กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

1.ความเป็นมาและวัตถุประสงค์

  • สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 (ค.ศ. 1967) ณ กรุงเทพฯ เป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความมั่นคงทางการเมือง การเจริญเติบโตทางการค้าและทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาทางสังคมของประเทศสมาชิก แรกเริ่ม อาเซียนประกอบด้วย 5 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาได้ขยายจำนวนประเทศสมาชิกเป็น 10 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • อาเซียนมีพัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นลำดับ โดยเริ่มต้นจากความร่วมมือด้านความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากภูมิภาคอาเซียนมีความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้น จึงเปลี่ยนความสนใจมาเน้นที่เรื่องเศรษฐกิจ และเป็นที่มาของการจัดตั้ง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2560 โดยขนาดเศรษฐกิจของอาเซียนรวมกันใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก มีประชากร 642.1 ล้านคน
  • ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยให้การทำธุรกิจและการลงทุนร่วมกันภายในอาเซียนสะดวกมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ขณะที่การนำจุดแข็งด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมาส่งเสริมซึ่งกันและกันจะทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ของทุกประเทศสมาชิกอาเซียนดีขึ้น

    นอกจากนี้ การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านยังถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดนอีกด้วย และอาเซียนยังถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

2.บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย

     กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านความร่วมมือทางการเงินและระบบสอดส่องดูแลเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในภูมิภาค โดยดำเนินการภายใต้การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers' and Central Bank Governors Meeting – AFMGM) ซึ่ง ธปท. มีบทบาทส่งเสริมและผลักดันการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจในส่วนของการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน โดยมีเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการรวมกลุ่มในภาคการเงิน (Integration) การส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Inclusion) และการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินในประชาคมอาเซียน (Stability) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงินของทุกประเทศสมาชิก

     การรวมกลุ่มทางการเงินมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในหลายด้านผ่านการดำเนินงานของคณะทำงานต่างๆ ดังภาพ ซึ่งในส่วนที่ ธปท. เกี่ยวข้อง ครอบคลุมการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน การพัฒนาตลาดทุนภูมิภาค การพัฒนาระบบชำระเงิน การเข้าถึงบริการทางการเงิน การเปิดเสรีภาคบริการทางการเงิน ตลอดจนการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินในประเทศหนึ่งสามารถเข้าไปทำธุรกิจในอีกประเทศได้ง่ายและสะดวกขึ้น ตามกรอบความร่วมมือเปิดเสรีในภาคธนาคาร "Qualified ASEAN Bank (QAB)" ซึ่งเป็นการเจรจาทวิภาคีตามความสมัครใจและความพร้อมของประเทศสมาชิกเป็นคู่ ๆ ไป เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยกับธนาคารกลางมาเลเซียที่ได้เจรจาเสร็จแล้ว

     นอกจากการรวมกลุ่มทางการเงินแล้ว ธนาคารกลางอาเซียนยังมีความร่วมมือในการจัดตั้งกลไกให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยได้ลงนามในสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราอาเซียน (ASEAN Swap Arrangement – ASA) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2520 (ค.ศ. 1977) สัญญาดังกล่าวมีอายุ 2 ปีและได้รับการต่ออายุมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีวงเงินความช่วยเหลือรวม 2 พันล้านเหรียญ สรอ.

     เมื่อปี 2562 ไทยรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ที่มุ่งหวังให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดบนพื้นฐานการได้รับประโยชน์ร่วมกัน
เพื่อก้าวไปข้างหน้าสู่ความยั่งยืนในทุกภาคส่วน และภาคการเงิน ได้เน้นการทำงานที่สอดคล้องกับแนวคิดหลักดังกล่าวใน
3 ด้าน ได้แก่
1) ความเชื่อมโยง (Connectivity) เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางการเงินและส่งเสริมให้การบริการทางการเงินมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย ธปท. มีการดำเนินการที่สำคัญ คือ การผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการส่งเสริมการพัฒนาบริการชำระเงินระหว่างประเทศ

2) ความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อให้สถาบันการเงินและตลาดตราสารต่างๆ ที่เป็นตัวกลางทางการเงิน ทำหน้าที่ในการจัดสรรเงินทุนไปสู่ภาคธุรกิจโดยเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจและสังคมในระยะยาวมากกว่าผลตอบแทนในระยะสั้น โดย ธปท. จะผลักดัน Sustainable Finance เป็นวาระหลักของอาเซียนและยกระดับความตระหนักรู้เรื่อง Sustainable Banking

3) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Resilience) เพื่อให้ระบบการเงินของภูมิภาคมีเสถียรภาพและปลอดภัย โดย ธปท. จะมุ่งเน้นการพัฒนากรอบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภาคการเงิน ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลทางไซเบอร์ในภาคการเงินที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาความรู้ด้าน Cybersecurity ของบุคลากรทางการเงินของอาเซียน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมความร่วมมือระหว่างประเทศ 1-2 ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร
โทร. 0-2283-6184 หรือ 0-2283-5168

e-mail:

ในความพยายามมานานหลายทศวรรษของประเทศต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เกิดความแข็งแกร่ง และลดความยากจนอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) ต่างประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาและผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพสำหรับประชาชนในประเทศของตน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ดัชนีชี้วัดเฉลี่ยทางด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะ และสุขภาพของสมาคมอาเซียนยังคงมีระดับที่ต่ำกว่าระดับรายได้ในปัจจุบัน ซึ่งช่องว่างดังกล่าวยังคงมีอยู่ และสามารถบั่นทอดการเติบโตและความเจริญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต

เพื่อที่จะเติบโตในเศรษฐกิจโลกซึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะสร้างอุตสาหกรรมที่ไม่อาจจินตนาการได้ และมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของงานที่ให้ความสำคัญกับทักษะการทำงานมากขึ้น ประเทศในอาเซียนจึงต้องกลับไปสู่พื้นฐาน และลงทุนกับเหล่าเยาวชน

ความท้าทายดังกล่าวมีความสำคัญ เนื่องจากเกือบหนึ่งในสามของเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หยุดเจริญเติบโต เนื่องจากการขาดสารอาหารอย่างเรื้องรัง ทำให้เยาวชนเหล่านั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดข้อจำกัดทางด้านสติปัญญาและร่างกายตลอดชีวิต สิ่งเหล่านั้นอาจนำไปสู่ผลการเรียนที่ไม่ดี และโอกาสในการทำงานน้อยลง ถึงแม้ว่าอัตราการศึกษาในอาเซียนจะสูง แต่คุณภาพการศึกษาที่จำกัดจะทำให้เกิดช่องว่างการเรียนรู้อย่างมาก โดยเยาวชน 21 คนใน 100 คนมีทักษะการอ่านเพื่อความเข้าใจที่ต่ำ สำหรับเยาวชนที่กำลังจะจบประถมศึกษา ประมาณร้อยละ 15 ของเยาวชนที่อายุ 15 ปีในปัจจุบันจะไม่สามารถมีอายุได้ถึง 60 ปี โดยมีเหตุผลหลักมาจากโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจ และระบบทางเดินหายใจ ประเด็นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่ไม่มีความเท่าเทียม รวมถึงการเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการศึกษา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของแง่ของรายได้

กลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจมีระดับอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ประสิทธิภาพของงาน (job productivity) และคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน หัวใจสำคัญของปัญหาเหล่านั้นคือความต้องการของทุกประเทศในการเร่งพัฒนาทุนมนุษย์ (human capital) ในเดือนนี้ ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ผู้นำจากภูมิภาคต่าง ๆ ได้มารวมตัวกันเพื่อหารือถึงวิธีการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ในอนาคต

“ความไม่เสมอภาค ความยากจน การศึกษา และสุขภาพ ยังคงเป็นความท้าทายในอาเซียน เราจะต้องทำให้การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาของเรา” เลขาธิการอาเซียน ลิม จ๊อก ฮอย (Lim Jock Hoi) กล่าวในการประชุมระดับสูงของอาเซียนด้านการพัฒนามนุษย์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562

