คุณภาพชีวิต กับ การ ทํา งาน

คุณภาพชีวิตกับการทำงาน

    การทำงานมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ปฏิบัติมากกว่ากิจกรรมใดๆ และในอนาคตอันใกล้มนุษย์จำเป็นต้องใช้เวลา

ของชีวิตเกี่ยวข้องกับการทำงานเพิ่มขึ้นไปอีก คุณภาพชีวิตของการทำงานมีความสำคัญยิ่งในการทำงาน เพราะคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ในปัจจุบันคนเราทำงานเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้และตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ดังนั้นสถานที่ทำงานต้องมีความเหมาะสมคือ ทำให้เกิดความสุข ความมั่นคง หากเกิดความรู้สึกที่ดีต่องาน จะส่งผลดีต่อทั้งตัวบุคคลและองค์กร คุณภาพชีวิตการทำงานส่งผลต่อองค์กร 3ประการคือ

1.ช่วยเพิ่มผลผลิตขององค์กร

2.ช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานตลอดจนเป็นแรงจูงใจในการทำงาน

3.ช่วยปรับปรุงศักยภาพของผู้ทำงาน

คุณภาพชีวิตการทำงานคืออะไร

            การสร้างสรรค์บรรยากาศที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความพึงพอใจในการทำงานสูงขึ้นโดยผ่านการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาสำคัญขององค์กรเพื่อทำให้พนักงานหรือแรงงานได้รับความพึงพอใจสูงขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นประเด็นต่างๆได้ดังนี้

1.คุณภาพชีวิตการทำงานในความหมายที่กว้าง หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยว ข้องกับชีวิตการทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน ผลประโยชน์และบริการ ความก้าวหน้าในการทำงาน และการมีมนุษยสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แรงจูงใจและความพึงพอใจสำหรับคนงาน

2.คุณภาพชีวิตการทำงานในความหมายอย่างแคบ คือ ผลที่มีต่อคนงาน ซึ่ง หมายถึง การปรับปรุงในองค์การและลักษณะงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานควรได้รับการ พิจารณาเป็นพิเศษสำหรับการส่งเสริมระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของแต่ละบุคคล และรวมถึงความต้องการของพนักงานในเรื่องความพึงพอใจในงาน การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะมีผลต่อสภาพการทำงานของเขาด้วย

3.คุณภาพชีวิตการทำงานในแง่มุมที่หมายถึงการคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ในการทำงาน(Humanization of Work) ซึ่งประเทศฝรั่งเศสและประเทศที่พูดภาษาฝรั่งใช้ คำว่า การปรับปรุงสภาพการทำงาน (Improvement of Working Condition) ประเทศสังคม นิยมใช้คำว่า การคุ้มครองแรงงาน (Workers' Protection) กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย หรือใน ญี่ปุ่นใช้คำว่าสภาพแวดล้อมการทำงาน (Working Environment) และความเป็นประชาธิปไตยในสถานที่ทำงาน(Democratization of the Workplace) คุณภาพชีวิตการทำงานมีความหมายครอบคลุมถึงวิธีการ แนวปฏิบัติหรือเทคโนโลยีที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจมากขึ้น ในการปรับปรุงผลลัพธ์ทั้งขององค์การและปัจเจกบุคคล ตามลำดับ

            ซึ่งจากความหมายโดยรวมแล้วก็จะเน้นเป้าหมายสำคัญ คือ การอยู่ร่วมกันเพื่อเพิ่มความพึงพอใจในงานที่ทำ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต

Richard E. Walton ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับลักษณะสำคัญที่ประกอบขึ้นเป็นคุณภาพชีวิตการทำงานในหนังสือ Creteria for Quality of Working life โดยแบ่งออก เป็น 8 ประการ คือ

  1. ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอ (adequate and fair compensation) หมายถึง การที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับค่าจ้าง เงินเดือน ค่าตอบแทน และผลประโยชน์อื่นๆ อย่าง เพียงพอกับการมีชีวิตอยู่ได้ตามมาตรฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และต้องเป็นธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับงานหรือองค์การอื่นๆ ด้วย
    1. สิ่งแวดล้อมที่ถูกลักษณะและปลอดภัย (safe and healthy environment) หมายถึง สิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางด้านจิตใจ นั่นคือ สภาพการทำงานต้องไม่มีลักษณะที่ต้องเสี่ยงภัยจนเกินไป และจะต้องช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกสะดวกสบาย และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย
    2. เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้พัฒนาความรู้ความสามารถได้เป็นอย่างดี (development of human capacities) งานที่ปฏิบัติอยู่นั้นจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติ งานได้ใช้และพัฒนาทักษะความรู้อย่างแท้จริงและรวมถึงการมีโอกาสได้ทำงานที่ตนยอมรับว่าสำคัญและมีความหมาย
    3. ลักษณะงานที่ส่งเสริมความเจริญเติบโตและความมั่นคงให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน (growth and security) นอกจากงานจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ความสามารถแล้ว ยังช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีโอกาสก้าวหน้า และมีความมั่นคงในอาชีพ ตลอดจนเป็นที่ยอมรับทั้งของเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัวของตน
    4. ลักษณะงานมีส่วนส่งเสริมด้านบูรณาการทางสังคมของผู้ปฏิบัติงาน (social integration) ซึ่งหมายความว่างานนั้นช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีโอกาสสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นๆ รวมถึงโอกาสที่เท่าเทียมกันในความก้าวหน้าที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบคุณธรรม
    5. ลักษณะงานที่ตั้งอยู่บนฐานของกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม (Constitutionalism) ซึ่งหมายถึง วิถีชีวิต และวัฒนธรรมในองค์การจะส่งเสริมให้ เกิดการเคารพสิทธิส่วนบุคคลมีความเป็นธรรมในการพิจารณาให้ผลตอบแทนและรางวัล รวมทั้งโอกาสที่แต่ละคนจะได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย มีเสรีภาพ ในการพูด มีความเสมอภาค และมีการปกครองด้วยกฎหมาย
    6. ความสมดุลระหว่างชีวิต กับการทำงานโดยส่วนรวม (the total life space) เป็นเรื่องของการเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้ใช้ชีวิตในการทำงานและชีวิตส่วนตัวนอก องค์การอย่างสมดุล นั่นคือต้องไม่ปล่อยให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับความกดดันจากการปฏิบัติงานมากเกินไป ด้วยการกำหนดชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยง การที่ต้องคร่ำเคร่งอยู่กับงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน หรือได้ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเพียงพอ
    7. ลักษณะงานมีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับสังคมโดยตรง (social relevance) ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สำคัญประการหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องรู้สึก และยอมรับว่าองค์การที่ตนปฏิบัติงานอยู่นั้นรับผิดชอบต่อสังคมในด้านต่างๆ ทั้งในด้านผลผลิต การจำกัดของเสีย การรักษาสภาพแวดล้อม การปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงาน และเทคนิคด้านการตลาด

ความสำคัญของคุณภาพชีวิตการทำงาน

            บุคคลที่ใช้ชีวิตการทำงานอยู่กับสิ่งที่ตนพอใจ ทำให้มีสภาพจิตใจและอารมณ์ที่ดี ซึ่งส่งผลให้ทำงานดีไปด้วย เพราะฉะนั้นแต่ละองค์กรต้องศึกษาและหาหนทางให้สอดคล้องกับความต้องการระหว่างองค์กรและพนักงาน เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายสูงสุด เหตุการณ์การประท้วงนายจ้างที่เกิดขึ้นตามข่าวส่วนใหญ่เกิดเพราะผู้ใช้แรงงานถูกลิดรอนสิทธิ์ คุณภาพชีวิตการทำงานต่ำลง ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งการผลิตที่ต้องหยุดชะงักลง การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย องค์กรเสียรายได้มหาศาล พนักงานขาดรายได้ ส่งผลต่อสังคมและประเทศชาติด้วย

การมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดี

            ต้องอาศัยปัจจัยคู่(Two-Factor Theory) ของเฟรดเดอริก เฮอร์ซเบอร์ก (Fredrick Herzberg) มาเป็นเครื่อง ช่วยในการชี้นำ นั่นคือ ปัจจัยจูงใจ (motivator factors) และปัจจัยสุขอนามัย (hygiene factors)

ปัจจัยจูงใจ (motivator factors) เป็นองค์ประกอบหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานโดยตรง (instrinsic aspects of the job) เป็นปัจจัยที่จูงใจบุคลากรในหน่วยงานให้เกิด ความพอใจ ซึ่งได้แก่

            1. ความสำเร็จของงาน (achievement)

            2. การได้รับการยอมรับนับถือ (recognition)

            3. ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน (advancement)

            4. ลักษณะของงาน (work itself)

            5. โอกาสที่จะก้าวหน้าในอนาคต (possibility of growth)

            6. ความรับผิดชอบ (responsibility)

