คัมภีร์ฉันทศาสตร์ 14 คัมภีร์

1. องค์ความรู้การแพทย์แผนไทย ได้แก่ ตำราการแพทย์แผนไทย คัมภีร์การแพทย์แผนไทย ตำรับยาแผนไทย และทฤษฎีการแพทย์แผนไทย

 

 1.1 ตำราการแพทย์แผนไทย ความรู้ที่ได้จากตำราการแพทย์แผนไทย คือ องค์ความรู้และ ประสบการณ์ของการแพทย์แผนไทยที่มีการบันทึกลงในสมุดไทย สมุดข่อย ใบลาน หรือวัสดุอื่นใดที่มีการถ่ายทอดและคัดลอกสืบต่อกันมา โดยมากตำรามักจะประกอบด้วยหลายๆ คัมภีร์แพทย์

          ตำราการแพทย์แผนไทยที่เป็นตำราหลักหรือตำรามาตรฐานที่ใช้ในการเรียนการสอนแพทย์แผนไทย โดยตำราที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง ประกอบด้วย

  1. ตำราเวชศึกษาของพระยาพิศณุประสาทเวช เล่ม 1-3
  2. ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง เล่ม 1-2
  3. ตำราคัมภีร์แพทย์แผนโบราณของขุนโสภิตบรรณาลักษณ์ เล่ม 1-3
  4. ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 1-3
  5. ตำราเวชศึกษาและตำราประมวลหลักเภสัชของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ (วัดพระเชตุพนฯ)

          และในส่วนของกลุ่มงานคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สังกัดสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อทำการศึกษา วิเคราะห์ และพิจารณาตำรับยาแผนไทยของชาติ ตำรับยาแผนไทยทั่วไปตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ และตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป และได้สรุปบัญชีรายชื่อตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ และตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป จากการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำตำรายาแผนไทย/ ตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ/ ทั่วไป ครั้งที่ 1 ดังนี้

ตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ  มีดังนี้

1) ตำรายาศิลาจารึกวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม จารึกในสมัยรัชกาลที่ 3
2) ตำรายาจารึกวัดราชโอรส จารึกในสมัยรัชกาลที่ 2
3) ตำราพระโอสถพระนารายณ์ เป็นตำราพระโอสถซึ่งหมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารายณ์
4) ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง เล่มที่ 1-2 ชำระตำราในสมัยรัชกาลที่ 5
5) เวชศาสตร์วัณณนาของพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง เล่ม 1-5
6) ตำราแพทย์สงเคราะห์ เล่ม 1-4
7) ตำราคัมภีร์แพทย์แผนโบราณของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เล่ม 1-3
8) ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ เล่ม 1-3
9) ตำราเวชศึกษาแพทย์ศาสตร์สังเขปของพระยาพิศนุประสาทเวช

ตำราการแพทย์ทั่วไป  มีดังนี้

  1. ตำราสมุนไพรลานนาของหน่วยงานศึกษาวิจัยคัมภีร์โบราณ
  2. ตำรายากลางบ้านของพระธรรมวิมลโมลี วัดเบญจมบพิตร
  3. ตำรายากลางบ้านของศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติ
  4. ประมวลสรรพคุณยาไทยของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ เล่ม 1-3
  5. ศัพท์แพทย์ไทยของหน่วยข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลล
  6. ตำรับยาแผนโบราณของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข
  7. ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไปของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข

          และมีตำราอีก 1 เล่ม ที่ไม่สามารถจัดเข้าเกณฑ์เป็นตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ หรือตำราการแพทย์ทั่วไป ได้แก่ อายุรเวทศึกษาของขุนนิเทสสุขกิจ แต่ภายหลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำตำรายาแผนไทย/ ตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ/ ทั่วไป ครั้งที่ 3 ได้ประกาศตำราการแพทย์ของชาติ ประกอบด้วย 4 เล่ม ดังนี้

  1. ตำราพระโอสถพระนารายณ์
  2. ตำรายาจารึกวัดราชโอรส
  3. ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
  4. ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง

          นอกจากตำราดังกล่าว ยังมีตำราที่ใช้ในการอ้างอิง และถือว่าเป็นตำราที่มีคุณค่าควรแก่การศึกษาและการอนุรักษ์  ได้แก่

1) ตำราพระโอสถครั้งรัชกาลที่ 2 ประกอบด้วยตำราในโรงพระโอสถ และตำราพระโอสถ รวบรวมและตรวจสอบโดยพระพงศ์อมรินทร์ราชนิกูล โอรสของพระเจ้าตากสิน
2)  ตำราสรรพคุณยาของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นตำราแพทย์แผนไทยที่แยกรายละเอียดสรรพคุณของส่วนต่างๆ ของสมุนไพรแต่ละชนิด
3)  ตำรายาฉบับพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
4)  ตำราไม้เทศเมืองไทยของหมอเสงี่ยม พงษ์บุญรอด
5)  แพทย์ศาสตร์นิเทสของขุนนิเทสสุขกิจ
6) แพทย์ตำบลของพระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี เล่ม 1-3
7) ตำราสรรพคุณยาไทยของพระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี
8) ตำราหมอประจำบ้านของพระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี
9) คู่มือนักทำยาของโกมารภัคค์
10) หมอไทยยาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ

          ตำราที่กล่าวมาเป็นเพียงสังเขป ยังมีตำราการแพทย์แผนไทยอีกหลายเล่มที่ควรมีไว้ใช้ในการศึกษา สำหรับการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย

1.2 คัมภีร์แพทย์แผนไทย คัมภีร์แผนไทยมีหลายคัมภีร์ ซึ่งมักจะรวบรวมอยู่ในตำราต่าง ๆ คัมภีร์ที่ควรศึกษาเป็นพื้นฐาน ได้แก่

1) คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย กล่าวถึง การค้นหาสาเหตุแห่งไข้ การวินิจฉัยโรค การตรวจโรค การพยากรณ์โรคและไข้ต่างๆ โดยกล่าวถึงกองพิกัดสมุฏฐาน 4 ประการ ได้แก่ ธาตุสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐาน และกาลสมุฏฐาน
2) คัมภีร์โรคนิทาน กล่าวถึง ความมรณะสิ้นอายุด้วยโบราณโรค และปัจจุบันโรค  และลักษณะพิการและแตกของธาตุทั้ง 4
3) คัมภีร์ธาตุวิภังค์ กล่าวถึง การเสียชีวิตของบุคคล ธาตุทั้ง 4 ขาดเหลือ ธาตุทั้ง 4 พิการตามฤดู และธาตุทั้ง 4 พิการ
4) คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ กล่าวถึง ธาตุทั้ง 4 พิการ ฤดู 3 ฤดู4 ฤดู 6 ให้ธาตุพิการ ธาตุ 4 วิปลาส และธาตุ 4 เป็นตรีโทษ
5)  คัมภีร์ฉันทศาสตร์ กล่าวถึง จรรยาแพทย์ ทับ 8 ประการ ประเภทไข้ต่างๆ ลักษณะน้ำนมดีและชั่ว ป่วง 8 ประการ มรณะญาณสูตร และโรคแห่งกุมาร
6) คัมภีร์ตักศิลา กล่าวถึง ลักษณะอาการ การรักษาไข้พิษ ไข้กาฬ ต่างๆ
7) คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์ กล่าวถึง ลักษณะลำบองราหูอันบังเกิดใน 12 เดือน
8) คัมภีร์มุขโรค กล่าวถึง โรคที่เกิดในปากคอ เป็นเพราะโลหิตมี 19 ประการ
9) คัมภีร์ปฐมจินดา กล่าวถึง ต้นเหตุมนุษย์เกิด โลหิตระดูสตรี ครรภ์วาระกำเนิด
ครรภ์รักษา ครรภ์วิปลาส ครรภ์ปริมณฑล ครรภ์ประสูติ รูปลักษณะกุมาร และลักษณะซาง
10)  คัมภีร์มหาโชตรัต กล่าวถึง โรคโลหิตระดูสตรีปกติโทษ และระดูทุจริตโทษ
11)  คัมภีร์ธาตุบรรจบ กล่าวถึง โรคอุจจาระธาตุ และมหาภุตรูป
12)  คัมภีร์อุทรโรค กล่าวถึง มาน 18 ประการ
13)  คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา กล่าวถึง โรคที่เกิดกับทางเดินปัสสาวะ
14) คัมภีร์กษัย กล่าวถึง กษัยเกิดเป็นอุปปาติกะโรค 18 จำพวก และกษัยเกิดแก่กองธาตุสมุฏฐาน อีก 8 จำพวก
15)  คัมภีร์อติสาร กล่าวถึง ปัจจุบันกรรมอติสาร 6 จำพวก และโบราณกรรมอติสาร 5 จำพวก 
16) คัมภีร์ทิพย์มาลา กล่าวถึง ลักษณะฝี (วัณโรค)
17) คัมภีร์ไพจิตรมหาวงค์ กล่าวถึง ลักษณะและประเภทต่างๆ ของฝี
18) คัมภีร์วิถีกุฏฐโรค กล่าวถึง โรคเรื้อนต่างๆ สาเหตุการเกิดโรคเรื้อน และแหล่งที่เกิดโรคเรื้อน
19)  คัมภีร์ชวดาร กล่าวถึง โรคลมอันมีพิษต่างๆ
20) คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร กล่าวถึง ลมที่ทำให้เกิดโรค และมีอาการต่างๆ ตามลักษณะของลม 10 ประการ
21) คัมภีร์อภัยสันตา กล่าวถึง โรคที่เกี่ยวกับตา