การประชุมระดับสูงดังกล่าวจัดโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย (NESDC) กระทรวงการต่างประเทศ ธนาคารโลก และ UNICEF  ซึ่งออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการสนทนาระหว่างรัฐสมาชิก และแบ่งปันกรอบนโยบายที่ประสบความสำเร็จและความท้าทายใหม่ ๆ รวมถึงการช่วยกำหนดแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาทุนมนุษย์และมุ่งสู่ทิศทางของแนวทางนโยบายร่วมกันที่สามารถปรับเปลี่ยนได้

ดัชนีทุนมนุษย์ของธนาคารโลก (Human Capital Index) ได้แสดงให้เห็นจุดที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะต้องให้ความสำคัญว่า เด็กที่เกิดในอาเซียนในวันนี้เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ จะมีศักยภาพเพียง 59% จากศักยภาพที่ควรจะเป็น ดังนั้น ฉันทามติทางการเมืองที่จะเปลี่ยนการลงทุนของภาครัฐให้ถูกจุดจึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหานี้

อาทิเช่น ประเทศไทยลดอัตราการหยุดเจริญเติบโตของเด็กจาก 25% เหลือ 11% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ผ่านโครงการโภชนาการที่มีเป้าหมายเป็นชุมชนในพื้นที่ที่มีความยากจนสูง วิธีการที่ประสบความสำเร็จดังกล่าวได้นำมาซึ่งสุขภาพ การเกษตร การศึกษา น้ำ และการสุขาภิบาล โดยการประสานงานระดับชุมชนอย่างใกล้ชิด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ในปี 2545 แม้ว่าประเทศไทยจะยังคงจัดกลุ่มใหม่จากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียในปี 2540 โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สิทธิพลเมืองไทยทุกคนในการได้รับบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นและครอบคลุมถึง 100% ในปี 2561

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อผูกพันของประเทศ เราไม่ต้องรอจนกว่าเราจะรวยเพื่อที่จะได้รับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พวกเราแค่ต้องทำ” นายอนุทินกล่าว

ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคดำเนินการได้ดีในหลาย ๆ ด้านเช่นกัน โดยประเทศเวียดนามมีความโดดเด่นด้านระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงเนื่องจากความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการศึกษาและการใช้จ่ายสาธารณะจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ได้ริเริ่มโครงการที่ประสบความสำเร็จในการฝึกอบรมและจ้างแรงงานที่มีอายุมาก

ผู้เชี่ยวชาญนำเสนอข้อมูลให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ที่แสดงให้เห็นว่า ในระดับนานาชาติ การลงทุนด้านสุขภาพและการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กเล็กนั้นสร้างผลตอบแทนสูงจากการผลิต และทำให้แรงงานในอนาคตมีทักษะความรู้ความเข้าใจและทักษะทางสังคมที่จำเป็นในการนำทางเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานทางด้านความรู้ (knowledge-based economy) การประชุมสิ้นสุดลงด้วยคำแนะนำสำหรับการเร่งพัฒนาทุนมนุษย์ในอาเซียนซึ่งรวมถึงการต่อสู้กับการขาดสารอาหารด้วยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ การปรับระบบการศึกษาทั้งหมดเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้สำหรับเด็กและการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้ใหญ่และทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าความสำเร็จ เพื่อให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพแก่ทุกคน และการคุ้มครองทางด้านการเงินจากผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่อรายได้ของประชาชน

อย่างไรก็ตาม Laurence Chandy ในฐานะผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์และนโยบายระดับโลก (Director of Global Insight and Policy Office) ของยูนิเซฟ (UNICEF) ได้เตือนผู้เข้าร่วมประชุมให้ตระหนักถึงเป้าหมายเหล่านี้ ประเทศต่าง ๆ จะต้องทำ “ภาระผูกพันทางการคลังและกำหนดนโยบายที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินงานที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละประเทศ”