัวกันเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเดินหน้าเหมือนคนหลงทาง แต่มาถึงวันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าพลังแบบอิสระก็สามารถเล่นการเมืองได้

ส่วนชัยชนะที่ได้จะมีผลต่อการเมืองในภาพใหญ่อย่างไรนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกเหมือนกับเราชนะอะไรนะ เหมือนกับเราได้รับมอบคำสั่งมา ประชาชนสั่งให้ไปทำงาน ก็จะทำให้เต็มที่

"จะไม่ทำให้ผิดหวังครับ... วันนี้ไม่ใช่วันแห่งการฉลองชัยชนะ แต่เป็นวันที่รับคำสั่งจากประชาชนให้เดินทางต่อ เราเดินมาแล้วปีครึ่ง เป็นภาระที่หนัก แต่ยินดีทำ"

ชัชชาติยังบอกด้วยว่า วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล และสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ โทรศัพท์มาแสดงความยินดี และบอกว่ายินดีร่วมงานด้วยหากตัวของเขาต้องการการสนับสนุนจากทั้งสองพรรค ซึ่งส่วนตัวก็อยากจะทำงานร่วมกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ของ พรรคก้าวไกล และ พรรคประชาธิปัตย์

ราว 19.00 น. ของ 22 พ.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้สมัครอิสระ แถลงรับความพ่ายแพ้แล้ว."สู้ไม่ได้แล้ว สู้ชัชชาติไม่ได้แล้ว" พล.ต.อ.อัศวิน แถลงต่อสื่อมวลชน

"สิ่งที่ประชาชนเลือก ต้องให้เกียรติประชาชน"

อดีตผู้ว่าฯ กล่าวต่อว่า ไม่แปลกใจที่คะแนนออกมาเช่นนี้ ส่วนตัวพูดเสมอว่าให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน การแข่งขันกีฬา แพ้ชนะไม่เป็นไร ไม่แปลกใจ และยอมรับการตัดสินของประชาชน

"ส่วนเส้นทางการเมืองจากนี้ไม่ได้วางแผนอะไร ขอพักผ่อน"พล.ต.อ. อัศวินกล่าว

  • เลือกตั้งผู้ว่าฯ ประชาชนกำหนดชะตากรุงเทพฯ
  • กรุงเทพฯ"เมืองเทพสร้าง" กับปัญหาที่รอผู้ว่าฯ คนใหม่แก้
  • เส้นทาง "มาราธอน" ของชัชชาติ ก่อนถึงเส้นชัยผู้ว่าฯ กทม.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เก้าอี้ ส.ก.

ผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ก. อย่างไม่เป็นทางการเมื่อ 22.20 น. ของ 22 พ.ค. จากศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร มีดังนี้

  • พรรคเพื่อไทย 20 เขต
  • พรรคก้าวไกล 14 เขต
  • พรรคประชาธิปัตย์ 9 เขต
  • ไทยสร้างไทย 2 เขต พลังประชารัฐ 2 เขต กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 เขต

คำบรรยายวิดีโอ,

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. : สรุปเหตุการณ์ 22 พ.ค. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

เพื่อไทยขอบคุณประชาชน

พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดแถลงข่าวขอบคุณทุกคะแนนเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนเลือกผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สังกัด พท. ภายหลังรับทราบผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และ "หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย" นำทีมแถลงขอบคุณประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในรอบ 9 ปี และ ส.ก. ในรอบเกือบ 13 ปี พร้อมระบุว่าวันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีมากที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ประชาชนได้มาใช้สิทธิของตัวเอง และ ยินดียิ่งที่ กทม. จะมีทั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. ที่มาจากการเลือกตั้ง

หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยยืนยันว่า นโยบายต่าง ๆ ที่ พท. บอกพี่น้องประชาชนไป ส.ก. ของพรรคจะผลักดันให้นโยบายเกิดขึ้น เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาว กทม.