ปัจจัยสุขอนามัย (hygiene factors) เป็นองค์ประกอบที่ไม่ใช่เกี่ยวกับตัวงานโดยตรง แต่มีความเกี่ยวโยงกับการปฏิบัติงาน (extrinsic factors) เป็นปัจจัยที่ไม่ใช่สิ่งจูงใจแต่ สามารถทำให้บุคลากรพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจที่จะปฏิบัติงานได้ ซึ่งมีอยู่ 10 ประการคือ

  1. การบังคับบัญชา (supervision)
  2. นโยบายบริหาร (policy and administration)
  3. สภาพการทำงาน (working condition)
  4. ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา (relations with superiors)
  5. ความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา (relation with subordinates)
  6. ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (relation with peers)
  7. ตำแหน่งในบริษัท (status)
  8. ความมั่นคงในงาน (job security)
  9. เงินเดือน (salary)
  10. ชีวิตส่วนตัว (personal life)

สรุป

            การสร้างคุณภาพชีวิตการทำงานเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญมากเพราะส่งผลต่อการทำงาน นำไปสู่ประสิทธิภาพของงาน ซึ่งก็คือการบรรลุเป้าหมายขององค์กร หากองค์กรทุกองค์กรคำนึงถึงการสร้างคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีแล้ว ย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

คุณภาพชีวิตการทำงานสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของเราอย่างไร

            ผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการทำงาน ฉะนั้นการทำงานถือเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิต การทำงานอย่างมีความสุขถือเป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้งานประสบความสำเร็จ การทำงานนอกจากจะนำรายได้มาสู่ตัวเราแล้ว ในฐานะที่เป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัดก็จะมองถึงเรื่องการจัดการเวลาในชีวิตอย่างเหมาะสมและความสุขร่วมด้วย ในอนาคตข้างหน้าเราต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีบทบาทแตกต่างกันไป การที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเราจะต้องเริ่มจากการบริหารเวลาในชีวิตอย่างสมดุล ซึ่งก็คือเราต้องรู้จักแบ่งเวลา ไม่เอาเวลาไปทำบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป ควรมีทั้งเวลาทำงาน พักผ่อน การมีส่วนร่วมกับผู้อื่นและการดูแลตนเอง ถ้าหากเราสามารถจัดการเวลาในชีวิตได้อย่างสมดุลแล้ว เราก็จะมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

            ดังนั้นองค์กรแต่ละองค์กรควรคำนึงถึงความสมดุลในการทำงานของพนักงานและแรงงานด้วย เพราะนอกจากจะทำให้งานมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะเกิดความรักความสามัคคีในองค์กร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จขององค์กร

เอกสารอ้างอิง

ผจญ เฉลิมสาร.คุณภาพชีวิตการทำงาน.สืบค้นข้อมูลเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 จาก

www.m-society.go.th/document/article/article_3489.doc

คุณภาพชีวิตการทำงาน.สืบค้นข้อมูลเมื่อ17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 จาก

www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q3/2009august03p8.htm 

คุณภาพชีวิตในการทำงาน.สืบค้นข้อมูลเมื่อ17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 จาก

http://library.uru.ac.th

วิริยะ สว่างโชติ. ค้นเมื่อ 30 กันยายน 2552. จากเว็บไซต์ http://www.thaingo.org

www.idis.ru.ac.th › ... › บริหารธุรกิจ › Organization

มาตรฐานระบบบริหารจัดการคุณภาพชีวิตการทำงานในสถานประกอบการ.สืบค้นข้อมูลเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 จาก

www.masci.or.th/services_other_th.php?servicesid=5&otherid.

คุณภาพชีวิตการทำงาน (Quality of Work Life).สืบค้นข้อมูลเมื่อ17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 จาก

rongkwangvet.igetweb.com/index.php?mo=3&art=231721 

องค์ประกอบของคุณภาพชีวิตในการทำงาน.สืบค้นข้อมูลเมื่อ17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 จาก

www.gotoknow.org/blogs/posts/380162

ดร. ทัศนา แสวงศักด์ิ.คุณลักษณะที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงานของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี(Charateristies Affecting Quality of Work Life of SchoolAdministrators in Pathumthani Educational Service Area Office).สืบค้นข้อมูลเมื่อ17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 จาก

www.edu.buu.ac.th/journal/.../Link_Jounal%20edu_18_1_4.pdf

ภาณุภาคย์ พงศ์อติชาต.สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน(Work-Life Balance).

สืบค้นข้อมูลเมื่อ17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555จาก

www.ocsc.go.th/ocsccms/uploads/File/WLB%20_1.pdf

จำเนียร จวงตระกูล.คุณภาพชีวิตในการทำงาน(Quality of Work Life).

สืบค้นข้อมูลเมื่อ17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 จาก

www.blcigroup.com/backend/work/file/09820221557.pdf