การตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาเหนือ

ชนกลุ่มแรกในทวีปอเมริกา

เศษซากและหลักฐานเหล่านี้อาจร่วมกันไขปริศนาที่มีมานานเรื่องการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในทวีปอเมริกา กล่าวคือถ้าชาวอเมริกันพื้นเมืองสืบเชื้อสายมาจากผู้บุกเบิกชาวเอเชียซึ่งอพยพมายังทวีปอเมริกาตอนปลายสมัยน้ำแข็งครั้งสุดท้าย อาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2557 เวลา 02.32 น.

ใบหน้าแรกของมนุษย์คนแรก ๆ ในทวีปอเมริกาเป็นของเด็กหญิงวัยรุ่นผู้อับโชคที่ตกลงไปเสียชีวิตในถ้ำบนคาบสมุทรยูกาตานเมื่อราว 12,000 ถึง 13,000 ปีมาแล้ว เรื่องราวการค้นพบเธอเปิดฉากขึ้นในปี ค.ศ. 2007 เมื่อทีมนักดำน้ำชาวเม็กซิกันนำโดย อัลเบร์โต นาบา พบสิ่งที่น่าตื่นใจ นั่นคือถ้ำมหึมาใต้น้ำที่พวกเขาตั้งชื่อว่า โอโยเนโกร (Hoyo Negro) หรือ “หลุมดำ” แสงไฟของพวกเขาส่องให้เห็นกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์กองสุมอยู่บนพื้นถ้ำอันมืดมิด รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์ที่เกือบจะสมบูรณ์อย่างน้อย 1 โครง

นาบารายงานการค้นพบนี้ไปยังสถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์แห่งชาติของเม็กซิโก ซึ่งได้รวบรวมทีมนักโบราณคดีและนักวิจัยสาขาอื่น ๆ จากนานาชาติมาทำการสำรวจถ้ำและสิ่งที่อยู่ภายใน โครงกระดูกซึ่งได้รับการขนานนามอย่างรักใคร่เอ็นดูว่า ไนอา (Naia) ตามชื่อของนางไม้ที่สิงสถิตอยู่ในน้ำในเทพปกรณัมกรีก ได้กลายเป็นโครงกระดูกเก่าแก่ที่สุดโครงหนึ่งเท่าที่เคยพบในทวีปอเมริกา และเป็นโครงกระดูกแรกสุดที่อยู่ในสภาพดีพอจะใช้เป็นฐานเพื่อจำลองใบหน้าขึ้นใหม่ แม้แต่นักพันธุศาสตร์ยังสามารถสกัดตัวอย่างดีเอ็นเอของเธอได้

เศษซากและหลักฐานเหล่านี้อาจร่วมกันไขปริศนาที่มีมานานเรื่องการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในทวีปอเมริกา กล่าวคือถ้าชาวอเมริกันพื้นเมืองสืบเชื้อสายมาจากผู้บุกเบิกชาวเอเชียซึ่งอพยพมายังทวีปอเมริกาตอนปลายสมัยน้ำแข็งครั้งสุดท้าย เหตุไฉนพวกเขาจึงไม่มีความคล้ายคลึงกับบรรพบุรุษยุคโบราณของตนเลย

จากรูปลักษณ์ทุกอย่างที่เห็นชนกลุ่มแรกสุดในทวีปอเมริกาเป็นพวกก้าวร้าวเลือดร้อน หากเรามองดูซากโครงกระดูกของคนในทวีปอเมริกาสมัยดึกดำบรรพ์ (Paleo-American) จะเห็นว่า ผู้ชายกว่าครึ่งได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรง และ 4 ใน 10 คนมีรอยแตกร้าวที่กะโหลกศีรษะ ซึ่งไม่คล้ายกับรอยที่เกิดจากอุบัติเหตุในการล่าสัตว์ และไม่มีร่องรอยใดบ่งบอกถึงการต่อสู้ในสงคราม แต่กลับดูเหมือนว่าเป็นการต่อสู้กันเอง

พวกผู้หญิงไม่มีการบาดเจ็บในลักษณะนี้ แต่มีรูปร่างเล็กกว่าพวกผู้ชายมาก อีกทั้งมีร่องรอยของภาวะทุพโภชนาการและการเป็นเหยื่อความรุนแรงภายในครอบครัว

