การ พัฒนา ตนเอง ใน งาน อาชีพ ครู

การ พัฒนา ตนเอง ใน งาน อาชีพ ครู

ครูเป็นอาชีพชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะด้านการอบรมสั่งสอน เพื่อให้ศิษย์เกิด การเรียนรู้ มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะ และมีความรู้สึกนึกคิดใหม่ หรือดีขึ้น มากขึ้น เหมาะสมขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจต้องใช้ความรู้ความสามารถพิเศษในการทำงาน และสังคมก็ให้การยกย่องความสำคัญของครู

ความหมายของครูมืออาชีพ

  • ครูที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีความรู้ ทักษะ ความสามารถ ในการจัดกิจกรรมให้แก่ผู้เรียนและได้รับการยกย่อง
  • ครูที่มีสมรรถระในด้านความสามารถในการจัดการเรียนการสอน การประเมินองค์รวมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การพัฒนาและประเมินหลักสูตร การศึกษาค้นคว้าวิจัย การเป็นผู้นำ การส่งเสริมและแก้ปัญหาของผู้เรียน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์และร่วมมือกับชุมชน

สำหรับแนวทางของครูที่จะก้าวสู่ความเป็นครูมืออาชีพนั้น จะต้องฝึกฝน พัฒนาตนเองในสิ่งที่จะกล่าวถึง ดังต่อไปนี้

1. ปฏิบัติตนให้มีความเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของทุกคนที่พบเห็นไม่ว่าจะอยู่ในโรงเรียนหรือในชุมชนที่ตนอยู่

2. ต้องศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาของชาติ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนทราบนโยบายของโรงเรียนของตนเอง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การพัฒนาโรงเรียนและพัฒนาผู้เรียนสู่เป้าหมายที่ถูกต้อง

3. ต้องศึกษาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรสถานศึกษาให้ชัดเจน นำมาออกแบบการเรียนรู้ จัดกระบวนการเรียนรู้ กำหนดการวัดประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์และทักษะต่างๆ

4. ครูที่ดีจะต้องรู้จักผู้เรียน ว่าผู้เรียนแต่ละคนเป็นอย่างไร มีจุดเด่น จุดที่ต้องพัฒนาอะไรบ้าง ดังนั้นครูต้องมีการวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน

5. จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นทักษะกระบวนการ มีกิจกรรมให้เด็กนักเรียนได้ฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ให้มากที่สุด นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และสรุปองค์ความรู้ด้วยตนเองหรือกลุ่ม โดยครูเป็นเพียงผู้ที่คอยให้คำแนะนำ ดูแล จัดหาสื่อการเรียนรู้ จัดแหล่งเรียนรู้

6. กิจกรรมการเรียนรู้ควรมีการบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ของตนเอง หรือบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ เกี่ยวกับเนื้อหาที่มีความสัมพันธ์กัน คุณลักษณะที่พึงประสงค์ การวัดผลประเมินผล ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างสมบูรณ์

7. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการวัดผลประเมินผลที่หลากหลายตามสภาพจริงของผู้เรียน โดยครูไม่ควรเน้นแต่การให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบแต่เพียงอย่างเดียว ควรมีการวัดผลประเมินผลโดยการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ การตอบคำถาม การแสดงความคิดเห็น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำชิ้นงาน การจัดนิทรรศการการเรียนรู้ หรือแฟ้มสะสมงานของผู้เรียน

8. ครูควรมีการจัดกิจกรรม หรือดำเนินโครงการที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ ทักษะ หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ตลอดจนกิจกรรมปลูกฝังให้ผู้เรียนรักและร่วมกันพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน

9. ครูที่ดีควรมีการอบรม แนะนำพัฒนาผู้เรียน กำกับ ติดตาม แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ใช้การวิจัยช่วยในการแก้ปัญหาผู้เรียนในด้านต่างๆ

10. ครูต้องหมั่นศึกษา พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูทั้งในโรงเรียนของตนเอง โรงเรียนอื่นๆ ตลอดทั้งชุมชนอย่างต่อเนื่อง

11. ครูต้องมีทักษะและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการเรียนรู้

12. ครูต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น มีสุนทรียภาพ ทำงานร่วมกับผู้อื่น และมีเครือข่ายการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าผู้ที่เป็นครูทำและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าเยาวชนของไทยจะมีคุณลักษณะตามที่ทุกคนคาดหวัง และคุณครูทุกท่านย่อมประสบความสำเร็จในความเป็นครู และก้าวสู่ความเป็นครูมืออาชีพ และมีความก้าวหน้าในวิชาชีพครูอย่างแน่นอน

แหล่งอ้างอิง

ADMIN. 2559. แนวทางการฝึกฝนและพัฒนาตนเองเพื่อก้าวสู่ความเป็นครูมืออาชีพ[ทางก้าวสู่ครูมืออาชีพ]. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.krusmart.com/professional-teacher-way/. 26 พฤศจิกายน 2559

บ้านสอบครู. 2559. ครูอาชีพ กับ อาชีพครู. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.sobkroo.com/detail_room_index.php?nid=1916. 26 พฤศจิกายน 2559

                หน้าที่และความรับผิดชอบของครูเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการประกอบวิชาชีพครูและการดำรงความเป็นครูของครูแต่ละคน  งานครูอาจกำหนดได้ว่ามีงานสอนงานอบรม  และงานพัฒนาศิษย์ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและแผนการศึกษาแห่งชาติ  ครูต้องมีหน้าที่และรับผิดชอบมากมายกว้างขวางยิ่ง  งานสอนเป็นหน้าที่ครูที่มุ่งไปที่ศิษย์ในด้านการให้ข้อมูลการให้เนื้อหาความรู้  เป็นการเผชิญกันระหว่างครูกับศิษย์  งานอบรมเป็นการจัดกระบวนการเรียนให้ศิษย์ได้มีประสบการณ์ต่างๆ ที่ครูวางแผนไว้เพื่อให้ศิษย์เติบโตและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  ส่วนงานพัฒนาศิษย์นั้นครูมีหน้าที่และความรับผิดชอบมากมายทั้งงานที่ต้องสัมผัสกับบุคคลภายนอกโรงเรียนและรวมถึงตัวครูเองด้วย

                หน้าที่ความรับผิดชอบของครู  หมายถึง  กิจที่ครูต้องกระทำให้ได้ผลดีโดยสม่ำเสมอ  การกระทำของครูเพื่อให้เกิดผลดีได้นั้นต้องอาศัยพื้นฐานของกฎระเบียบ  แบบธรรมเนียม  จริยธรรม  จรรยาบรรณและคุณธรรมเป็นปัจจัยสำคัญด้วย

                ความรับผิดชอบในหน้าที่ของครูเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของครูที่สังคมคาดหวัง  เป็นภารกิจที่สังคมมอบหมายให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูกระทำ  และเป็นพันธกิจที่ผู้เป็นครูมอบให้กับสังคม

