หลัก ธรรม ที่ เกี่ยว กับ การ ศึกษา

อย่างที่เคยเขียนไปก่อนหน้า ผมพยายามทำให้การสอนพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย และสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนได้จริง เรื่องความยากจึงตกมาที่หน่วยการสอน ที่ต้องมาสอนเรื่องหลักธรรม เพราะ ด้วยจำนวนที่มาก และเข้าใจยาก ผมจึงได้จัดกิจกรรม ที่ให้นักเรียนได้ช่วยกันแก้ปัญหาที่พบ โดยการนำหลักธรรมมาปรับใช้ ซึ่งกิจกรรม จะเป็นเช่นไร เชิญอ่านได้เลยครับ

รูปแบบกิจกรรมจะแบ่งออกเป็น 5 ขั้น ซึ่งจะขอนำเสนอดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 ขั้นนำเสนอกรณีปัญหา (10 นาที)

1)    สร้างบรรยากาศให้ส่งเสริมการเรียน เช่น กล่าวทักทายนักเรียน สอบถามทบทวนความรู้ เรื่อง เนื้อหาที่ได้เรียนในคาบก่อน

2)    เปิดคลิปวิดีโอ เรื่อง “การศึกษาตีตราว่า...ผมโง่” จาก https://youtu.be/xYdRVuBY5JE เวลา 3.11 วินาที

หลัก ธรรม ที่ เกี่ยว กับ การ ศึกษา

3)    เปิดโปรแกรม Padlet ให้นักเรียนแต่ละคนตอบว่า หลังจากการดูคลิปแล้ว นักเรียนเห็นปัญหาของการศึกษาด้านใดบ้าง โดยเลือกมา 1 ด้าน ที่เด่นชัดที่สุด โดยให้เวลาเขียน 2 นาที

4)    ครูเช็คคำตอบของนักเรียน ก่อนจะช่วยกันจัดหมวดหมู่ของปัญหาที่นักเรียนได้เขียนลงในโปรแกรม Padlet

    ขั้นที่ 2 ขั้นแสดงจุดยืน ร่วมกับเทคนิคผังมโนทัศน์ (10 นาที)

5)    หลังจากจัดหมวดหมู่แล้ว ให้นักเรียนที่มีหมวดหมู่ปัญหาใกล้เคียงกันมาอยู่รวมกลุ่มกัน ตามหมวดหมู่ของปัญหาที่นักเรียนได้เขียนตอบในโปรแกรม โดยครูพยายามจัดกลุ่มคำตอบให้เป็นประมาณ 5 กลุ่ม ใช้เวลา 2 นาที

6)    นักเรียนแต่ละกลุ่มพูดคุยปัญหาที่ตนเองได้ แล้วสรุปเขียนเป็นหัวข้อสำหรับการทำผังมโนทัศน์ ใส่ลงในกระดาษปรู๊ฟ ที่ครูแจกให้ ใช้เวลา 3 นาที

7)    นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมารับใบความรู้ เรื่อง หลักธรรมกับการศึกษา ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้ใบความรู้ 2 ชุด โดยใบความรู้แต่ละใบจะมี qr code ให้นักเรียนแสกนอ่านในรูปแบบออนไลน์ เพื่อช่วยกันเลือกว่า กลุ่มของตนจะใช้หลักธรรมใด ในการแก้ปัญหาที่กลุ่มของตนได้เขียนไว้ ให้เวลานักเรียนศึกษาเป็นเวลา 5 นาที

หลัก ธรรม ที่ เกี่ยว กับ การ ศึกษา

   ขั้นที่ 3 ขั้นทดสอบจุดยืน (20 นาที)

8)    หลังจากศึกษาใบความรู้แล้ว ให้นักเรียนเลือกหลักธรรมที่จะใช้ในการแก้ปัญหา โดยนักเรียนจะต้องสรุปหลักธรรมลงในกระดาษปรู๊ฟ พร้อมอธิบายวิธีการนำแก้ปัญหา โดยต้องยกตัวอย่าง และโน้มน้าวใจกลุ่มอื่น ให้มาสนใจวิธีการแก้ปัญหาของกลุ่มตน พร้อมสรุปออกมาเป็นผังมโนทัศน์ให้เวลานักเรียน 12 นาที

9)    แต่ละกลุ่ม โฆษณาวิธีการแก้ปัญหาของตนเอง ให้กลุ่มอื่น ๆ ได้ฟัง โดยแต่ละกลุ่มมีเวลาโฆษณาให้กลุ่มอื่นฟัง กลุ่มละ 1 นาที ซึ่งนักเรียนจะต้องพยายามขายไอเดียของกลุ่มตนเอง ให้กลุ่มอื่นซื้อให้ได้ หรือโน้มน้าวให้เพื่อนมาเลือกวิธีการแก้ปัญหาของกลุ่มนักเรียน

    ขั้นที่ 4 ขั้นขัดเกลาหรือปรับค่านิยม (5 นาที)

10) ผู้สอนสรุปแนวทางการแก้ปัญหาของแต่ละกลุ่มว่ามีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร พร้อมอธิบายหลักธรรมที่แต่ละกลุ่มนำมาใช้ พร้อมอธิบายข้อดีข้อเสียของแต่ละกลุ่ม และกล่าวชื่นชมนักเรียน

   ขั้นที่ 5 ขั้นตรวจสอบและยืนยันจุดยืน (5 นาที)

