Sumitomo Electric กาญจนบุรี

Show

ประวัติ

ประวัติความเป็นมาของบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น

ต้นกำเนิดของบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น

บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เมื่อผู้ก่อตั้ง Masatomo Sumitomo (มาซาโตโมะ ซูมิโตโม) เปิดร้านขายหนังสือและยาในเกียวโต Masatomo (มาซาโตโมะ) ได้เขียนและสืบทอดบันทึกชื่อ "Monjuin Shiigaki (มอนจุอิน ชิอิกาคิ)" (หลักคำสอนของผู้ก่อตั้ง) ให้คนรุ่นหลังเพื่ออธิบายวิธีการที่ผู้ประกอบการควรใช้ในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นรากฐานของปรัชญาการดำเนินธุรกิจของบริษัทซูมิโตโมที่ให้ความสำคัญกับการบริหารที่ดีและมีคุณธรรม มากกว่าการแสวงหาผลประโยชน์จากการเอารัดเอาเปรียบ และคำสอนเหล่านี้ก็ได้ถูกสืบทอดมายังรุ่นหลังและเป็นที่ยึดถือปฏิบัติในกลุ่มบริษัทซูมิโตโม มาจนถึงปัจจุบัน ธุรกิจถลุงทองแดงของบริษัทซูมิโตโม เริ่มต้นโดย Tomomochi (โทโมโมจิ) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมและเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูล โดยบิดาผู้ให้กำเนิด Tomomochi (โทโมโมจิ) เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีการถลุงที่เรียกว่า "Nanban-buki (การถลุงแบบตะวันตก)" ขึ้นในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสกัดเอาเงินออกมาจากทองแดง Tomomochi (โทโมโมจิ) ได้สืบทอดปรัชญาการดำเนินธุรกิจและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ Masatomo (มาซาโตโมะ) ผู้ก่อตั้ง โดยหลังจากนั้น ธุรกิจของบริษัทซูมิโตโมก็ได้เติบโตโดยการมุ่งเน้นไปที่การทำเหมืองทองแดงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กลุ่มบริษัทซูมิโตโมได้กลายมาเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นในหลากหลายภาคธุรกิจ เช่น การเงิน ประกันภัย การผลิต อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ โดยการปฏิบัติตามหลักยึดถือที่ว่า "สร้างคุณประโยชน์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน" และ "การวางแผนโดยการมองการณ์ไกล (Farsighted Planning)" ซึ่งเน้นความสำคัญของการทำเพื่อสังคมและจิตวิญญาณที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นพร้อมเผชิญกับอุปสรรค โดยมีบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทหลักในกลุ่ม

ประวัติของซูมิโตโม

การเริ่มต้นของบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และการก้าวเข้าสู่ธุรกิจการค้า

บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1919 ในชื่อเดิมว่า บริษัท โอซาก้านอร์ธฮาร์เบอร์ จำกัด ดำเนินการจัดการอสังหาริมทรัพย์ การปรับปรุงที่ดินบริเวณฮอกโค (ท่าเรือทางเหนือของโอซาก้า) และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ รวมถึงการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ในปี 1944 บริษัทได้ควบรวมกิจการกับ บริษัท เดอะ ซูมิโตโม บิวดิ้ง จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซูมิโตโม เรียลเอสเตท บิลดิ้ง จำกัด ต่อมาในพฤศจิกายน ปี 1945 บริษัทได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น บริษัท นิปปอนเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และก้าวเข้าสู่ธุรกิจการค้า โดยบริหารจัดการผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัทในเครือ จากนั้นบริษัทเริ่มมุ่งเน้นด้านการค้า โดยมองหาลู่ทางในการขยายทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมีการซื้อขาย และกลุ่มอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ จนกระทั่งในปี 1949 บริษัทได้จดทะเบียนซื้อขายหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว, โอซาก้า และนาโกย่า

Sumitomo Electric กาญจนบุรี
สำนักงานใหญ่ของโอซาก้านอร์ธฮาร์เบอร์ (อาคาร Sumitomo Sohonten Annex, เดิมเป็นโรงละครเทโคคุสะ) [พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของ Sumitomo]

ช่วงแรก - การวางรากฐานการบริหารที่มั่นคง (ทศวรรษ 1950)