                หน้าที่ของครูในแง่คุณลักษณะที่พึงประสงค์สรุปไว้ดังนี้

1.       ครูเป็นผู้ที่สามารถให้ทางแห่งความรอดแก่ศิษย์  ความรอดมีอยู่สองทาง คือ ทางรอดทางกายและทางรอดทางใจ

2.       ครูต้องสามารถดำรงความเป็นครูอยู่ได้ทุกอริยาบท

3.       ครูต้องสามารถเป็นตัวอย่างตามคำสอนแก่ศิษย์ได้  สอนอย่างไรทำอย่างนั้น

การพิจารณาหน้าที่ความรับผิดชอบของครูนั้น  อาจพิจารณาได้สองด้าน คือ การพิจารณาหน้าที่และความรับผิดชอบในเชิงของกฎระเบียบข้อบังคับที่ค่อนข้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือบทบัญญัติต่างๆ เป็นลักษณะที่ค่อนข้างบังคับว่าครูต้องกระทำกิจเหล่านั้น  ส่วนการพิจารณาหน้าที่และความรับผิดชอบของครูในอีกด้านหนึ่งนั้นก็เป็นการพิจารณาหน้าที่ของครูในเชิงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่เป็นไปตามแบบธรรมเนียมปฏิบัติมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมและจารีตประเพณี

หน้าที่และความรับผิดชอบของครู

1.       หมั่นอบรมเด็กอยู่เสมอ

2.       ตั้งใจสอน  รักการสอน

3.       จัดการปกครองให้เป็นที่เรียบร้อย

4.       เตรียมการสอน  และทำบันทึกการสอน

5.       หมั่นวัดผลและติดตามผลการเรียน

6.       รับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

7.       ช่วยให้คำแนะนำแก่เด็กด้วยความเต็มใจ

8.       สอนให้เด็กเป็นประชาธิปไตย

9.       ทำบัญชีเรียกชื่อ  และสมุดประจำชั้น

10.    ดูแลบำรุงรักษาห้องเรียนและอาคารสถานที่

11.    เกี่ยวกับการสอน  การอบรม  การวัดผล

12.    เกี่ยวกับธุรการและระเบียบวินัย

13.    ค้นคว้าเพิ่มเติมและหาความรู้ใหม่ๆ มาสอน

14.    สอนให้เด็กเป็นคนดี

15.    หมั่นหาความรู้และวิธีการหาความรู้

16.    เป็นตัวอย่างแก่เด็ก

17.    จัดการแนะแนวที่ดีแก่เด็ก

18.    ช่วยงานสารบรรณและธุรการโรงเรียน

19.    เอาใจใส่เด็ก

20.    บริการโรงเรียน

21.    เป็นครูประจำชั้น

22.    ทำระเบียบและสมุดรายงานนักเรียน

23.    มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

24.    ร่วมกิจกรรมชุมชน

25.    สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

26.    เอาใจใส่และพยายามเข้าใจปัญหาและความต้องการของเด็ก

27.    ช่วยประชาสัมพันธ์กิจการของโรงเรียนได้ดี

หน้าที่ตามภาระกิจของงานครู

                หน้าที่และความรับผิดชอบของครู จากคำว่า TEACHERS  สรุปได้ดังนี้

                T  =  Teaching and Training              การสั่งสอนและการฝึกฝนอบรม

                E  =  Ethics Instruction                       การอบรมคุณธรรมและจริยธรรม

                A  =  Action Research                        การค้นคว้าวิจัยหรือการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ

                C  =  Cultural Heritage                       การถ่ายทอดวัฒนธรรม

                H  =  Human Relationship                 การสร้างมนุษยสัมพันธ์

                E  =  Extra Jobs                                    การปฏิบัติหน้าที่พิเศษต่างๆ

                R  =  Reporting and Counselling      การรายงานผลและการแนะแนว

                S  =  Student Activities                      การจัดกิจกรรมนักเรียน

                หน้าที่การสั่งสอนและฝึกฝนอบรม  (Teaching and Training)  การสอนที่ดี  กิลเบิร์ดไฮเอท  กล่าวว่า  การสอนดีมีลักษณะดังนี้

1.       ต้องมีความรู้ในเรื่องที่สอนอย่างลึกซึ้ง  แม่นยำเนื้อหา

2.       ต้องมีอารมณ์ขัน  สอนได้สนุกสนานไม่น่าเบื่อ

3.       ต้องมีความแม่นยำ  และมีความมั่นใจในการสอน

4.       สอนด้วยความรักและเมตตานักเรียน  ไม่ข่มขู่บังคับกรรโชก

5.       ต้องมีความอดทนและอดกลั้นต่อความไม่รู้ของนักเรียน

6.       ต้องมีความเข้าใจในพัฒนาการและความสนใจของนักเรียน

7.       ต้องรู้จักยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน

การสอนเป็นศาสตร์ที่มีกฎเกณฑ์ลำดับและระบบ  ทั้งยังเป็นศิลป์ที่ต้องมีลีลา  และเทคนิค  ซึ่งทั้งศาสตร์แห่งการสอนและศิลป์แห่งการสอนเป็นวิทยาการที่ศึกษาเล่าเรียนและฝึกฝนให้แกร่งกล้าได้

หน้าที่อบรมคุณธรรมและจริยธรรม  (Ethics Instruction)  มีหลักการสำคัญคือ  ครูต้องสั่งสอนสิ่งที่ควรกระทำ  สิ่งที่ควรปฏิบัติให้ก่อน  ครูต้องปฏิบัติให้ดู  ให้เข้าใจวิธีการกระทำสิ่งต่างๆ ที่ถูกที่ควรแล้วให้ศิษย์ได้ปฏิบัติได้ฝึกฝนจนได้รับรู้ผลจากการปฏิบัติดีตามนั้น  ให้มีประสบการณ์ตรงว่าการประพฤติดีนั้นทำให้มีความสุขได้อย่างไร

หน้าที่วิจัยและศึกษาค้นคว้า  (Action Research)  ครูต้องศึกษาค้นคว้าและวิจัยงานทุกด้านที่เกี่ยวกับห้องนักเรียน  โรงเรียนและตัวนักเรียน  ตลอดจนความเข้าใจของครูเองในสิ่งที่ตนประพฤติปฏิบัติ  ครูต้องแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบและพัฒนาตนเองอยู่เสมอโดยการลงมือ  (Action)  กระทำ

หน้าที่ของครูในการถ่ายทอดวัฒนธรรม  (Cultural Heritage)  ครูเป็นผู้ถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมให้กับเยาวชน  โดยครอบคลุมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีในสังคม  เช่น  การมีสัมมาคารวะ  ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ฯลฯ  การส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดี  เช่น  การใช้ภาษา  กิริยามารยาททางสังคม  ฯลฯ  และการพัฒนาวัฒนธรรมรวมถึงการรณรงค์สร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ดีแก่สังคม

หน้าที่ในด้านการสร้างมนุษยสัมพันธ์   (Human Relationship)  ครูต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลในสังคมมากมายตั้งแต่นักเรียน  ผู้ปกครอง  เพื่อนครู  ผู้บังคับบัญชา  บุคลากรในหน่วยงาน  บุคลากรในชุมชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานอื่นๆ  ที่ต้องเกี่ยวข้องด้วย  เพื่อประโยชน์ของนักเรียนและสถานศึกษา