11) นักเรียนแต่ละกลุ่มเมื่อทำผลงานเสร็จสิ้นแล้ว ให้นำผลงานของกลุ่มตนเอง ไปติดที่กระดาน แล้วให้นักเรียนภายในห้องไปเดินดูวิธีการแก้ปัญหาเพิ่มเติม แล้วให้เลือกว่านักเรียนจะซื้อไอเดียของกลุ่มใด ซึ่งนักเรียนแต่ละคนมีสิทธิซื้อได้คนละ 1 ไอเดีย โดยสามารถเลือกซื้อไอเดียของกลุ่มตนเองได้ กลุ่มใดที่มีคนซื้อมากที่สุด จะได้เป็นกลุ่มนักคิด นักขายยอดเยี่ยมประจำคาบ ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษ 1 อย่างจากครู ซึ่งเป็นการ์ดที่สามารถนำไปใช้ในคาบเรียนถัดไปได้ โดยนักเรียนสามารถเลือกได้ ว่าอยากจะได้การ์ดอะไร แล้วสามารถใช้ตอนไหนก็ได้ตามที่ต้องการ

หลัก ธรรม ที่ เกี่ยว กับ การ ศึกษา

สำหรับกิจกรรมนี้ เมื่อนำไปใช้แล้ว นักเรียนก็เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และได้เสนอแนวทางการนำหลักธรรมไปปรับใช้ โดยผม ได้เลือกหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มาให้นักเรียนศึกษา และปรับใช้ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ และนำไปปรับใช้ได้ทันที

ก่อนจะสอนนักเรียน ทุกครั้งที่จะสอน ผมจะต้องเตรียมตัวเป็นอย่างมาก ยิ่งต้องสอนศาสนา เรื่อง หลักธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย ที่นักเรียนจะสนใจ เราจึงต้องทำให้เรื่องหลักธรรมเป็นสิ่งที่ง่าย และนักเรียนต้องนำไปใช้ได้จริง

ผมได้สอนหลักธรรมในกรอบของ อริยสัจ 4 จึงได้เลือกจะสอนเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษา ซึ่งหากเราสังเกต จะพบว่า การศึกษา หากจะนำมาเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา สามารถสรุปได้ 2 ลักษณะ คือ

  1. ศึกษาในส่วนของเนื้อหา
  2. ศึกษาในภาคปฏิบัติ

ซึ่งหากสามารถทำได้ทั้ง ทฤษฎี และการปฏิบัติ ก็จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายของการศึกษา คือ

  1. พัฒนาคนให้รู้จักปฏิบัติตนอย่างมีความสุข
  2. ฝึกฝนให้รู้จักแก้ปัญหาชีวิต
  3. พัฒนาให้รู้จักแสวงหา
  4. พัฒนาคนให้พร้อม

หากครูสามารถทำได้ นักเรียนที่สอนก็จะเป็นบุคคลที่พร้อมสำหรับสังคม แห่งอนาคต ซึ่งการสอนสังคม เรื่อง ศาสนา ผมจะพยายามให้เนื้อหานั้นเข้าใจง่าย และเห็นภาพได้ในชีวิตจริง เช่น

มรรค 8 หมายถึง แนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งด้วยปัญญา

                    1) สัมมาทิฏฐิ คือ การเห็นชอบ

                    2) สัมมาสังกัปปะ คือ การดำริชอบ หรือ การคิดในสิ่งที่ดี

                    3) สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ หรือ การพูดในสิ่งที่ดี

                    4) สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติชอบ หรือ การทำในสิ่งที่ดี

                    5) สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ หรือ การประกอบอาชีพที่สุจริต

                    6) สัมมาวายามะ คือ การพยายามชอบ

                    7) สัมมาสติ คือ การระลึกชอบ

                    8) สัมมาสมาธิ คือ สมาธิชอบ

         เมื่อการเรียนรู้ ที่เกิดจากการนำ มรรค 8 มาประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ด้วย ย่อมส่งผลดีต่อการเรียน เพราะ ทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น การที่เราเห็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อเรา เมื่อเราเรียนรู้ ก็จะส่งผลดีต่อตัวผู้ใช้อย่างแน่นอน ดังเช่น

         ชินจัง เป็นเด็กที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียน จึงได้นำหลักของ มรรค 8 มาใช้ในการเรียน คือ เวลาที่ครูกำลังสอน เขาก็ตั้งใจฟัง มีสติ มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่ครูกำลังสอน ซึ่งจากเดิมที่ไม่สนใจการเรียนการสอน เขาต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่งในการที่จะตั้งใจฟังสิ่งที่ครูกำลังสอน เมื่อกลับถึงบ้านก็ได้มีการทบทวนในสิ่งที่ได้เรียน ทำการบ้านด้วยตนเองไม่ไปลอกใคร เป็นการทบทวนเนื้อหาในแต่ละคาบ หากเกิดความไม่เข้าใจก็ไปถามเพื่อนที่เก่งและสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ ซึ่งหากทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยความพยายามและไม่ย่อท้อ ชินจังจะต้องประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

คุณครูลองนำไปใช้ดูนะครับ ลองนำหลักธรรมมาสัมพันธ์กับเหตุการณ์ แล้วเสนอวิธีการนำไปใช้ที่เห็นภาพชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางให้นักเรียนนำไปปรับใช้ หากนักเรียนเห็น และเข้าใจ นักเรียนก็จะสนุกกับการเรียนรู้ กล่าวคือเน้นให้นักเรียนได้คิด และแสดงความคิดเห็น นักเรียนจะสนุกกับการเรียนรู้