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงแรก คือความจำเป็นในการวางรากฐานการบริหารจัดการของบริษัทให้มีความมั่นคง Shunya Toji (ชุนยะ โทจิ) ประธานของ บริษัท นิปปอนเอ็นจิเนียริ่ง ในขณะนั้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นประธานคนแรกของ บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวให้กำลังใจแก่พนักงาน "มือสมัครเล่น" ซึ่งไม่ค่อยมีประสบการณ์ในธุรกิจการค้า ว่า "มือสมัครเล่นที่มีความกระตือรือร้นในการทำงานสามารถสร้างผลงานได้ดีกว่ามืออาชีพ” และพยายามสร้างการบริหารที่ดีด้วยการควบคุมดูแลการบริหารสินเชื่ออย่างรัดกุม ร่วมกับการใช้วิธีอื่น ๆ โดยบริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มส่งพนักงานคนหนึ่งไปที่บอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) เป็นครั้งแรกในปี 1950 และจัดตั้งบริษัทสาขาที่นิวยอร์กในปี 1952 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซูมิโตโม โชจิ จำกัด ในปี 1952 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฟุคุโอกะในปี 1955

การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อการขยายบริษัท (ทศวรรษ 1960)

บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันยอดขายให้กลายเป็นหนึ่งในสามบริษัทการค้าที่ใหญ่ที่สุด ภายใต้สโลแกนที่ว่า "Big Three" พร้อมกับการเพิ่มยอดขายเฉลี่ยต่อคน ในปี 1962 สำนักงานขายเมืองโอซาก้าและเมืองโตเกียวถูกควบรวม และเริ่มใช้โครงสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ 9 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า, อโลหะ, ไฟฟ้า, เครื่องจักร, การเกษตรและการประมง, เคมี, สิ่งทอ, ผลิตภัณฑ์ทั่วไปและเชื้อเพลิง และอสังหาริมทรัพย์ ต่อมาในปี 1967 ได้มีการจัดตั้งทีมโครงการขึ้นเพื่อส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ การพัฒนาทรัพยากร และการบุกเบิกอุตสาหกรรมใหม่จากการทำธุรกิจ Cross-Divisional และมุมมองในระยะกลางถึงระยะยาว (Medium- to Long-Term Perspective)

การจัดตั้งรากฐานการบริหารในฐานะบริษัทการค้าแบบครบวงจร (ทศวรรษ 1970)

ในปี 1970 อาคาร ซูมิโตโม โชจิ แห่งใหม่ได้สร้างเสร็จและกลายเป็นอาคารสำนักงานใหญ่โตเกียว ซึ่งเป็นการสร้างโครงสร้างแบบมีสำนักงานใหญ่ 2 แห่งคือในโตเกียวและในโอซาก้า ในปีเดียวกันบริษัทได้ควบรวมกิจการกับ บริษัท โซโก โบเอคิ จำกัด ต่อมาในปี 1977 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทอันดับ 1 ในการประเมินผลโดยรวมตามเกณฑ์ทางการเงินและธุรกิจ ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนจากประชาชนภายใต้สโลแกน "Big Three & The Best" จนในช่วงกลางทศวรรษ 1970 สำนักงานในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 แห่ง และในปี 1978 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก Sumitomo Shoji Kaisha, Ltd. เป็น Sumitomo Corporation (ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น) จากนั้นในปี 1979 ได้เริ่มใช้ระบบแผนกขายเพื่อสร้างแผนกขายขึ้นมา 4 แผนก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า, เครื่องจักรและไฟฟ้า, โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก สารเคมีและเชื้อเพลิง, และสินค้าอุปโภคบริโภค และเสริมสร้างศักยภาพของแต่ละแผนก เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีการก่อตั้งบริษัท ได้มีการสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกิจกรรมทางธุรกิจในต่างประเทศและการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ๆ อย่างจริงจังภายใต้สโลแกน "Open Eyes on All"

วิสัยทัศน์ขององค์กรธุรกิจแบบบูรณาการ (Integrated Business Enterprise) (ทศวรรษ 1980)

ในปี 1988 บริษัทได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรธุรกิจแบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจนอกเหนือจากธุรกิจการค้าที่มีอยู่ เพื่อขยายฐานรายได้ออกไปโดยมีแหล่งรายได้หลัก 2 แหล่ง ได้มีการปรับเปลี่ยนใช้สโลแกนใหม่เป็น "Seeing Tomorrow, Innovating Today" และได้จัดทำงบการเงินรวมในงบการเงินปี 1989