                หน้าที่เกี่ยวกับงานพิเศษขององค์กรที่ได้รับมอบหมาย   (Extra Jobs)  เป็นงานสนับสนุนการศึกษา  เช่น  งานธุรการโรงเรียน  งานบรรณารักษ์  งานปกครอง  งานอาหารกลางวัน  งานตามระเบียบราชการ  การตรวจเวรยาม  การทำงานนอกสถานที่  ฯลฯ

                หน้าที่ในการรายงานผลและการให้คำปรึกษา  (Reporting and Counselling)  ครูต้องรายงานผลการพัฒนาการของศิษย์ทุกๆด้าน  ต่อผู้ปกครองและผู้บังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอ  ครูต้องมีความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการวัดผลและประเมินผลทั้งสามารถรายงานผลได้อย่างถูกต้องทั้งทางด้านการศึกษาเล่าเรียน  ความประพฤติ  สุขภาพอนามัย  และลักษณะนิสัยของนักเรียน  นอกจากการรายงานผลซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติแล้ว  ครูยังต้องเป็นผู้ช่วยร่วมแก้ไขและป้องกันไม่ให้ศิษย์ล้มเหลวในการศึกษาและพัฒนาการด้านต่างๆ  โดยการเป็นผู้ที่คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือทั้งกับตัวศิษย์และผู้ปกครองด้วย  ทั้งการรายงานผลและแนะแนวต้องทำสม่ำเสมอและตรงเวลา

                หน้าที่จัดกิจกรรมนักเรียน   (Student Activities)  ครูต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการต่างๆ ของศิษย์  ครูต้องเป็นผู้จัดสภาพการณ์หรือกิจกรรมให้เหมาะสม  มีตั้งแต่กิจกรรมในชั้นเรียนที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน  กิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อให้ศิษย์มีโอกาสนำสิ่งที่เรียนในห้องเรียนไปใช้  และกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์  โลกทัศน์และวัสัยทัศน์ที่กว้างขวางซึ่งจะช่วยให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสำเร็จในชีวิต

พัฒนาการของวิชาชีพครู
 ปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาครูและวิชาชีพครู

                คนไทยและสังคมไทยในอนาคตต้องมีความสามารถ “มุ่งก้าวมั่น รู้ทันโลก” และก้าวไปสู่ “สังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้” ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวด 7 ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องมีอิทธิพลต่อการพัฒนาครูและวิชาชีพครู ตั้งแต่มาตรา 52-57 (ดังคำชี้แจงประกอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ในภาคผนวก) สรุปได้ว่า

1.     ให้มีระบบ กระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง

2.     ให้มีองค์กรวิชาชีพทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ที่อยู่ในวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ

3.       ให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

4.       ให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู โดยยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษา

5.     ให้มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้มีรายได้เพียงพอและเหมาะสมกับฐานะสังคมและวิชาชีพ

6.     ให้มีการระดมทรัพยากรบุคคลในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา

การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา

                พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างการจัดระบบบริหารจัดการ และการจัดระบบครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา จะมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2545 ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ควรได้รับการเตรียมความพร้อมให้มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และมีความมั่นใจในการดำเนินงานตามแนวปฏิรูปการศึกษา สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.)จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการพัฒนา โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมไปถึงการเตรียมความพร้อม ผู้นำชุมชนและผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในอนาคตจะมีบทบาทที่สำคัญในการจัดการศึกษาด้วย

                สำหรับการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในระยะต่อไปเสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) มีสถานภาพเป็นองค์การมหาชน เพื่อรับผิดชอบในการกำกับดูแล ส่งเสริมการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

                แนวทางและวิธีการพัฒนาครู

                การพัฒนาครูแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

                1. การพัฒนาที่ยึดเอาวิทยากรและเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง  การพัฒนาลักษณะนี้เน้นความสำคัญของเนื้อหาวิชาหรือสาระของความรู้ข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับวิชาชีพและงานของครู (เช่น งานราชการ) โดยมีวิทยากรเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ข่าวสารและข้อมูลเหล่านั้น ไปสู่ครูผู้รับการพัฒนา จุดหมายการพัฒนามุ่งเน้นให้ครูรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเข้าใจเนื้อหาสาระเหล่านั้น

                กิจกรรมการพัฒนาเป็นการสื่อสารทางเดียว  รูปแบบการนำเสนอที่นิยมกันคือ วิทยากรคนเดียวหรือหลายคนบรรยายหรืออภิปรายในที่ประชุมครู วิทยากรอาจใช้สื่อและเทคโนโลยีรูปภาพ แสงและเสียงประกอบการบรรยาย เพื่อสร้างความเข้าใจและช่วยเพิ่มความสนใจ ผู้รับการพัฒนาฟังและดูสิ่งประกอบการบรรยาย รับรู้ จดจำ และบันทึกสาระของความรู้ข่าวสารข้อมูล

                2. การพัฒนาที่ยึดเอาครูเป็นศูนย์กลาง  การพัฒนาลักษณะนี้เน้นความสำคัญของครูผู้ร่วมกิจกรรมการพัฒนา การตัดสินใจและทำกิจกรรมทุกอย่างมุ่งประโยชน์การพัฒนาครู ให้ความสำคัญทั้งกระบวนการและเนื้อหาความรู้ ครูและวิทยากรปฏิบัติกิจกรรมตามจังหวะและโอกาสต่างคนต่างเรียนรู้ไปพร้อมกัน ความรู้ ข่าวสารและข้อมูลมาจากหลายแหล่ง และเลือกสรรเฉพาะที่จะนำไปใช้ประโยชน์

                วิธีการและกิจกรรมที่ปฏิบัติมีหลากหลาย มีทั้งการสื่อสารทางเดียว สองทาง การฝึกหัด ทดลอง ปฏิบัติจริง สังเกต วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ส่วนใหญ่ครูเป็นผู้ปฏิบัติ วิทยากรเป็นผู้กำกับ

                จุดหมายมุ่งเน้นการพัฒนาหรือความงอกงามของครูแต่ละคน ในแต่ละด้านตามสภาพปัญหาและความต้องการของเขา มักพัฒนาทีละเรื่องหรือทีละด้าน อาจทำเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม พัฒนาต่อเนื่อง ไม่เน้นความสำคัญของเวลาและสถานที่ ประเมินผลตามจุดประสงค์ด้วยวิธีการต่างๆ และนำผลนั้นมาพิจารณาหาประเด็นเพื่อพัฒนาต่อเนื่องไปอีก

                การพัฒนาครูในลักษณะนี้มี 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

1.)     การพัฒนาตนเองโดยไม่มีวิทยากรหรือมีเป็นครั้งคราว

2.)     การพัฒนาตนเองโดยมีวิทยากรช่วยชี้นำ แนะแนวและช่วยเหลือ

3.)     การพัฒนาตนเองโดยผสานแบบที่ 1 และ 2 ตามสภาพปัญหา และความเหมาะสมอื่นๆ ของผู้เข้าร่วมพัฒนารวมทั้งบริบทต่างๆ