1.3  ตำรับยาแผนไทย ประกอบด้วย ชื่อตำรับยา ตัวยาในตำรับ วิธีการทำและสรรพคุณในการรักษา ตำรับยาแผนไทยที่กลุ่มงานคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้มีการพิจารณาโดยคณะทำงานพิจารณาตำรับยาแผนไทยทั่วไป และตำรับยาแผนไทยของชาติ ได้แก่

          1) ตำรับยาในตำราพระโอสถพระนารายณ์ เป็นตำราที่หมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารายณ์ โดยในตำรับยาประกอบด้วย ชื่อหมอ วันคืนที่ตั้งพระโอสถ และสรรพคุณในการรักษา ตำรับยาดังกล่าวจะมีหมอปรุงยา ประกอบหมอหลวง 4 คน หมอพื้นบ้าน(หมอราษฎ์) 1 คน หมอจีน 1 คน หมออินเดีย 1 คน และหมอฝรั่ง 2 คน

          2) ตำรับยาในตำรายาจารึกวัดราชโอรสจารึกในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยให้จารึกตำรายาไทยไว้ในแผ่นศิลา ประดิษฐานที่วัดราชโอรส (วัดจอมทอง) ผู้ควบคุม คือ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งตำรับยาดังกล่าวไม่ปรากฏผู้เป็นเจ้าของตำรา ซึ่งน่าจะเป็นฉบับหลวงที่ผ่านการชำระและตรวจสอบเป็นอย่างดีแล้ว

          3) ยาสามัญประจำบ้าน ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยยาสามัญประจำบ้าน 27 ขนาน ได้แก่

ก. ยาประสะกะเพรา สรรพคุณ แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
ข. ยาวิสัมพยาใหญ่ สรรพคุณ แก้ทองขึ้น อึดเฟ้อ จุก เสียด
ค. ยาประสะกานพลู สรรพคุณ แก้ปวดท้อง เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
ง. ยาแสงหมึก สรรพคุณ แก้ตัวร้อน แก้ท้องขึ้น แก้ไอขับเสมหะ และแก้ละออง
จ. ยามันทธาตุ  สรรพคุณ แก้ธาตุไม่ปกติ แก่ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
ฉ. ยาประสะเจตพังคี สรรพคุณ แก้กษัย จุกเสียด
ช. ยามหาจักรใหญ่ สรรพคุณ แก้ลมทราง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
ฌ. ยาตรีหอม สรรพคุณ แก้เด็กท้องผูก ระบายพิษไข้
ญ. ยาธรณีสันฑะฆาต สรรพคุณ แก้กษัยเส้น เถาดาน ท้องผูก
ฎ. ยาถ่าย สรรพคุณ แก้ท้องผูก
ฏ. ยาเหลืองปิดสมุทร สรรพคุณ แก้ท้องเสีย
ฐ. ยาธาตุบรรจบ สรรพคุณ แก้ธาตุไม่ปกติ ท้องเสีย แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
ฒ. ยาจันทน์ลีลา สรรพคุณ แก้ไข้ตัวร้อน
ณ. ยาประสะจันทน์แดง สรรพคุณ แก้ไข้ตัวร้อน กระหายน้ำ
ด. ยาเขียวหอม สรรพคุณ แก้ไข้ตัวร้อน ร้อนใน กระหายน้ำ
ต. ยามหานิลแท่งทอง สรรพคุณ แก้ไข้ กระหายน้ำ อีสุก อีใส
ถ. ยาหอมเทพจิตร สรรพคุณ แก้ลม บำรุงหัวใจ
ท.ยาหอมทิพโอสถ สรรพคุณ แก้ลม วิงเวียน
ธ. ยาหอมอินทจักร์ สรรพคุณ แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด
น. ยาหอมเนาวโกฐ สรรพคุณ แก้ลมคลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมปลายไข้
บ. ยาอำมฤควาที สรรพคุณ แก้ไอ ขับเสมหะ
ป. ยาประสะมะแว้ง สรรพคุณ แก้ไข้ ขับเสมหะ
ผ. ยาบำรุงโลหิต สรรพคุณ บำรุงโลหิต
ฝ. ยาประสะไพล สรรพคุณ แก้จุกเสียด แก้ระดูไม่ปกติ ขับน้ำคาวปลา
พ. ยาไฟประลัยกัลป์ สรรพคุณ ขับน้ำคาวปลาในเรือนไฟ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่
ฟ. ยาไฟห้ากอง สรรพคุณ ขับน้ำคาวปลาในเรือนไฟ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่
ภ. ยาประสะเปราะใหญ่ สรรพคุณ ถอนพิษตานทรางสำหรับเด็ก

1.4 ทฤษฎีการแพทย์แผนไทย

          ในส่วนทฤษฎีการแพทย์พื้นฐาน อัน ได้แก่ ธาตุสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐาน และกาลสมุฏฐาน บางคัมภีร์รวมถึงประเทศสมุฏฐานด้วย คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง เรื่องสมุฏฐานที่ตั้งแต่แรกเกิดของโรคนั้น ได้แก่ คัมภีร์เวชศึกษา คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย คัมภีร์โรคนิทาน คัมภีร์ธาตุภังค์ และคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ ซึ่งในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะคัมภีร์เวชศึกษา ดังนี้

1)  ธาตุสมุฏฐาน หมายถึง โรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุทั้ง 4 ได้แก่

ก. ปถวีธาตุ  (ธาตุดิน 20 ประการ) คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า และมันในสมอง
ข. อาโปสมุฏฐาน (ธาตุน้ำ 12 ประการ) คือ น้ำดี น้ำเสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น มันเหลว น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ และน้ำปัสสาวะ
ค. วาโยสมุฏฐาน (ธาตุลม 6 ประการ) คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมพัดทั่วร่างกาย และลมหายใจเข้าออก
ง. เตโชสมุฏฐาน (ธาตุไฟ 4 ประการ) คือ ไฟสำหรับอุ่นกาย ไฟสำหรับร้อนระส่ำระสาย ไฟสำหรับเผาให้แก่คร่ำคร่า และไฟสำหรับย่อยอาหาร

2) อุตุสมุฏฐาน หมายถึง การเจ็บไข้ที่เกิดจากฤดูแปรปรวน แบ่งออกเป็นฤดู 3 ฤดู 4 และฤดู 6  ในที่นี้จะขอกล่าวถึงฤดู 3 โดยสังเขป

ก. คิมหันตะฤดู (ฤดูร้อน) เจ็บไข้มาจากธาตุไฟพิกัดไฟสำหรับอุ่นกาย
ข. วสันตะฤดู (ฤดูฝน) เจ็บไข้มาจากธาตุลมพิกัดลมในท้อง
ค. เหมันตะฤดู (ฤดูหนาว) เจ็บไข้มาจากธาตุน้ำ พิกัดเสมหะและโลหิต