ในความเห็นของ จิม แชตเทอร์ส นักโบราณคดีและผู้นำร่วมของทีมวิจัยโอโยเนโกร เห็นว่า ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า คนในทวีปอเมริการุ่นแรกสุดเป็นพวกที่เขาเรียกว่า “คนเถื่อนของซีกโลกเหนือ” คือมีความกล้าบ้าบิ่นและก้าวร้าว พวกผู้ชายมีความเป็นชายสูงเกินปกติ ส่วนพวกผู้หญิงมีร่างเล็กและอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายชาย เขาคิดว่านี่คือเหตุผลที่ลักษณะใบหน้าของคนกลุ่มแรกสุดในทวีปอเมริกาดูช่างแตกต่างจากใบหน้าของชาวอเมริกันพื้นเมืองรุ่นหลัง ๆ มาก คนเหล่านี้เป็นนักบุกเบิกและชอบเสี่ยงภัย พวกผู้ชายที่แข็งแกร่งที่สุดจะได้ครอบครองทรัพย์สมบัติและชนะในการต่อสู้แย่งชิงผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ลักษณะนิสัยแกร่งกร้าวและรูปร่างบึกบึนจึงได้รับคัดเลือกมากกว่าพวกที่นุ่มนวลและก้าวร้าวน้อยกว่า ซึ่งปรากฏให้เห็นในประชากรรุ่นต่อ ๆ มาที่อยู่เป็นหลักแหล่งมากขึ้น

ไนอามีลักษณะใบหน้าเหมือนคนในทวีปอเมริการุ่นแรกสุดทั่วไป เช่นเดียวกับลายเซ็นทางพันธุกรรม (genetic signature) แบบเดียวกับที่พบในชาวอเมริกันพื้นเมืองปัจจุบัน นี่แสดงว่าคนทั้งสองกลุ่มไม่ได้แตกต่างกันเพราะประชากรรุ่นแรกสุดถูกแทนที่ด้วยประชากร รุ่นหลัง ๆ ซึ่งอพยพมาจากเอเชีย ดังที่นักมานุษยวิทยาบางคนยืนยัน หากเกิดจากการที่ประชากรกลุ่มแรกวิวัฒน์หรือเปลี่ยนแปลงไปหลังมาถึงทวีปอเมริกาแล้วต่างหาก

ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษที่ 20 เป็นที่เข้าใจกันว่า ปริศนาเกี่ยวกับคนกลุ่มแรกสุดในทวีปอเมริกาได้รับการไขให้กระจ่างแล้วไม่มากก็น้อย ย้อนหลังไปเมื่อปี ค.ศ. 1908 โคบาลคนหนึ่งที่หมู่บ้านฟอลซอม รัฐนิวเม็กซิโกพบซากของไบซันโบราณซึ่งเป็นชนิดย่อยที่สูญพันธุ์ไปแล้วของไบซันเขายาว พวกมันเคยท่องไปทั่วพื้นที่แถบนั้นเมื่อกว่า 10,000 ปีมาแล้ว ต่อมานักวิจัยของพิพิธภัณฑ์พบปลายหอกปะปนอยู่กับกองกระดูก ซึ่งเป็นหลักฐานชี้ชัดว่ามีคนอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือมาเนิ่นนานก่อนช่วงเวลาที่เราเคยเชื่อกัน หลังจากนั้นไม่นานก็พบปลายหอกอายุ 13,000 ปีใกล้กับเมืองโคลวิส รัฐนิวเม็กซิโก และภายหลังก็มีผู้พบสิ่งที่รู้จักกันในนามปลายหอกโคลวิสนี้ในแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ อีกหลายสิบแห่งทั่วทวีปอเมริกาเหนือ

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ทวีปเอเชียและทวีปอเมริกาเหนือเคยเชื่อมต่อกันด้วยมวลแผ่นดินกว้างใหญ่ที่เรียกว่า เบอรินเจีย (Beringia) ในช่วงสมัยน้ำแข็งครั้งสุดท้าย กอปรกับชนกลุ่มแรกในทวีปอเมริกาดูเหมือนจะเป็นพวกพรานล่าสัตว์ใหญ่ที่เคลื่อนย้ายตลอด จึงฟังดูสมเหตุสมผลที่จะสรุปว่า พวกเขาคงตามแมมมอธและสัตว์ที่ล่าอื่น ๆ ออกมาจากทวีปเอเชีย ข้ามเบอรินเจียลงมาทางใต้ ผ่านฉนวนเปิดหรือเส้นทางระหว่างพื้นน้ำแข็งแคนาดาขนาดมโหฬาร สองแผ่น และในเมื่อไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือใดมาสนับสนุนว่าเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ก่อนช่วงเวลาของ พรานโคลวิส จึงเป็นที่มาของทฤษฎีที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางมาตลอดว่า พรานโคลวิสคือชนกลุ่มแรกในทวีปอเมริกา