การพัฒนาครูลักษณะนี้ตรงกับแนวทางจัดการเรียนรู้ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  ที่ถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด การพัฒนาผู้เรียนถือว่าผู้เรียนสำคัญฉันใด การพัฒนาครูก็ถือว่าครูสำคัญฉันนั้น

กระบวนการพัฒนาครู  มีขั้นตอนสำคัญดังนี้

1.     ศึกษาและวิเคราะห์มาตรฐานและคุณภาพของครู ตามที่องค์กรวิชาชีพครูกำหนดขึ้น รวมทั้งมาตรฐานและคุณภาพของครูที่หน่วยงานและสถานศึกษากำหนดขึ้น

2.       ประเมินครูว่ามีมาตรฐานและคุณภาพตามที่กำหนดในข้อ 1 หรือไม่

3.     วิเคราะห์ผลการประเมินครูตามข้อ 2 เพื่อทราบว่าครูคนใด กลุ่มใด โรงเรียนใด เขตพื้นที่การศึกษาใด ประพฤติปฏิบัติตนและปฏิบัติงานได้ครบถ้วนตามมาตรฐานหรือบกพร่องด้านใด แต่ละด้านมีคุณภาพอยู่ในระดับใด ผู้ใด กลุ่มใด โรงเรียนใด เขตพื้นที่ใด ต้องพัฒนาด้านใดก่อนและหลัง หรือพัฒนาไปพร้อมกัน

4.     จัดกลุ่มครูที่จะพัฒนา (หมายถึงพัฒนาตนเองหรือรับการพัฒนา) อาจจัดเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม โดยพิจารณาจากสภาพและปัญหาที่ค้นพบในข้อ 3 เป็นหลัก และองค์ประกอบอื่นๆ เช่น งบประมาณ ระยะเวลา วิทยากร เป็นรอง

5.     กำหนดรูปแบบและกิจกรรมการพัฒนาว่าจะใช้รูปแบบและกิจกรรมใด ในช่วงเวลาใด ปฏิบัติที่ไหน ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดกำกับดูแล ใช้สื่อและเทคโนโลยีอะไร ประเมินผลและรายงานผลอย่างไร

6.     ปฏิบัติการพัฒนาตามแผนงานที่กำหนด กำกับดูแล สนับสนุน ช่วยเหลือ ติดตามประเมินผลเป็นระยะ นำผลมาวิเคราะห์และพัฒนาต่อไป รวมทั้งนำผลการพัฒนามาให้รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติ หรือนำผลการพัฒนาไปในเรื่องอื่นๆ เช่น การเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน

 

 

สรุปการพัฒนาครูและวิชาชีพครูจะต้องคำนึงถึง

1.       การสร้างความพร้อม

เพื่อสร้างความพร้อมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นวิชาชั้นสูงได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สำนักงานปฏิรูปการศึกษาจึงกำหนดมาตรการดำเนินการสองระยะ คือ

ระยะที่ 1  เตรียมความพร้อม ให้แกผู้บริหารสถานศึกษา ครูประจำการ ผู้นำชุมชน และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดหลักสูตรระยะสั้นเร่งรัด เพื่ออบรมพัฒนาให้เกิดความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่และทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิรูปการศึกษา การอบรมดังกล่าวนี้ใช้รูปแบบวิธีการศึกษาทางไกลโดยสื่อประสม ทั้งนี้ ผลการอบรมอาจจะใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบการพิจารณาให้ได้รับใบอนุญาตประกอบอาชีพสำหรับครู ผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาด้วย

การดำเนินการส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการประสานโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยทุกฝ่าย ทั้งหน่วยผลิตครู หน่วยใช้ครูและองค์กรวิชาชีพ โดยสำนักงานปฏิรูปการศึกษาทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ระยะที่  สร้างกลไกการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบต่อเนื่องจากการดำเนินงานระยะแรก เพื่อส่งเสริมให้มีการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพครู และผู้บริหารให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ สถาบันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ในการกำกับดูแลของกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมสถาบันนี้ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันผลิตและพัฒนาครู สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่างๆ และสภาวิชาชีพชั้นสูง

2.       ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและผู้บริหาร และองค์กรวิชาชีพ

เพื่อยกระดับวิชาชีพครูและผู้บริหารให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ผู้ประกอบวิชาชีพครูและผู้บริหารการศึกษาควรได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา โดยจะมีองค์กรวิชาชีพ ได้แก่ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมทั้งรับรองหลักสูตรการศึกษาของสถาบันผลิตและพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานวิชาชีพครูและผู้บริหารการศึกษาจะต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่องค์กรวิชาชีพกำหนด หากไม่มีการพัฒนาตนเองแล้วจะมีผลให้ถูกพักใช้หรือถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย

3.       การผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา

เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง หลักสูตรระดับปริญญาตรีทางการศึกษาจะได้รับการพัฒนาเป็นหลักสูตร 5 ปี สำหรับผู้สำเต็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น ให้ศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการศึกษา 1 ปี และโดยที่วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่เน้นผลการปฏิบัติได้จริง จึงได้กำหนดให้ต้องมีการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาที่สภาครูและบุคลากรทางการศึกษารับรองเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี รวมทั้งต้องผ่านการประเมินการปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่องค์กรวิชาชีพกำหนดอีกด้วย

เมื่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมีผลบังคับใช้แล้วจะมีการประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ สามารถพัฒนาตนเองให้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ต่อไป

คุณลักษณะของครูที่ดี

                สังคมคาดหวังว่า “ครู คือ แบบอย่างที่ดีของศิษย์เป็นผู้สร้างสมาชิกใหม่ของสังคมให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพแก่สังคม ผู้ดำเนินอาชีพครูจึงจะต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และใฝ่พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิชาการตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ และครูยังต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับธรรมชาติของอาชีพ

เอกลักษณ์ของครู

                เอกลักษณ์ของครูตามผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้แก่

1.       อดทน รู้จักผ่อนปรนต่อปัญหา สามารถควบคุมอารมณ์ได้ทั้งในเวลาและนอกเวลาสอน

2.       รับผิดชอบต่อหน้าที่และต่อตนเอง สามารถร่วมงานเป็นหมู่คณะได้

3.       เอาใจใส่ต่อการเรียน ความประพฤติ ความเป็นอยู่ และพิจารณาคุณค่าของศิษย์แต่ละคนด้วยเหตุผล