3) อายุสมุฏฐาน หมายถึง  อายุเป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค แบ่งออกเป็น

ก. ปฐมวัย นับตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 8 ปี  เสมหะเป็นเจ้าเรือน โลหิตแทรก  และอายุ 8 ปีถึง 16 ปี โลหิตเป็นเจ้าเรือน เสมหะยังเจืออยู่
ข. มัชฌิมวัย  16 ปีถึง 32 ปี ธาตุน้ำพิกัดโลหิต 2 ส่วน ธาตุลม 1 ส่วน
ค. ปัจฉิมวัย  32 ปีถึง64 ปี   สมุฏฐานธาตุลม  และอายุ 64 ถึงอายุขัย ธาตุลมเป็น
เจ้าเรือน ธาตุน้ำแทรกพิกัดเสมหะกับเหงื่อ

4) กาลสมุฏฐาน หมายถึง  เวลาเป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค แบ่งออกเป็น

ก. เวลากลางวัน
6.00-9.00 น.     ธาตุน้ำพิกัดเสมหะ
9.00-12.00 น.   ธาตุน้ำพิกัดโลหิต
12.00-15.00 น. ธาตุน้ำพิกัดดี
15.00-18.00 น. ธาตุลม

ข. เวลากลางคืน
18.00-21.00 น. ธาตุน้ำพิกัดเสมหะ
21.00-24.00 น. ธาตุน้ำพิกัดโลหิต
24.00-03.00 น. ธาตุน้ำพิกัดดี
03.00-06.00 น. ธาตุลม

2. การถ่ายทอดของระบบการแพทย์แผนไทย ประกอบด้วย

2.1 การถ่ายทอดในระบบสถาบันการศึกษา

          ความรู้ที่ได้จากสถาบันการศึกษา เป็นความรู้ที่ได้จากการศึกษาจากสถานศึกษาที่คณะกรรมการรับรอง กล่าวคือ ต้องเป็นการศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่ผ่านการรับรองว่ามีหลักสูตรได้มาตรฐาน จากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนไทยประยุกต์ กองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข อนึ่งการถ่ายทอดในระบบสถาบันการศึกษาจะมีโครงสร้างหลักสูตรชัดเจน และมีคณาจารย์ในหลักสูตรเป็นไปตามเกณฑ์ของสกว.ด้วย  สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแพทย์แผนไทย สามารถแบ่งได้เป็น สถาบันการศึกษาแพทย์แผนไทย และสถาบันการศึกษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี และระดับปริญญาตรี       

2.2  การถ่ายทอดความรู้เพื่อการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ    

          โดยแพทย์แผนไทยที่มีใบประกอบโรคศิลปะ มีการมอบตัวศิษย์ การขอขึ้นทะเบียนและการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ที่มีใบประกอบโรคศิลปะตามสาขาที่ตนเล่าเรียนมา

          ความรู้ที่ได้จากครูรับมอบตัวศิษย์ เป็นความรู้ที่ได้จากการถ่ายทอดการเรียนสืบต่อกันมาโดยครูแพทย์แผนไทย ถือว่าเป็นการถ่ายทอดแบบปัจเจกชน สามารถแบ่งครูแพทย์ไทยได้ตามประเภทของการแพทย์แผนไทย ได้เป็น ครูเวชกรรมไทย ครูเภสัชกรรมไทย ครูผดุงครรภ์ไทย และครูนวดไทย การกำหนดการรับมอบตัวศิษย์ต้องตรงตามประเภทของการแพทย์แผนไทย และตรงตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้

1) ประเภทเวชกรรมไทย ได้รับการมอบตัวศิษย์เป็นเวลาสืบเนื่องกันไม่น้อยกว่าสามปี จากครูผู้ประกอบโรคศิลปะแพทย์แผนไทย ประเภทเวชกรรมไทย  องค์ความรู้เวชกรรมไทย คือ กิจ 4 ประการ ได้แก่