การสร้างความแข็งแกร่งในด้านการบริหารจัดการแบบควบรวมทั่วโลก - การจัดตั้งพันธกิจขององค์กร (ทศวรรษ 1990)

ในปี 1991 ได้มีการจัดทำแผนการบริหารระยะกลาง "Strategy 95" เพื่อทำวิสัยทัศน์ขององค์กรธุรกิจแบบบูรณาการให้เป็นจริง ต่อมาในปี 1994 ได้มีการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างรายได้ใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองต่อกระแสโลกาภิวัตน์ภายใต้สโลแกน "Global Mind, Global Reach" และจากบทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์การซื้อขายทองแดงแบบผิดกฎหมายในปี 1996 จึงได้นำระบบการควบคุมภายในที่เข้มงวดมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก จนกระทั่งในปี 1998 ได้มีการกำหนดพันธกิจขององค์กร และใช้อัตราส่วนผลตอบแทนหลังปรับค่าความเสี่ยง (Risk-Adjusted Return) เป็นตัวชี้วัดการบริหารแบบใหม่

การดำเนินการตามแพคเกจการปฏิรูป (Reform Package) - มุ่งไปสู่ภาวะการเติบโต (ทศวรรษ 2000)

หลังจากที่เริ่มใช้แพคเกจการปฏิรูปในปี 1999 บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินโดยการจัดลำดับความสำคัญของธุรกิจและปรับปรุงความสามารถในการสร้างกำไร รวมถึงเสริมสร้างรากฐานทางธุรกิจด้วยการเพิ่มและปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์หลัก ภายใต้ชุดแผนการบริหารระยะกลาง 2 ปี (“Step Up Plan”, “AA Plan”, “AG Plan”, “GG Plan”, “FOCUS'10” และ “f(x)”) ต่อมาในปี 2001 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่ชูโอ-คุในเมืองโตเกียว จากนั้นได้มีการจัดตั้งหลักการกำกับดูแลกิจการของ บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ในปี 2003

การครบรอบ 100 ปี และอีก 100 ปีข้างหน้า (ทศวรรษ 2010)

ในปี 2013 เพื่อเร่งสร้างรายได้รวมทั่วโลก บริษัทได้นำระบบ “Broad Regional Management System” เข้ามาใช้
ในปี 2017 เพื่อให้บรรลุความยั่งยืนในฐานะองค์กรและเพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ไขประเด็นทางสังคม จึงได้มีการกำหนด “ประเด็นสำคัญ 6 ข้อ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันกับสังคม” ขึ้น ในปี 2018 มีการย้ายสำนักงานใหญ่อีกครั้ง ครั้งนี้ไปที่โอเทะมาจิ และเราได้เริ่มวางแผนการปฏิรูปรูปแบบการทำงาน
ในปี 2019 บริษัทได้สร้างสารใหม่ขององค์กร ซึ่งก็คือ “Enriching lives and the world” ขึ้น และฉลองครบรอบ 100 ปี

การยกระดับการบริหารจัดการความยั่งยืน และการสร้างธุรกิจยุคต่อไป (ทศวรรษ 2020)

สำหรับความพยายามของเราในการยกระดับการบริหารจัดการความยั่งยืน ในปี 2020 เราได้ระบุประเด็นสำคัญทางสังคม 6 ข้อ ซึ่งเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับบริษัทของเรา พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายระยะยาวซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นเหล่านี้ โดยในปีถัดมาเราได้กำหนดเป้าหมายระยะกลางขึ้น ในเดือนเมษายน 2021 มีการก่อตั้งศูนย์ริเริ่มนวัตกรรมด้านพลังงาน ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจใหม่ที่ก้าวข้ามกรอบการทำงานของหน่วยงานแบบเดิม นอกจากนี้ เรายังได้ประกาศแผนการบริหารระยะกลางฉบับใหม่ที่เรียกว่า "SHIFT 2023" ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าว เราจะย้ายกลุ่มธุรกิจและกรอบการทำงาน พร้อมทั้งทำการปฏิรูปโครงสร้างอื่นๆ