"เราพร้อมทำให้ กทม. น่าอยู่ขึ้น ชีวิตชาว กทม. ต้องดีขึ้นกว่าเดิม" หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยกล่าว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ทักษิณ กับ มุมมอง Strategic Vote

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยคดีการเมืองในต่างแดน ชี้ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และส.ก. สะท้อนความทุกข์ยากที่ประชาชนเผชิญมาตลอด 8 ปี หลังการรัฐประหารของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันเนื่องมาจากการ "ชัตดาวน์ กรุงเทพฯ"

"เป็นการที่ประชาชนสะท้อนให้เห็นถึงการที่เขาอยู่กับความทุกข์ยากมานาน เป็นผลมาจากการชัตดาวน์ (ปิด) กรุงเทพฯ เขาก็ตัดสินใจเลือกแนวทางฝ่ายประชาธิปไตยที่จะมาแก้ปัญหาให้เขา ที่น่าจะเข้าใจปัญหาของเขามากกว่า วันนี้เราเห็นคะแนนชัดเจน ส.ก. เพื่อไทย กับก้าวไกลรวมกันเกินครึ่ง แล้วก็ชัชชาติคนเดียวชนะฝ่ายที่สนับสนุนทหารอยู่เยอะ พอมารวมกันแล้ว ชัดเจน บอกให้ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองทุกวันนี้ให้รู้ว่าประชาชนไม่มีความสุขเลย" นายทักษิณกล่าวกับบีบีซีไทยผ่านวิดีโอคอล

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ และส.ก. ในวันที่ 22 พ.ค. 2565 เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี ตรงกับวันครบรอบ 8 ปีของการโค่นล้นรัฐบาลพลเรือนของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แล้วน้องสาวของนายทักษิณ ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเรื่องจำนำข้าว และใช้อำนาจไม่ชอบ ออกกฎหมาย "ล้างมลทิน" ให้พวกพ้อง ท่ามกลางกระแสการออกมาชุมนุมขับไล่ของ "มวลมหาประชาชน" ปิดถนนในกรุงเทพมหานคร นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

นักวิเคราะห์การเมืองไทยมองว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น กทม. สะท้อนภาพรวมการเมืองระดับประเทศ ที่แบ่งออกเป็นพรรคและผู้สมัครที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร กับพรรคและผู้สมัครที่ไม่เอา พล.อ. ประยุทธ์ ที่นายทักษิณเรียกว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ผู้สมัครทั้งสองฝ่าย ต่างพยายามชูแนวคิด Strategic Vote หรือลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ คือ เลือกผู้สมัครที่คิดว่ามีโอกาสชนะมากที่สุด แม้ไม่ใช่ผู้สมัครที่ผู้มีสิทธิชอบที่สุด

นายทักษิณ อ้างว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาสะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ และ "คนที่คิดเป็น" ใช้ "การลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์" หรือ Strategic Vote

"หลายคนที่โหวตคุณชัชชาติวันนี้ ก็อาจจะชอบก้าวไกล แต่ไม่แน่ใจว่า ถ้าโหวตก้าวไกลแล้ว คะแนนจะสู้เขาได้หรือไม่ เลยเทคะแนนมาด้านเดียว คุณชัชชาติมีคะแนนเยอะอยู่แล้ว แต่ก้าวไกลก็เทคะแนนมาด้วย จะได้มั่นใจว่าชนะขาด ถึงได้นำขาดลอย เป็น Strategic Vote อย่างหนึ่ง ผลลัพธ์ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะขาด"

  • ทักษิณ ชี้ ความทุกข์ยากจาก "ชัตดาวน์กรุงเทพฯ" ทำคนเทคะแนนชัชชาติ
  • รวม "ที่สุด" ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 ครั้งที่ผ่านมา

คำบรรยายวิดีโอ,

อดีตนายกฯ ทักษิณ วิเคราะห์ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม

ประยุทธ์โกรธสื่อถูกถามผลคะแนนเลือกตั้ง

ช่วงบ่ายของ 23 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่คะแนนเทไปยังพรรคฝ่ายค้าน ว่า เป็นเรื่องของประชาธิปไตย เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งนี้เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย เป็นความคิดเห็นของประชาชน ความชอบพอของประชาชนก็ว่ากันไปตามกลไกของประชาธิปไตย รัฐบาลก็ยินดีด้วย และขอเป็นกำลังใจให้ขอให้ทำงานให้สำเร็จ ทั้งนี้ก็เป็นการทำเพื่อพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว

"ไม่สะท้อนอะไรทั้งนั้นแหละ มันไม่สะท้อนอะไรกับผมนี่ ก็พรรคที่สนับสนุนรัฐบาลผมพลังประชารัฐก็ไม่ได้ส่งใครลงเลือกตั้งมิใช่หรือ" พล.อ. ประยุทธ์ตอบ แล้วถูกผู้สื่อข่าวท้วงว่า พรรคพลังประชารัฐส่งผู้สมัคร ส.ก. แต่ได้มาเพียง 2 เขตเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงตอบว่า "อ้าวก็ประชาชนเขาเลือกหรือเปล่าล่ะ ประชาชนเลือกไหม ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชน เลือกหรือไม่เลือกก็เป็นเรื่องของประชาชน ก็ดูต่อไปว่าเลือกมาแล้วมันจะทำอะไรให้ดีขึ้นไหม แต่ผมก็หวังว่าจะดีขึ้น"

"ใครจะนิยมหรือไม่นิยม ผมก็ทำของผมเต็มที่นั่นแหละ โอเคนะ"พล.อ.ประยุทธ์ตอบก่อนเดินสะบัดออกจากโพเดียม

ศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขียนบทความชื่อ "มหัศจรรย์ที่กรุงเทพ!" ลงในมติชนเมื่อ 23 พ.ค. ว่า แม้ผู้นำรัฐประหารและกลุ่มขวาจัด ที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจอาจโต้แย้งว่า ผลการเลือกตั้งเป็นเพียงเรื่องของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เพราะเป็นเลือกตั้งกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ทุกคนรู้ดีว่า ผลการเลือกตั้งกรุงเทพคือ คำตัดสินอนาคตของรัฐบาล และคำกล่าวที่ยังเป็นจริงเสมอคือ "การเมืองกรุงเทพคือการเมืองของประเทศไทย" ฉะนั้น การแพ้ที่กรุงเทพ จึงมีนัยในตัวเองถึง การแพ้ของรัฐบาล และถ้าชนะที่กรุงเทพ ก็เป็นสัญญาณถึงชัยชนะในการเมืองไทยด้วย

ครบ 1 สัปดาห์ นิด้าโพล เผยผลสำรวจผลกระทบการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่อการเมืองระดับชาติ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "ผลกระทบ

ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่อการเมืองระดับชาติ" ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ค. 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวม จำนวน 1,322 หน่วยตัวอย่าง ด้วยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พบว่า 77.76% ไม่แปลกใจเลยที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เพราะเป็นคนเก่งมีคุณสมบัติเพียบพร้อม มีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน และลงพื้นที่รับฟังเสียงจากประชาชนอย่างสม่ำเสมอ จึงได้รับความไว้วางใจจากคนกรุงเทพฯ

7.34% ระบุว่า แปลกใจมาก เพราะผลงานในการพัฒนา กทม.ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังไม่มี แต่กลับได้รับคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่คิดว่าคะแนนเสียงที่ได้รับจะถล่มทลายทิ้งห่างคู่แข่งมากขนาดนี้

สำหรับผลกระทบในการเมืองระดับชาติจากการที่นายชัชชาติได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. มีดังนี้

  • 38.88% คาดว่าจะส่งผลในทางลบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล
  • 32.53% ระบุว่าจะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล
  • 15.96% เป็นแค่การเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่งเท่านั้น
  • 9.53% อาจมีการยุบสภาเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • 8.40% จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ในกรุงเทพฯ เท่านั้น
  • 6.43% สังคมไทยจะเผชิญกับความขัดแย้งหรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองมากขึ้น
  • 6.35% สังคมไทยได้ก้าวข้ามความขัดแย้งหรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองแล้ว
  • 4.99% พรรค/กลุ่มการเมือง ฝ่ายค้านจะเกาะกระแสนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการต่อต้านรัฐบาล
  • 3.33% รัฐบาลจะอยู่ยาวเพื่อหาทางสร้างคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น
  • 2.12% บางพรรคอาจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลเพื่อเอาตัวรอด

สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่นิด้าโพลทำการสำรวจ มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ 8.62% มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง 26.25%

มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ 18.16% มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33.51% และมีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ 13.46%