4.       ใฝ่หาความรู้ สำรวจ ปรับปรุงแก้ไขตนเองอยู่เสมอ และมีเชาวน์ในด้านการ

      อบรมสั่งสอน

5.       ขยันหมั่นเพียร รู้จักคิดริเริ่ม

6.       มีความยุติธรรมและทำให้ศิษย์เกิดความอบอุ่นใจ

7.       ดำรงตนอย่างเรียบง่าย ประหยัดเหมาะสมกับสภาพอาชีพ

8.       เป็นผู้มีวัฒนธรรมและศีลธรรมตามศาสนาที่ตนนับถือ

9.       สุภาพเรียบร้อย ประพฤติดีสม่ำเสมอ เหมาะสมเป็นตัวอย่างที่ดีของศิษย์

ลักษณะของครูที่ดี

ลักษณะของครูที่ดีตามแนวพระพุทธศาสนา

                ลักษณะของครูที่ดีคือคำสอนเรื่อง กัลยาณมิตรธรรม 7 ซึ่งมีสาระดังนี้

1.     ปิโย แปลว่า น่ารัก หมายถึง ครูต้องเป็นผู้ให้ความสนิทสนมแก่ศิษย์เพื่อให้ศิษย์มีความสบายใจและกล้าที่จะเข้าไปปรึกษาหารือเรื่องต่างๆ

2.        ครุ แปลว่า น่าเคารพ หมายถึง ครูจะต้องดูแลและปกครองศิษย์ ให้ศิษย์มีความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้ และรู้สึกปลอดภัย

3.     ภาวนีโย แปลว่า น่าเจริญใจ น่ายกย่องในฐานะผู้ทรงคุณ หมายถึง ครูจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง เป็นผู้ที่ฝึกอบรมและปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ

4.        วัตตา แปลว่า รู้จักพูดให้ได้ผล หมายถึง ครูจะต้องรู้จักพูดให้ศิษย์เข้าใจได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

5.        วจนักขโม แปลว่า อดทนต่อถ้อยคำ หมายถึง ครูต้องพร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา

6.        คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา แปลว่า แถลงเรื่องล้ำลึกได้ หมายถึง ครูต้องสามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย

7.        โน จัฏฐาเน นิโยชเย แปลว่า ไม่ชักนำในเรื่องเหลวไหล หมายถึง ครูไม่ชักจูงศิษย์ไปในทางที่เสื่อมเสีย

ลักษณะของครูที่ดีตามแนวคิดในวงการการศึกษาตะวันตก

1.       เป็นผู้มีความรอบรู้

2.       เป็นผู้มีอารมณ์ขัน

3.       เป็นผู้มีความยืดหยุ่นผ่อนปรน

4.       เป็นผู้มีความตั้งใจในการทำงาน

5.       เป็นผู้มีความซื่อสัตย์

6.       เป็นผู้มีความสามารถสร้างความชัดเจน

7.       เป็นคนเปิดเผย

8.       เป็นผู้มีความอดทน

9.       เป็นแบบอย่างที่ดี

10.    เป็นผู้สามารถประยุกต์ทฤษฏีไปปฏิบัติได้

11.    เป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตนเอง

12.    เป็นผู้มีความสามารถในศิลปะวิทยาการหลายๆ ด้าน

13.    เป็นผู้แต่งกายเหมาะสมและมีสุขอนามัยส่วนบุคคลดี

ลักษณะของครูที่ดีจากผลการวิจัยต่างๆ

                สรุปลักษณะของครูที่ดีจากผลการวิจัยต่างๆ ได้ดังนี้

1.       คุณลักษณะทางด้านส่วนบุคคล

1.1     ความประพฤติดี

1.2     มีความรู้ในวิธีสอนดี

1.3     สุขภาพกายดี

1.4     มีสุขภาพจิตดี

1.5     บุคลิกภาพดี

1.6     ความตรงต่อเวลา

1.7     เจตคติที่ดีต่อศิษย์

1.8     ความสามารถในการพูด

2.       คุณลักษณะทางด้านวิชาการและงานครู

2.1     รอบรู้วิทยาการกว้างขวาง

2.2     มีความรู้ในวิชาที่สอนดี

2.3     มีความรู้ในวิธีสอนดี

2.4     มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

2.5     เจตคติดีต่ออาชีพ ครูต้องมีศรัทธาต่องานครู

2.6     มีความสามารถในการปรับบทเรียนให้กับนักเรียน

2.7     มีความเข้าใจศิษย์

2.8     มีความสามารถในการใช้กลวิธีการสอนต่างๆ

3.       คุณลักษณะทางด้านสังคม

3.1     สัมพันธภาพที่ดีกับศิษย์

3.2     สัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนครู

3.3     สัมพันธภาพที่ดีกับผู้ปกครอง

3.4     สัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคลทั่วไปในชุมชนและท้องถิ่น

ลักษณะของครูที่ดีจากการศึกษาวิเคราะห์ประวัติครูดีเด่น

1.       มีความตั้งใจทำงานอย่างจริงจังด้วยความรัก และรับผิดชอบ

2.       มีความขยันขันแข็ง

3.       มีความเสียสละ

4.       เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน

5.       อุทิศเวลาให้แก่งานราชการ

6.       มีกิริยามารยาทเรียบร้อย

7.       มีความเมตตากรุณา มีความซื่อสัตย์สุจริต

8.       มีอารมณ์แจ่มใสร่าเริง มีอารมณ์ขัน มีอัธยาศัยดี

9.       มีจิตใจโอบอ้อมอารี ประกอบแต่กรรมดี เป็นคนที่เฉลียวฉลาด เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม

10.    เป็นคนไม่ถือตัว

11.    มีความคิดกว้างไกล มีความสุขุมรอบคอบ มีความกตัญญู มีความยุติธรรมแก่ทุกคน

12.    ทำงานโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นคนตรงต่อเวลา

13.    ให้เกียรติยกย่องผู้อื่น

14.    มีความเป็นผู้นำ มีขันติ รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีระเบียบวินัย

                ลักษณะของ ครูที่ดี ตามทัศนะต่างๆ ดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมีทัศนะที่คล้ายคลึงกัน สรุปลักษณะของครูที่ดี เป็นลักษณะสำคัญๆ 3 ด้านได้ดังนี้

1.       ภูมิรู้ ได้แก่ เป็นผู้ที่มีสติปัญญาดี เชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เป็นต้น

2.       ภูมิธรรม ได้แก่ การประพฤติดี กระทำแต่สิ่งที่ดีที่สุจริต ทั้งกาย วาจา และใจ ครูต้องมีจรรยาบรรณและคุณธรรมสูง

3.     ภูมิฐาน ได้แก่ บุคลิกภาพดี พูดจาไพเราะนุ่มนวล น้ำเสียงชัดเจน มีลักษณะเป็นผู้นำ เป็นต้น ครูต้องเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีอัธยาศัยไมตรีกับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น

ลักษณะของครูที่ดีตามเกณฑ์มาตรฐานของคุรุสภา

                ครูควรมีคุณลักษณะ 4 ประการดังนี้

1.     รอบรู้ คือ ครูจะต้องมีความรอบรู้ในวิชาชีพของตน เช่น ปรัชญาการศึกษา แผนและโครงการพัฒนาการศึกษา วิธีสอนและวิธีประเมินผลการศึกษาในวิชาหรือกิจการที่ตนรับผิดชอบ ครูควรมีความรู้เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมของตนและของโลก

2.     สอนดี คือ ครูจะต้องทำการสอนอย่างมีประสิทธิภาพมีการพัฒนาการสอนให้สอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของนักเรียน

3.     มีคุณธรรมและจรรยาบรรณ คือ ครูต้องมีศรัทธาในวิชาชีพครู ตั้งใจใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพเพื่อให้บริการแก่นักเรียนและสังคม มีความซื่อสัตย์ มีความรัก ความเมตตาและความปรารถนาดีต่อนักเรียน อุทิศตนและเวลาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับความเจริญเติบโตและพัฒนาการในทุกด้าน

4.     มุ่งมั่นพัฒนา คือ ครูต้องรู้จักสำรวจและปรับปรุงตนเอง สนใจใฝ่รู้และศึกษาหาความรู้ต่างๆ รู้จักเพิ่มพูนวิทยฐานะของตนเอง พยายามคิดค้นทดลองใช้วิธีการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน และร่วมพัฒนาชุมชนด้วย

การสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู

คุณภาพของความเป็นครูนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยองค์ประกอบสำคัญหลายประการ ปัจจัยสำคัญเบื้องต้นประการหนึ่งก็คือ ความศรัทธาในอาชีพครู ความศรัทธานี้จะเป็นรากฐานที่จะช่วยให้การประกอบอาชีพครูเป็นไปได้ด้วยดี มีความสุข และก่อประโยชน์ให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย คือทำให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิต ความศรัทธาในอาชีพครู เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังเพื่อให้เกิดความศรัทธาที่ถูกต้องเป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ เครื่องช่วยในการสร้างความศรัทธาที่ถูกต้องก็คือหลักศาสนาที่ดีนั่นเอง

หลักธรรมในศาสนาเพื่อปลูกฝังความศรัทธาในอาชีพครู

1.       ฆราวาสธรรม 4 เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการครองเรือนและหลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์ ประกอบด้วย

1.1     สัจจะ หมายถึง ความจริง ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง

1.2     ทมะ หมายถึง การฝึกฝน การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง

1.3   ขันติ หมายถึง ความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้าแข็ง ไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย

1.4     จาคะ หมายถึง ความเสียสละ สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตัวได้ ใจกว้าง

2.     ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ 4 เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันแก่ตนเองและสังคม ประกอบด้วย

2.1   อุฏฐานสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความหมั่นรู้จักใช้สติปัญญาและความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ ให้บรรลุผลสำเร็จดังที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้

2.2     อารักขสัมปทา หมายถึง การพร้อมด้วยการรักษา

2.3     กัลยาณมิตตตา หมายถึง การคบเพื่อนที่ดี ไม่คบมิตรชั่ว

2.4     สมชีวิตา หมายถึง การดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม

3.       พรหมวิหาร 4 เป็นธรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ประกอบด้วย

3.1     เมตตา หมายถึง ความรักใคร่ ปรารถนาดี มีจิตใจอันแผ่ไมตรี

3.2     กรุณา หมายถึง ความสงสาร ช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

3.3     มุทิตา หมายถึง ความยินดีในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตใจผ่องใส

3.4     อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง

4.       พลธรรม 4 หมายถึง ธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการทำงานอย่างมีพลัง ประกอบด้วย

4.1     ปัญญาพละ หมายถึง กำลังปัญญา ความรอบรู้ทุกอย่างที่ควรรอบรู้

4.2     วิริยพละ หมายถึง กำลังความเพียร ไม่ท้อถอย มุ่งมั่นความก้าวหน้า

4.3     อนวัชชพละ หมายถึง กำลังสุจริต เช่น พูดจริง มีเหตุผล มุ่งดี ทำการด้วยเจตนาบริสุทธิ์

4.4     สังคหพละ หมายถึง กำลังการสงเคราะห์ สงเคราะห์ด้วยทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตา

5.     สังคหวัตถุธรรม 4 เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับวิธีการยึดเหนี่ยวจิตใจบุคคล และการประสานความสามัคคี ประกอบด้วย

5.1     ทาน หมายถึง การให้โดยปกติ หมายถึง ช่วยเหลือในด้านทุน ตลอดจนการให้คำแนะนำสั่งสอน

5.2     ปิยวาจา หมายถึง พูดด้วยน้ำใจหวังดี มุ่งให้เป็นประโยชน์

5.3     อัตถจริยา หมายถึง การประพฤติอันเป็นประโยชน์

5.4     สมานัตตา หมายถึง ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย

6.       สัมปรายิกัตถประโยชน์ 4 เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ ประกอบด้วย

6.1   สัทธาสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความศรัทธาโดยที่ต้องเป็นความศรัทธาที่มีความเชื่อมั่นว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมและพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้

6.2     ศีลสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยศีล ครูผู้มีศีลคือครูผู้มีความยั้งคิดไม่กระทำบาปหรือประพฤติผิด

6.3   จาคสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยเสียสละ ครูเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละ โดยการอุทิศเวลาให้กับศิษย์ การไม่แสวงหาประโยชน์ใดๆ จากศิษย์

6.4     ปัญญาสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยปัญญา ครูต้องใช้ปัญญาเพื่อสร้างศิษย์ สร้างสรรค์สังคม

7.       อธิษฐานธรรม 4 เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล ประกอบด้วย

7.1     ปัญญา หมายถึง ความรู้ชัด หยั่งรู้ในเหตุผล

7.2     สัจจะ หมายถึง ความจริง

7.3     จาคะ หมายถึง ความสละ

7.4     อุปสมะ หมายถึง ความสงบ

8.       อิทธิบาท 4 เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับวิธีการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย

8.1     ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ ความต้องการที่จะทำ

8.2     วิริยะ หมายถึง ความเพียร

8.3     จิตตะ หมายถึง ความคิด ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด

8.4     วิมังสา หมายถึง ความไตร่ตรอง

ความศรัทธากับอาชีพครู

                ความศรัทธาในอาชีพครูก็คือความเชื่อมั่นในอาชีพครูหรือความเลื่อมใสในอาชีพครูว่าเป็นอาชีพที่ดี เป็นอาชีพที่มีคุณค่าต่อตนเอง มีคุณค่าต่อมนุษย์ และมีคุณค่าต่อสังคม เป็นวิชาชีพที่ช่วยสร้างโลกนั่นเอง

สมรรถภาพความเป็นครู

ครูควรมีสมรรถภาพด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.       สมรรถภาพด้านการสอน

1.1     รู้จักใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้เข้าช่วย

1.2     เสริมด้วยหลักจิตวิทยาพัฒนาการของเด็ก

1.3     วางแผนจัดการเรียนการสอนอย่างละเอียดและสุขุม

1.4     มีทักษะในการเลือกใช้เทคนิคการสอนที่เหมาะสม

1.5     ใช้เทคนิคการวัดและประเมินผลการสอนที่มีประสิทธิภาพ

1.6     ปกครองชั้นและบริหารงานของชั้นได้อย่างราบรื่น และปฏิบัติงานของโรงเรียนที่ได้รับมอบหมายได้ด้วยดี

2.       สมรรถภาพด้านการอบรม แนะแนว และปกครอง

2.1   รู้จักสร้างหลักการปกครองที่ดี การปกครองที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การปกครองตนเอง คนที่ปกครองตนเองได้ย่อมง่ายแก่การปกครองโดยส่วนรวม เพราะฉะนั้นครูต้องสร้างสำนึกแห่งการปกครองตนเองให้แก่นักเรียน

2.2     ใช้หลักการ วิธีการ และข้อมูลที่ได้จากการแนะแนวและอื่นๆ มาใช้กับการปกครอง

2.3     สร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างตนกับผู้ปกครอง

2.4     ใช้ผลการวิจัยให้เป็นประโยชน์ในการให้การอบรม

3.       สมรรถภาพด้านการจัดกิจกรรมของโรงเรียน

3.1     เข้าใจและเห็นความสำคัญของกิจกรรมในและร่วมหลักสูตร

3.2     รับหน้าที่ในการจัดกิจกรรมด้วยความเต็มใจ

3.3     รักษาสัมพันธภาพอันดีกับผู้ร่วมงาน

4.       สมรรถภาพด้านการสร้างเสริมสัมพันธภาพและความร่วมมือกับชุมชน

4.1     วางตนให้สมกับที่เป็นครู

4.2     ช่วยเหลือปรับปรุงชุมชนตามความเหมาะสม

4.3     บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนตามความเหมาะสม

5.       สมรรถภาพในการเป็นครูชั้นอาชีพ

5.1     เพิ่มพูนความรู้ในวงวิชาชีพตนด้วยการเรียน การพูด การค้นคว้าที่เกี่ยวกับอาชีพ

5.2     เป็นสมาชิกของสมาคมหรือองค์การทางวิชาการ วิชาชีพ

5.3     ยึดถือขนบธรรมเนียมผู้เป็นครูอย่างเคร่งครัด

5.4     ส่งเสริมตนเองให้งอกงามในวิชาชีพอยู่เสมอ

5.5     ช่วยเหลือแนะนำครูใหม่ ดูแลนักศึกษาสอนให้เข้าใจงานในหน้าที่และครองตนอยู่ในคุณธรรมครู

การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

1.       แสวงหาและใช้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนและชุมชน

การรู้จักผู้เรียนและชุมชนเป็นปฐมบทของงานของครู ครูต้องแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนและชุมชนให้ได้มากที่สุดและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนที่ครูควรรู้ได้แก่ สุขภาพกาย สุขภาพจิตภาวะโภชนาการ ความสนใจ ความถนัด ความสามารถ อารมณ์ เชาวน์ปัญญา ประสบการณ์และความรู้ สภาพครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม เพื่อน การเดินทาง จำนวนเงินที่นำมาโรงเรียน อาหารกลางวัน ฯลฯ ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนและชุมชนที่ควรรู้ ได้แก่ บุคลากรในโรงเรียนและในท้องถิ่น ภูมิศาสตร์และธรรมชาติแวดล้อม ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติความเป็นมา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ

วิธีการหาข้อมูลอาจใช้การสังเกต สัมภาษณ์ ตรวจสอบเอกสาร ศึกษาค้นคว้าจากหนังสือหรือสื่อต่างๆ การจัดเก็บข้อมูลควรทำเป็นระบบ เช่น บันทึกในบัตร หรือแผ่นดิสก์ตามความเหมาะสม

2.       วิเคราะห์ผู้เรียนและชุมชน

เมื่อมีข้อมูลแล้วต้องนำมาใช้ประโยชน์ วิเคราะห์เบื้องต้นด้วยการใช้ “7 คำถาม” ได้แก่ ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เท่าไร ทำไม ซึ่งต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาชีพอาจแยกเป็นส่วนๆ เช่น วิเคราะห์พฤติกรรมหรือสภาพที่เป็นอยู่ สาเหตุ ความเป็นมา ฯลฯ

3.       แสวงหาความรู้ทั่วไปและความรู้วิชาที่จัดการเรียนรู้

ครูต้องรู้และเข้าใจกระบวนการและเนื้อหาวิชาที่ “สอน” หรือจัดการเรียนรู้ ความรู้ที่ครูควรรู้อย่างลึกซึ้งกว้างไกล ได้แก่ (1) วิชาที่สอน (2) ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับมนุษย์ โลก ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม

ครูต้องอ่านหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ต่างๆ เป็นประจำ หาความรู้จากวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งจากสื่ออื่นๆ เช่น เทป วิดีโอ ดิสก์และอินเตอร์เน็ต ครูต้องเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมประชุมสัมมนา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิชาชีพครู แต่ไม่ควร “ยึดติด” ในองค์ความรู้ทฤษฏีใดทฤษฏีหนึ่ง ต้องเปิดใจกว้างรับองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องเดียวกัน

4.       แสวงหาความรู้และความเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน

ครูจำเป็นต้องรู้และเข้าใจธรรมชาติและสังคมของมนุษย์วัยต่างๆ มากเป็นพิเศษ ในเรื่องของร่างกาย สมอง อารมณ์ สังคม จิตใจ ปัญญา ความจำ ฯลฯ ตามปกติครูเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสังคมของผู้เรียนตามหลักสูตรของสถาบันฝึกหัดครู เช่น จิตวิทยาการเรียนรู้ พัฒนาการของเด็ก จิตวิทยาวัยรุ่น เป็นต้น รวมทั้งจากการสังเกตวิเคราะห์จากประการณ์ตรง

5.       เรียนรู้ตลอดชีวิตจากธรรมชาติและสังคมแวดล้อม

ครูในฐานะผู้จัดการเรียนรู้ ต้องฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและสังคม การเรียนรู้จากธรรมชาติทำได้ด้วยการสังเกต บันทึก วิเคราะห์ธรรมชาติที่พบที่เป็นแผ่นดิน ภูเขา ป่าไม้ ทะเล สายน้ำ ท้องฟ้า ดวงดาว สัตว์ ฯลฯ เรียนรู้จากสังคม ได้แก่ สมาชิกในโรงเรียน สมาชิกในชุมชน สมาชิกของชาติ จนถึงการเป็นสมาชิกของประชาคมโลก เรียนรู้ในฐานะผู้ให้และผู้รับ เรียนรู้จากการใช้สิทธิและการทำหน้าที่ องค์ประกอบที่เป็นเทคโนโลยี เช่น อาคารบ้านเรือน ถนนหนทาง เทคโนโลยีการสื่อสาร หนังสือและสิ่งพิมพ์ ฯลฯ ถือว่าเป็นสังคมแวดล้อมที่ต้องเรียนรู้ การเรียนรู้จากธรรมชาติและสังคมแวดล้อม ต้องกระทำทั้งในฐานะผู้บริโภค ผู้อนุรักษ์และผู้พัฒนา

6.       เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

ครูมืออาชีพต้องฝึกตนเองให้เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นคน “ชอบทำ” คือ พูดแล้วต้องทำ ผลจะออกมาอย่างไรไม่ต้องกังวล ถ้าครู “ดีแต่พูด” นิสัยนี้อาจตกทอดไปถึงผู้เรียนจะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากตำราหรือการบอกเล่าเท่านั้น ซึ่งได้ผลการพัฒนาไม่ยั่งยืนเท่ากับการเรียนรู้จากการทำจริง

