สายพิณที่ตึงเกินไป

ต้องขึงสายพิณพอเหมาะ

โสณะ !  เธอมีความคิดในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร :
เมื่อก่อนแต่ครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์
เธอเชี่ยวชาญในเรื่องเสียงแห่งพิณ  มิใช่หรือ ?
“เป็นเช่นนี้  พระเจ้าข้า !”.
โสณะ !  เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน
เมื่อใด สายพิณของเธอขึงตึงเกินไป
เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ  จะใช้การได้หรือ ?
“ไม่เป็นเช่นนั้น  พระเจ้าข้า !”.
โสณะ !  เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน
เมื่อใดสายพิณของเธอขึงหย่อนเกินไป
เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ  จะใช้การได้หรือ ?
“ไม่เป็นเช่นนั้น  พระเจ้าข้า !”.
โสณะ !  แต่ว่า เมื่อใด สายพิณของเธอ
ไม่ตึงนักหรือไม่หย่อนนัก
ขึงได้ระเบียบเสมอๆ กันแต่พอดี
เมื่อนั้น พิณของเธอย่อมมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือใช้การได้ดี มิใช่หรือ ?
“เป็นเช่นนั้น  พระเจ้าข้า !”.
โสณะ !  ข้อนี้ก็เป็นเช่นนั้นแล กล่าวคือ
ความเพียรที่บุคคลปรารภจัดเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน,
ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน.
โสณะ !  เหตุผลนั้นแล เธอจงตั้งความเพียรแต่พอดี,
จงเข้าใจความที่อินทรีย์ทั้งหลาย ต้องเป็นธรรมชาติที่เสมอๆ กัน,
จงกำหนดหมายในความพอดีนั้นไว้เถิด.
“พระเจ้าข้า ! ข้าพระองค์จักปฏิบัติอย่างนั้น”.

-บาลี ฉกฺก. อํ ๒๒/๔๑๘/๓๒๖.

สายพิณที่ตึงเกินไป


เขียนโดย พึ่งตน พึ่งธรรม กับคุณอนันต์ ที่วันพฤหัสบดี, มีนาคม 31, 2559

สายพิณที่ตึงเกินไป

ส่งอีเมลข้อมูลนี้BlogThis!แชร์ไปที่ Twitterแชร์ไปที่ Facebookแชร์ใน Pinterest

ป้ายกำกับ: เกียจคร้าน, ความเพียร, ปฐมธรรม, พุทธวจน, สายพิณ, โสณะ

ประวัติพระโสณโกฬิวิสะเถระ - พระโสณโกฬิวิสะเถระบำเพ็ญเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนส้นเท้าแตก และเกิดปริวิตกว่า ตนก็เป็นรูปหนึ่งที่ปรารภความเพียร เหตุใดจึงไม่บรรลุธรรม ถ้ากระไรตนพึงสึกเป็นคฤหัสถ์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบถึงปริวิตก ทรงเดินทางด้วยฤทธิ์มาโปรดพระโสณโกฬิวิสะ ท่านพระโสณะทูลรับสนองพุทธพจน์ ปฏิบัติตามพุทโธวาท ตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ ไม่นานนักก็บรรลุอรหัตตผล

พระพุทธเจ้าได้ทรงอุปมาการตั้งความเพียรสม่ำเสมอดุจสายพิณ ดังนี้

สายพิณที่ตึงเกินไป หย่อนเกินไป พิณก็มีเสียงที่ใช้การไม่ได้ แต่คราวใดสายพิณไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก ตั้งอยู่ในคุณภาพสม่ำเสมอ คราวนั้นพิณก็มีเสียงที่ใช้การได้ ฉันใด

ความเพียรที่ปรารภเกินไปนัก ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนนัก ก็เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน

เพราะเหตุนั้น จงตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ จงทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น

พระโสณโกฬิวิสะพยากรณ์อรหัตตผล

นิคมคาถา

ภิกษุน้อมไปสู่บรรพชา ๑
ผู้น้อมไปสู่ความเงียบสงัดแห่งใจ ๑
ผู้น้อมไปสู่ความไม่เบียดเบียน ๑
ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นอุปาทาน ๑
ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นตัณหา ๑
ผู้น้อมไปสู่ความไม่หลงไหลแห่งใจ ๑

ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดยชอบ เพราะเห็นความเกิด และความดับแห่งอายตนะ ภิกษุมีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบนั้น ไม่ต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว กิจที่จำจะต้องทำก็ไม่มี เปรียบเหมือนภูเขาที่ล้วนแล้วด้วยศิลาเป็นแท่งทึบอันเดียวกัน  ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ ทั้งที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนาทั้งสิ้น ย่อมทำท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น จิตของท่านตั้งมั่น หลุดพ้นแล้ว ท่านย่อมพิจารณาเห็นความเกิดและความดับของจิตนั้นด้วย.

มีคนบอกว่าใช้ชีวิตให้มีสมดุลแล้วชีวิตจะมีทุกข์น้อยลงหรือมีความสุขมากขึ้น แล้วชีวิตที่มีสมดุลคืออะไร สมดุลของแต่ละคนมันต่างกัน  

คำว่าสมดุลนี้ในพระพุทธศาสนาเรียกว่ามัชฌิมาปฎิปทาหรือ ทางสายกลาง

ทางสายกลาง ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนและยกตัวอย่างเปรียบเทียบไว้ซึ่งหลายท่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว คือการเปรียบเทียบ กับสายพิณ ถ้าขึงสายหย่อนเกินไปดีดก็ไม่มีเสียง ถ้าขึงตึงเกินไป ดีดก็ขาด

ในทางจิต ก็ยกตัวอย่างเช่น ปัญญาต้องเสมอกับศรัทธา ศรัทธามากไปก็งมงาย ปัญญามากไปไม่มีศรัทธาก็กลายเป็นทิฐิมานะเพิ่มอัตตา ได้แต่คิดไม่ลงมือปฎิบัติ ต้องรักษาสมดุลให้พอเหมาะพอดีกัน

ผมเคยถูกสอนมาว่าให้ทำงานหนักในวัยหนุ่ม ในตอนที่ยังมีแรง มีไฟ เพื่อความเจริญก้าวหน้าและเพื่อเก็บหอมรอมริบ ไว้ใช้ในยามแก่เฒ่า ซึ่งก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผล และในเวลานั้นผมก็เห็นด้วย มีบางช่วงของชีวิต ที่ผมเรียงลำดับความสำคัญให้งานมาเป็นอันดับ 1 ถ้าคนรักหรือครอบครัวนัดจะไปเที่ยวกันแล้วต้องจองล่วงหน้า ผมจะไม่รับปากว่าจะไปด้วยเพราะกลัวจะพลาดโอกาสหากมีงานเข้ามา 

ซึ่งก็มักจะเป็นอย่างนั้น ทำให้ชีวิตช่วงนั้นทุกทริปที่ครอบครัวผมไปเที่ยวกันมักจะไม่มีผม สมัยก่อนเหตุผลเดียวที่ผมจะยอมล็อคคิวไม่รับงานหลายๆ วัน ล่วงหน้าเป็นเดือนๆ คือไปปฏิบัติธรรม เพราะเห็นความจำเป็นของนิสัยที่ไม่มีระเบียบวินัยของตัวเอง ต้องมีคนคอยบังคับขัดเกลา เป็นครั้งคราว

มีอยู่ปีนึงพี่สาวมาบอกว่าสนใจไปเที่ยวพร้อมหน้าทั้งครอบครัวมั้ย ไม่ได้ทำแบบนั้นมานานมากๆ แล้วนะ ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเพิ่งไปทำโครงการเตรียมตัวตายมาพอดี ทำให้คิดว่า พ่อแม่ก็อายุมากแล้ว หรือแม้กระทั่งตัวเราก็อาจตายได้ทุกวัน คงรู้สึกเสียดายถ้าไม่ได้ใช้เวลาดีๆ ร่วมกับเขาบ้าง แต่ติดตรงที่วันเดินทางที่ทุกคนในครอบครัววางโปรแกรมไว้ ผมมีงานพอดี ผมเลยเลือกที่จะตามไปทีหลังซึ่งช้าไปแค่วันเดียว เป็นการแก้ปัญหา ซึ่งก็ผ่านมาได้ด้วยดี โชคดีว่าวันที่ทำงานไม่ได้อยู่กลางทริป แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ความคิดผมก็เปลี่ยนไป ผมก็เริ่มล็อคคิวล่วงหน้าเพื่อไปเที่ยวแบบรู้สึกผิดน้อยลง เพราะมองว่าความสัมพันธ์กับคนรักและครอบครัวมีค่ามากไม่น้อยกว่างาน