ก. รู้จักที่ตั้งแรกเกิดของโรค ได้แก่  ธาตุสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐานและกาลสมุฏฐาน
ข. รู้จักชื่อของโรค ได้แก่ โรคตามธาตุสมุฏฐาน 42 ประการ ตามฐานที่ตั้งของโรคในเบญจอินทรีย์ และชื่อโรคตามหมอสมมุติ
ค. รู้จักยารักษาโรค ได้แก่ รู้จักตัวยา รู้จักสรรพคุณยา รู้จักพิกัดยา และรู้จักการปรุงยาที่ประสมใช้ตามวิธีต่าง ๆ คือ หลักเภสัช 4
ง. รู้จักเลือกยาให้เหมาะกับโรค

2) ประเภทเภสัชกรรมไทย ได้รับการมอบตัวศิษย์เป็นเวลาสืบเนื่องกันไม่น้อยกว่าสองปี จากครูผู้ประกอบโรคศิลปะแพทย์แผนไทย ประเภทเภสัชกรรมไทย  องค์ความรู้เภสัชกรรมไทย ประกอบด้วยหลักเภสัช 4 คือ

ก. เภสัชวัตถุ คือ รู้จักวัตถุธาตุนานาชนิด ที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรค จะต้องรู้จักลักษณะพื้นฐานของตัวยาหรือสมุนไพร คือ ต้องรู้จักชื่อ ลักษณะ สี กลิ่น และรส ประกอบด้วย พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุ
ข. สรรพคุณเภสัช คือ รู้จักสรรพคุณของวัตถุธาตุนานาชนิดที่จะนำมาใช้เป็นยา
จะต้องรู้รสของตัวยานั้น ๆ ก่อน ประกอบด้วยรสประธาน 3 และรสยา 9 รส
ค. คณาเภสัช คือ รู้จักการจัดหมวดหมู่ของตัวยาหลายสิ่งหลายอย่าง รวมเรียกเป็นชื่อเดียว ประกอบด้วย จุลพิกัด พิกัดยา และมหาพิกัด
ง. เภสัชกรรม คือ รู้จัก การปรุงยา ผสมเครื่องยาหรือตัวยา ประกอบด้วย วิธีปรุงยาแผนโบราณ การใช้ยาอันตราย (สะตุ ประสะ และฆ่าฤทธิ์) และยาสามัญประจำบ้าน 27 ขนาน

          ดังนั้น ตามหลักการของเภสัชกกรมไทย จะต้องมีความรู้หลักเภสัช 4 ดังกล่าวข้างต้น จึงจะสามารถเตรียมยา ผลิตยา เลือกสรรยา ปรุงยาและจ่ายยาได้ ตามการประกอบโรคศิลปะหรือประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมไทย

3) ประเภทการผดุงครรภ์ไทย ได้รับการมอบตัวศิษย์เป็นเวลาสืบเนื่องกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี  จากครูผู้ประกอบโรคศิลปะแพทย์แผนไทย ประเภทการผดุงครรภ์ไทย ผู้ที่จะเป็นผดุงครรภ์จะต้องมีความรู้และความสามารถวินิจฉัยจำแนกสภาวะของหญิงมีครรภ์และหญิงหลังคลอดได้ เพื่อให้การดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสม องค์ความรู้การผดุงครรภ์ ได้แก่

ก. สรีระร่างกายของหญิงและชายวัยเจริญพันธุ์ 
ข. การปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ ประกอบด้วย การปฏิสนธิ การบำรุงรักษาครรภ์และการปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์  การแท้ง  และการเจริญของครรภ์
ค. การทำคลอดปกติ ประกอบด้วย วิธีการทำคลอดปกติและการดูแลขณะคลอดการทำคลอดรก การตรวจรกและสายสะดือ และอาการผิดปกติที่ควรส่งต่อไปโรงพยาบาล
ง. การดูแลมารดาและทารกในระยะคลอด
จ. การเจริญเติบโตและการดูแลทารก ต้องให้การดูแลและคำแนะนำมารดา ได้แก่ การเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา การเจริญเติบโตด้านร่างกายของทารกในวัยต่าง ๆ อาการและการดูแลรักษาทารกในวัยต่าง ๆ