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในปี ค.ศ. 1997 เมื่อทีมนักโบราณคดีมีชื่อหลายคนไปเยือนแหล่งโบราณคดีชื่อ มอนเตเวร์เด (Monte Verde) ทางตอนใต้ของประเทศชิลี ที่นั่น ทอม ดิลเลเฮย์ จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ อ้างว่าได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์เมื่อกว่า 14,000 ปีมาแล้ว คำกล่าวอ้างนี้จุดประเด็นโต้แย้งเช่นเดียวกับการกล่าวถึงมนุษย์ก่อนยุคโคลวิส อื่น ๆ ดิลเลเฮย์ถึงกับถูกกล่าวหาว่าไปจัดฉากโบราณวัตถุและสร้างข้อมูลขึ้นมาเอง แต่หลังจากพิจารณาหลักฐานซ้ำอีกครั้ง ทีมผู้เชี่ยวชาญก็ลงความเห็นว่า คำกล่าวอ้างของเขามีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ในช่วง 18 ปีนับตั้งแต่ “ระเบิด” มอนเตเวร์เดตกลงมาสร้างความสั่นสะเทือนให้วงการโบราณคดี คำถามดั้งเดิมที่ว่า โคลวิสคือคนกลุ่มแรกใช่หรือไม่ ได้รับคำตอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลักฐานจากแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในทวีปอเมริกาเหนือเผยให้เห็นว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนยุคโคลวิส โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดี เดบรา แอล. ฟรีดกิน (Debra L. Friedkin Site) ทางตอนกลางของรัฐเทกซัส ซึ่งอาจถึงกับเป็นสถานที่อยู่อาศัยแห่งแรกสุดของมนุษย์ในซีกโลกตะวันตกที่สามารถพิสูจน์ได้

เมื่อปี ค.ศ. 2011 ไมเคิล วอเตอร์ส นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม ประกาศว่า เขาและทีมงานขุดพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์เป็นบริเวณกว้าง โดยมีอายุเก่าแก่ถึง 15,500 ปี หรือราว 2,500 ปีก่อนพรานโคลวิสกลุ่มแรกจะมาถึง แหล่งโบราณคดีฟรีดกินตั้งอยู่ในหุบเขาเล็ก ๆ ห่างจากเมืองออสตินไปทางเหนือราวหนึ่งชั่วโมงทางรถยนต์ ที่นั่นมีธารน้ำเล็ก ๆ ไหลรินชั่วนาตาปี ปัจจุบันเรียกว่า ลำธารบัตเตอร์มิลก์ ขนาบข้างด้วยต้นไม้ให้ร่มเงาและชั้นหินเชิร์ตซึ่งเป็นหินที่ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ ทำให้พื้นที่แถบนี้เหมาะแก่การอยู่อาศัยของผู้คนตลอดระยะเวลาหลายพันปี

“หุบเขาแห่งนี้มีบางอย่างต่างจากที่อื่นครับ” วอเตอร์สบอก เราเคยคิดกันมานานว่า คนกลุ่มแรกสุดในทวีปอเมริกาเป็นพวกล่าสัตว์ใหญ่กันเป็นหลัก โดยติดตามแมมมอธและมาสโตดอนพันธุ์อเมริกันข้ามทวีปเข้ามา แต่หุบเขานี้เป็นทำเลเหมาะมากสำหรับพวกเก็บของป่าล่าสัตว์ ผู้คนที่นี่น่าจะกินถั่วและรากพืช กุ้งเครย์ฟิชและเต่า และคงล่าสัตว์ เช่น กวาง ไก่งวง และกระรอก พูดอีกนัยหนึ่งคือ ผู้คนเหล่านี้คงไม่ได้มาแวะพักระหว่างเดินทางต่อไปยังที่อื่น แต่พวกเขาอยู่อาศัยกันที่นี่

วอเตอร์สบอกว่า “ผมคิดว่าข้อมูลนี้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่ามีคนเข้ามาอยู่ในทวีปอเมริกา เหนือเมื่อ 16,000 ปีก่อน เวลาจะพิสูจน์ว่าหลักฐานดังกล่าวคือตัวแทนของการอยู่อาศัยแรกเริ่มในทวีปอเมริกาได้หรือไม่ หรือว่ามีอะไรอื่นที่เก่ากว่านี้”

เรื่องโดย เกลนน์ ฮอดเจส จากนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2557.

คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่

  • เห็นด้วย

    0%

  • ไม่เห็นด้วย

    0%