7.       เรียนรู้จากการค้นคว้าด้วยตนเอง

ครูต้องฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการค้นคว้าจากหนังสือ วารสาร ตำรา จากการสัมภาษณ์ จากแหล่งวิทยาการ ต้องรู้วิธีอ่านจับใจความและสรุปความ และจดบันทึกสาระสำคัญ ไม่ใช่การค้นคว้าด้วยการถ่ายสำเนาหนังสือหน้าต่อหน้า แล้วเอามารวมเป็นรายงาน หรือสั่งให้ผู้อื่นไปค้นหาข้อมูลและความรู้มาให้

8.       เรียนรู้จากการทดลอง

ครูควรพัฒนาตนเองให้มีนิสัยและทักษะในการทดลองในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การใช้พลังงาน (ไฟฟ้า น้ำประปา แก๊ส น้ำมัน) กำหนดจุดมุ่งหมาย ระยะเวลา เงื่อนไข มีการบันทึกผลและสรุปผล นอกจากสร้างนิสัยที่ดีแล้วยังอาจทำให้ค้นพบความรู้ แนวทางและวิธีการที่มีประโยชน์อีกด้วย

9.       เรียนรู้จากการ “ดูและเรียนงาน” จากผู้อื่น

ครูต้องเข้าใจวิธีเรียนรู้ด้วยการดูงาน ตั้งแต่ขั้นกำหนดจุดประสงค์ เตรียมการ วางแผน กำหนดเวลา สถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ติดต่อประสานงาน แบ่งงานและความรับผิดชอบ จนถึงขั้นประเมินผลและรายงานผล

10.    สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

การสร้างองค์ความรู้เป็นสุดยอดของการเรียนรู้ ครูสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองจากกระบวนการรับรู้ด้วยการสังเกต ดู ฟัง อ่าน สัมผัส ทดลอง รวมทั้งการจดจำความรู้สำเร็จรูป จากนั้นจึงสังเคราะห์หรือสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา โดยใช้จินตนาการและความริเริ่มเป็นเครื่องชี้นำ องค์ความรู้ใหม่อาจคล้ายกับความรู้เดิมและอาจมีส่วนที่แตกต่างบ้าง ความรู้ใหม่ไม่จำเป็นต้องดีกว่าความรู้เดิมเสมอไป แต่การสร้างความรู้ใหม่มีคุณค่าต่อการพัฒนามนุษย์ในระยะยาว เป็นการฝึกให้คนสามารถสร้างสิ่งใหม่ขึ้น และพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ของใหม่มักจะดีและมีคุณค่าต่อชีวิตกว่าของเก่า

11.    มีความรู้และพัฒนาความรู้และทักษะวิชาชีพอยู่เสมอ

วิชาชีพครูมีศาสตร์หรือวิชาเกี่ยวกับการเรียนการสอน ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า “การจัดการเรียนรู้” ประกอบด้วย ความรู้และทักษะต่างๆ ในการถ่ายทอดความรู้ การฝึกฝน อบรม การแนะนำ การเป็นพี่เลี้ยง การให้กำลังใจ การเป็นแบบอย่าง การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เอง ฯลฯ

การเป็นผู้นำทางวิชาการ

หน้าที่ของผู้นำ

1.       ทำหน้าที่เป็นผู้บริหาร

2.       ทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนการทำงาน

3.       ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย

4.       ทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ

5.       ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกลุ่ม

6.       ทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม

7.       ทำหน้าที่เป็นผู้ให้รางวัลหรือลงโทษแก่สมาชิกในกลุ่ม

8.       ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดและเป็นผู้ประนีประนอม

9.       ทำหน้าที่เป็นแบบอย่างแห่งพฤติกรรม

10.    ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม

11.    ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนรับผิดชอบการทำงาน

บทบาทของผู้นำกับการบริหาร

1.     การบริหารจำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัยการบริหารหลายอย่างที่สำคัญคือ คนหลายคน ไม่ใช่งานที่ผู้บริหารจะต้องทำคนเดียว จำเป็นจะต้องมีการจัดแบ่งงานกันทำ

2.       การกำหนดนโยบายควรมีลักษณะที่เกิดจากผู้ทำงานทุกคนได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ

3.     การปฏิบัติงานใดๆ จะต้องสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ และจะต้องมีการประสานงานกับหน่วยเหนือ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

4.       ให้อิสระแก่ผู้ร่วมงานในการปฏิบัติงานตามสมควร ส่งเสริมความคิดริเริ่มของผู้ร่วมงาน

5.       ผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงขวัญ และกำลังใจของผู้ร่วมงานเป็นสำคัญ

6.       ให้ผู้ร่วมงานได้ประสบความสำเร็จในการทำงานตามความสามารถของเขาไม่เบียดบังเอางานของผู้ร่วมงานมาเป็นของตน

7.       ต้องคำนึงถึงความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งปันผลประโยชน์จะต้องกระทำอย่างมีเหตุมีผล มีความเป็นปรนัย

8.       เทคนิคและศิลปะในการใช้คนให้เหมาะสมกับงาน จะทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด

9.       ความเชี่ยวชาญในการบูรณาการทฤษฏีบริหารต่างๆ มาใช้อย่างเหมาะสม ย่อมทำให้งานด้านการบริหารมีประสิทธิภาพ

จรรยาบรรณของวิชาชีพครู

จรรยาบรรณครูของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ

                สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับจรรยาบรรณครูไว้ในหมวดที่ 3 ว่าด้วยมาตรฐานการปฏิบัติตนของครูนั้น กำหนดว่าบทบัญญัติในหมวดนี้เป็นสิ่งที่ครูต้องถือปฏิบัติมี12 ข้อ ได้แก่

1.       ต้องรักษาความสามัคคี ชื่อเสียงของหมู่คณะ และสถานศึกษาที่สังกัดอยู่

2.       ต้องไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา

3.       ต้องรักษาชื่อเสียงมิให้ขึ้นชื่อว่าประพฤติชั่ว

4.       ไม่ละทิ้งการสอน อุทิศเวลาให้แก่ศิษย์ และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ

5.       ต้องรักษาความลับของศิษย์ เพื่อนร่วมงาน และสถานศึกษา

6.       ต้องถือปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมที่ดีของสถานศึกษา

7.       ต้องประพฤติและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและเที่ยงธรรมโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์อันมิชอบ

8.       ต้องไม่ปิดบังอำพราง หรือบิดเบือนเนื้อหาสาระทางวิชาการ

9.     ต้องไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามเพื่อนร่วมงาน และบุคคลใดๆ เชื่อฟัง และไม่กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งการในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

10.    ต้องไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของศิษย์ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

11.    ต้องไม่นำ หรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ

12.    ต้องไม่นำผลงานของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน

จรรยาบรรณครูของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติไม่มีกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ จึงไม่เป็นที่สิ้นสุดในการนำไปใช้ในวงการครูทั่วไป