ประกันสังคม ต้องส่ง กี่เดือนถึง ได้ค่าคลอด

ผู้ประกันตนควรรู้ ส่งประกันสังคมกี่เดือนถึงใช้สิทธิได้ พร้อมเงื่อนไขการเกิดสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี

นายชลอ ลิ้มศิริ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงการส่งเงินสมทบประกันสังคมและเงื่อนไขการเกิดสิทธิประโยชน์ ว่า เงินสมทบ คือเงินที่นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยนายจ้างหักจากค่าจ้างของลูกจ้างในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างในแต่ละเดือน ซึ่งฐานค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน เดือนละ 15,000 บาท (เงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 83 บาท และไม่เกินเดือนละ 750 บาท) ทั้งนี้ รัฐบาลจะออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งลูกจ้างผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน โดยเงื่อนไขการเกิดสิทธิแต่ละกรณีแตกต่างกัน สำหรับกรณีเจ็บป่วย ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิ์เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเดือนที่รับบริการทางการแพทย์ ส่วนกรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร มีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 15,000 บาท และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ระยะเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง หากเป็นผู้ประกันตนชายยื่นเบิกจะได้รับเพียงค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายเท่านั้น ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือน (3 ปี) เบิกได้คราวละไม่เกิน 3 คนๆ ละ 800 บาทต่อเดือน และบุตรอายุต้องไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์

นายชลอ กล่าวถึงกรณีทุพพลภาพว่า เงื่อนไขการเกิดสิทธินั้น ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบ 3 เดือนภายใน 15 เดือน โดยจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 เป็นรายเดือนตลอดชีวิต ส่วนกรณีเสียชีวิต ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือนก่อนเดือนถึงแก่ความตาย ทายาทได้รับค่าทำศพเหมาจ่าย 50,000 บาท ,เงินบำเหน็จกรณีเสียชีวิต และเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ ส่วนกรณีชราภาพ ประโยชน์ทดแทนจะจ่ายเมื่อผู้ประกันตนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเสียชีวิต หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ เงินบำเหน็จชราภาพ เป็นเงินก้อนที่จ่ายครั้งเดียวจบและเงินบำนาญชราภาพ เป็นเงินที่จ่ายทุกเดือนตลอดชีวิต

การจะได้รับเงินก้อน หรือเป็นรายเดือน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินสมทบ ในส่วนกรณีว่างงาน ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนใช้สิทธิ์ โดยแบ่งเป็นกรณีถูกเลิกจ้างรับ 70% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 200 วัน ส่วนกรณีลาออกรับ 45% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน

ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : นิตยา คุณสิม

ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา

แหล่งที่มา : Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ประกันสังคม ต้องส่ง กี่เดือนถึง ได้ค่าคลอด

ขนาดตัวอักษร  ก ก ก

|

การแสดงผล

|

|


กรณีคลอดบุตร

16 สิงหาคม 2564

ประกันสังคม ต้องส่ง กี่เดือนถึง ได้ค่าคลอด

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ

  • จ่ายงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร 
  • จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 15,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วันสำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน
  • กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่จำกัดจำนวนบุตร/ครั้ง 

พิจารณาสั่งจ่าย

 เงินสด/เช็ค (ผู้มีสิทธิมาขอรับด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน) ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน

เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน กรณีคลอดบุตร

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
  2. สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) 
  3. สำหรับผู้ประกันตนชายให้แนบสำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส
  4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอมีธนาคาร ดังนี้
  • 1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)             
  • 2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)             
  • 3) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)             
  • 4) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)             
  • 5) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)             
  • 6) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)             
  • 7) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)            
  • 8) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย                
  • 9) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) 

หมายเหตุ

   หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

สถานที่ยื่นเรื่อง

ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)