4) ประเภทการนวดไทย ได้รับการมอบตัวศิษย์เป็นเวลาสืบเนื่องกันไม่น้อยกว่าสองปีจากครูผู้ประกอบโรคศิลปะแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทย  องค์ความรู้การนวดไทย ได้แก่

ก. ความรู้ในการค้นหาต้นเหตุของโรค ประกอบด้วย
-  การซักประวัติ
-  การตรวจร่างกาย ได้แก่ การตรวจทั่วไป การตรวจก่อนลงมือนวด

ข. หลักพื้นฐานการนวดไทย
- กายวิภาคศาสตร์ ต้องรู้รูปร่าง ลักษณะ และตำแหน่งของอวัยวะต่าง ๆ ของระบบร่างกาย
-  สรีระวิทยา ต้องรู้หน้าที่ของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
- พยาธิวิทยา ต้องรู้ความผิดปกติของกายวิภาคและสรีระวิทยาของระบบการทำงานในร่างกาย

ค. เส้นประธาน 10  เป็นเส้นที่แสดงตำแหน่งและแนวเส้นสำหรับการนวด ถือว่า เป็นทฤษฎีพื้นฐานของการนวดไทยที่จะต้องหมั่นศึกษา ประกอบด้วย เส้นสำคัญ 10 เส้น คือ เส้นอิทา เส้นปิงคลา เส้นสุมนา เส้นกาลทารี เส้นสหัสรังษี เส้นทวารี  เส้นจันทภูสังหรือลาวุสัง เส้นรุชำหรืออุรังกะ เส้นสุขุมังหรือนันทะกะหวัด และเส้นสิกขิณีหรือคิชฌะ

2.3 การถ่ายทอดความรู้ตามแบบพื้นบ้าน

          การแพทย์พื้นบ้านเป็นวิธีการรักษาโรคของชุมชน ที่ได้สั่งสมสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ มีความหลากหลายแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนหรือท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นระบบการแพทย์ที่มีบทบาทในการดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวม

          การถ่ายทอดความรู้หรือภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน เป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยความพยายาม ความอดทน ความพากเพียร การเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตนเองที่จะจดจำคำสอน และต้องหั่นคอยสังเกตติดตามไถ่ถามจากครูบาอาจารย์ ครูหมอพื้นบ้านจึงจำเป็นต้องมีการคัดเลือกถึงความเหมาะสมและคุณสมบัติของลูกศิษย์ เช่น จะต้องดูนิสัยใจคอ ว่าจะต้องเป็นผู้มีเมตตา ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู และความอดทน กล่าวโดยสรุป คือ ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม  เพราะนอกจากความรู้ความชำนาญในศาสตร์การแพทย์พื้นบ้านแล้ว คุณธรรมและจริยธรรมก็มีส่วนสำคัญ เพราะชีวิตผู้ป่วยอยู่ในกำมือของหมอนั้นเอง

          การสืบทอดภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านมี 2 วิธีการ คือ การสืบทอดจากบรรพบุรุษ  และการสืบทอดจากครูหมอพื้นบ้าน ดังนี้

1)  การสืบทอดจากบรรพบุรุษ ที่เป็นหมอพื้นบ้าน เป็นการสืบทอดทางสายเลือด ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจะเป็นผู้ที่มีโอกาสใกล้ชิดในการสังเกต ดูแล เกี่ยวกับการรักษาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดการจดจำวิธีการรักษา เกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ และสืบทอดการเป็นหมอพื้นบ้านที่ดีได้

2)   สืบทอดภูมิปัญญาจากครูหมอพื้นบ้าน จะมีธรรมเนียมประเพณีการปฏิบัติ ตั้งแต่การยกครู (ไหว้ครู) ติดตามการศึกษาจากครูหมอทั้งเรื่องสมุนไพร การตรวจโรค และวิธีการรักษาผู้ป่วย ภายใต้การกำกับดูแลของครูหมอ เมื่อเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญ เรื่องยาสมุนไพร การตรวจโรค และรักษาโรคที่ดีแล้ว ครูหมอจึงจะอนุญาตให้ลูกศิษย์ปฏิบัติหน้าที่หมอพื้นบ้าน ทำการรักษาผู้ป่วยได้โดยลำพัง แต่เมื่อมีข้อสงสัยก็ต้องหมั่นไปปรึกษาครู คอยสั่งสมประสบการณ์จนเกิดความชำนาญ ก็จะเป็นหมอพื้นบ้านที่สามารถรับใช้และเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่หรือท้องถิ่นนั้น ๆ

สำหรับวิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านนั้น มีวิธีการและขั้นตอนดังต่อไปนี้

          1)  ขั้นตอนการสมัครเป็นศิษย์ จะต้องมีพิธีกรรมการขึ้นครูหรือยกครู การสมัครเข้าเป็นศิษย์ ส่วนมากจะต้องเตรียมขันธ์ 5 และเงินค่ายกครู

          2) ขั้นตอนการศึกษา เมื่อรับเป็นศิษย์แล้วครูหมอพื้นบ้านจะแนะนำข้อปฏิบัติของหมอพื้นบ้าน สอนการบริกรรมคาถา สอนภาษาโบราณ เช่น ภาษาขอม ภาษาบาลี เป็นต้น ส่วนเรื่องตำราที่ใช้ของครูหมอนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคัมภีร์ใบลาน และให้ฝึกปฏิบัติจากของจริง เช่น การศึกษาต้นไม้ วิธีการเก็บยา การปรุงยา และการตั้งยา เป็นต้น ถือว่าเป็นการเรียนรู้แบบประสบการณ์ ต้องหมั่นสังเกตและจดจำเรียนรู้ในสิ่งที่ครูหมอถ่ายทอด และสั่งสอนการเป็นหมอพื้นบ้านให้

          3) ขั้นตอนการประกอบวิชาชีพหมอพื้นบ้าน เมื่อศึกษาในส่วนของสมุนไพรและยาเป็นที่ชำนาญแล้ว ครูหมอก็จะสอนให้เรียนรู้การตรวจวินิจฉัยโรคและการบำบัดรักษาโรคของคนไข้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของครูหมอพื้นบ้าน การฝึกปฏิบัติเริ่มต้นต้องคอยเป็นลูกมือก่อน เมื่อได้ปฏิบัติฝึกฝน เรียนรู้จนเกิดความชำนาญและสามารถรักษาคนไข้ได้เองโดยลำพังแล้ว ก็นับได้ว่าสำเร็จการศึกษา แต่ก็ไม่ควรหยุดการศึกษาหาความรู้และหมั่นเพิ่มพูนประสบการณ์การประกอบวิชาชีพการเป็นหมอพื้นบ้าน

………………………………..

บรรณานุกรม

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. (2546).พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542. กรุงเทพมหานคร: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทวงสาธารณสุข. (2546). พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
กลุ่มงานการแพทย์พื้นบ้าน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทวงสาธารณสุข. (2546). การแพทย์พื้นบ้านไทยภูมิปัญญาของแผ่นดิน: นิทรรศการในงานชุมนุมแพทย์แผนไทยสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
กันทิมา สิทธิธัญกิจ และ พรทิพย์ เติมวิเศษ, บรรณาธิการร่วม. (2547). คู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทวงสาธารณสุข พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
ชัยชนะ สุวรรณเวช และลือชัย ศรีเงินยวง, บรรณาธิการร่วม. ( - ) ศักยภาพหมอพื้นบ้านกับการสาธารณสุขมูลฐาน: ภาพรวม. กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ม.ม.ป.
ส. พลายน้อย. (2544). ลางเนื้อชอบลางยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สายธาร.
เสาวภา พรสิริพงษ์ พรทิพย์ อุศุภรัตน์ และเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, บรรณาธิการร่วม. (2541). การศึกษาภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านไทย พ่อใหญ่ เคน ลาวงษ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข.
สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, บรรณาธิการร่วม. (2530). การแพทย์แผนไทยภูมิปัญญาแห่งการพึ่งตนเองกระทรวงสาธารณสุข: โครงการฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
วงศาธิราชสนิท, กรมหลวง. (2546). ตำราสรรพคุณยาฉบับแผนโบราณ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บุคคอร์นเนอร์.