จนตอนหลังมานี่ผมเริ่มคิดว่าผมจะเที่ยวพักผ่อนเยอะเกินไปจนไม่เป็นอันทำงาน สายพิณเริ่มจะหย่อนยานเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่ต้องขึงสายพิณให้ตึงขึ้นบ้าง คนเล่นกีตาร์ก็คงจะคุ้นเคยกับการต้องคอยหมั่นปรับตั้งสายให้พอดี เสียงไม่เพี้ยน ชีวิตก็เหมือนกัน เดี๋ยวตึงเดี๋ยวหย่อน

ที่ญี่ปุ่นมีคนตายเพราะทำงานหนักปีละ 200 ราย เพราะญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทำงานที่หนักหน่วง ทุ่มเทจริงๆ นี่เรียกว่าตึงจนสายขาด เป็นบทพิสูจน์ คำพูดที่ว่า งานหนักไม่เคยฆ่าคน ไม่เป็นความจริง

คงไม่มีค่าอะไรถ้าเงินที่หามาได้ต้องมาใช้รักษาสุขภาพ ที่เสียจากการถูกทำลายเพราะใช้งานหนักเกินไป  หรือประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแต่มีปัญหาครอบครัว แต่ความสำเร็จก็มาจากการทำงานหนักมิใช่หรือ? 

ระหว่างความสำเร็จที่รวดเร็ว กับ ชีวิต คุณเลือกอะไร?

เชื่อว่าก็มีคนเลือกความสำเร็จอยู่ดี เพราะมันเป็นสิทธิของแต่ละคน

ผมชอบคำแนะนำที่ว่า work smarter not harder คือ ทำงานแบบใช้ปัญญา เน้นคุณภาพไม่ใช่เน้นปริมาณ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้แบบไม่เหนื่อยจนเกินพอดี

การรักษาสมดุลชีวิต คือ ศิลปะอย่างหนึ่ง ที่แต่ละคนต้องปรับด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ ให้พอดี เพราะสมดุลของแต่ละคนไม่เท่ากันยิ่งคนที่เข้าใจผิด นำข้อนี้มาใช้เป็นข้ออ้างตามใจกิเลสตัวเอง ผลที่ออกมาก็คงไม่พอดี 

สมดุลในชีวิตเราคงไม่ใช่แค่ 2 สิ่ง มีทั้งความสัมพันธ์ ครอบครัว หน้าที่การงาน สุขภาพ จะให้เวลากับสิ่งไหนมากน้อยแค่ไหนถึงจะ พอดี  คำว่าพอดีนี่ใช้ได้กับทุกเรื่องจริงๆ เช่น อาหารที่ดีมีประโยชน์ กินมากเกินไปก็ไม่ดี แม้กระทั่งเรื่องชีวิตคู่ ดีเกินไปก็ยังทำให้อยู่กันไม่ยืดเท่ากับนิสัยพอดีกัน 

ผมชอบที่ท่านชยสาโร พระภิกษุชาวอังกฤษ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ให้ความหมายของคำว่า พอดี ไว้ก็คือ “ฉลาด” ฉลาดในที่นี้คือต้องรู้ขอบเขตด้วย เช่น ถ้ามีคำถาม 2+2 เท่ากับเท่าไหร่ ถ้ามีคนนึงตอบ 5 คนนึงตอบ 7 เราคิดว่าสายกลางคือ 6 ก็ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องอยู่ดี คนฉลาดจะไม่เลือกสร้างเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ที่ตามมาในอนาคต เพราะมนุษย์เราล้วนต้องการความสุข