วิจัย ปรากฏการณ์เป็นฐาน ปฐมวัย

รายละเอียด หมวดหลัก: แผนกวิชาการระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมวด: บทความการศึกษา เผยแพร่เมื่อ: 07 มิถุนายน 2564 อัปเดตล่าสุดเมื่อ: 07 มิถุนายน 2564 ฮิต: 1641

Phenomenon – Based Learning : การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน

วิจัย ปรากฏการณ์เป็นฐาน ปฐมวัย

Phenomenon – Based Learning คืออะไร ?

     การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน หรือ Phenomenon – Based Learning เป็นแนวคิดที่ผ่านการทดลองและพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1980 (Zhukov, 2015) และได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น จากการที่ถูกใช้ในหลักสูตรแกนกลางสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานของฟินแลนด์ และถูกนำไปใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศฟินแลนด์ ในปี ค.ศ. 2014 โดยเชื่อว่า แนวคิดนี้เป็นแนวทางขับเคลื่อนหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 (Finnish National Board of Education, 2016) 

     การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานจะมุ่งสำรวจปรากฏการณ์ที่ข้ามขอบเขตข้อจำกัดของรายวิชาไปโดยสิ้นเชิง เพราะในการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานนั้น กระบวนการเรียนรู้และการสอนจะเริ่มจากปรากฏการณ์ (Phenomena) ที่พบได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งปรากฏการณ์ที่นำมาใช้ในการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในบริบทจริง ทั้งข้อมูล ทักษะ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะถูกเรียนรู้แบบข้ามขอบเขตของรายวิชา ปรากฏการณ์ที่ถูกนำมาใช้จะมีลักษณะเป็นหัวข้อแบบองค์รวม เช่น ความเป็นมนุษย์ สหภาพยุโรป สื่อและเทคโนโลยี สถานการณ์น้ำและพลังงาน เป็นต้น 

ลักษณะของ Phenomenon – Based Learning

วิจัย ปรากฏการณ์เป็นฐาน ปฐมวัย

PhenoBL จะมีลักษณะ 5 ประการ คือ 

  1. เป็นองค์รวม (holisticity) หมายถึง ความหลากหลายของการเรียนรู้ในลักษณะของสหวิทยาการ และไม่เพียงบูรณาการลงไปในรายวิชาแบบเดิม แต่มุ่งเน้นที่การสำรวจเหตุการณ์ปัจจุบันและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นระบบและครอบคลุม
  2. มีสภาพความเป็นจริง (authenticity) หมายถึง ใช้สภาพแวดล้อมจริงแทนที่จะเป็นห้องเรียนแบบเดิม เนื่องจากสภาพจริงนั้นช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ทำให้ผู้เรียนได้ใช้วิธีการ เครื่องมือ และวัสดุจำเป็นต่างๆ ในสถานการณ์จริงเพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต และมีความสำคัญในชุมชน ทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ว่าทฤษฎีและข้อมูลต่างๆ มีประโยชน์ในชีวิตจริง ในขณะเดียวกัน การมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขารวมอยู่ในชุมชนการเรียนรู้ยังทำให้ผู้เรียนจะได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และได้เรียนรู้แนวทางการปฏิบัติหรือการแก้ปัญหาต่างๆ ได้
  3. สอดคล้องกับบริบท (contextuality) ซึ่งมีความหมายรวมทั้งบริบทที่ถูกสร้างขึ้นและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ในแง่นี้ “ปรากฏการณ์” ไม่สามารถกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ คือในช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้ ปรากฏการณ์ที่ผู้เรียนสนใจอาจจะค่อนข้างคลุมเครือและไม่ชัดเจน แต่จะค่อยๆ มีความชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากผู้เรียนได้สังเกตและทำความเข้าใจบริบทที่กว้างขึ้น
  4. เรียนรู้ผ่านการสืบเสาะโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based inquiry learning) กระบวนการเรียนรู้นี้ทำให้ผู้เรียนได้ตั้งคำถามของตนเองและสร้างความรู้ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ปรากฏการณ์ที่อาจจะคลุมเครือ ไม่ชัดเจน มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 
  5. ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ (learning process) ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการตั้งสมมติฐานและการนำทฤษฎีมาใช้ โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้และได้รับการชี้แนะว่าควรจะเรียนรู้อย่างไร ทำให้มี “Know how” และในระดับที่สูงขึ้นผู้เรียนจะสามารถวางแผนกระบวนการเรียนรู้โดยการสร้างชิ้นงานและเครื่องมือที่ต้องใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนก้าวข้ามสิ่งที่เรียนรู้ในปัจจุบันไปสู่สิ่งที่จะเรียนรู้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Phenomenon – Based Learning  ในชั้นเรียน

วิจัย ปรากฏการณ์เป็นฐาน ปฐมวัย

     การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานนั้น ครูจะต้องแน่ใจว่านักเรียนมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่จำเป็นในหัวข้อหนึ่งๆ เพื่อการพัฒนาคำถามวิจัยจากสิ่งที่สงสัย โดยครูจำเป็นต้องสอนนักเรียนถึงวิธีตั้งคำถามการวิจัยที่เหมาะสมซึ่งจะนำไปสู่ความน่าสนใจและเป็นโอกาสในการค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญคือครูจำเป็นต้องหยุดการสอนแบบบอกตรงๆ แต่ควรสร้างแบบจำลองทักษะที่นักเรียนสามารถใช้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถเปลี่ยนวิธีสอนจากแบบเดิมที่สอนตรงๆ มาเป็นการให้นักเรียนได้ปฏิบัติในสิ่งที่ต้องการ และสร้างการเปรียบเทียบเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ กับการนำไปใช้จริง ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าผู้เรียนจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับทักษะหรือเนื้อหาที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ

* * * * * * * * *

ที่มาของข้อมูล : Thepotential             

แผนกวิชาการระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

ชลาธิป สมาหิโต. (2562) การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานสำหรับเด็กปฐมวัย. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, 39(1), 113-129.

ชลาธิป สมาหิโต. "การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานสำหรับเด็กปฐมวัย". วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร 39 (2562):113-129.

ชลาธิป สมาหิโต. การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานสำหรับเด็กปฐมวัย. สำนักงานบริหารการวิจัย นวัตกรรมและการสร้างสรรค์:ม.ป.ท. 2562.