การพัฒนาแบบบูรณาการ integrated development หมายถึง

การนำคำ “บูรณาการ” ไปใช้นั้นมีหลากหลายลักษณะ ซึ่งก็แล้วแต่การตีความให้เหมาะสมกับการใช้งาน แต่โดยรวมแล้วมีจุดร่วมกันคือ “การบูรณาการ” เป็นการผสมผสานทรัพยากรที่มีอยู่ นำมาบริหารจัดการร่วมกันเพื่อให้เกิดการพัฒนา หรือ ทำให้ดีขึ้น

ในวิชาด้านบริหารจัดการนับได้ว่าเป็นสาขาวิชาของการสร้างศัพท์บัญญัติที่หลากหลายแขนงหนึ่ง  และมักใช้เป็นภาษาพูดโดยทั่วไ  อาจเป็นเพราะผู้ที่อยู่ในแวดวงนักบริหารเป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องมีการออกสู่สังคม  คำพูดที่นำมาใช้เลยมักเป็นที่สนใจ และกลายเป็นประเด็นสาธารณะ อย่างกรณี รากหญ้า ที่ถูกนำมาใช้เป็นสรรพนามเรียกกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มประชาชนในชนบทที่เป็นฐานรากของเศรษฐกิจประเทศไทย                     บูรณาการ ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ถูกนำมาใช้กันแพร่หลาย นับแต่ผู้นำรัฐบาลชุดก่อนได้มีแนวนโยบายปรับรูปแบบการปฏิบัติงานของผู้บริหารราชการ  โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีลักษณะของ การบูรณาการ มากขึ้น โดยให้ยึดแนวทางการปฏิบัติงานในลักษณะของ CEO (Chief Executive Officer) ซึ่งภาคเอกชนเค้าทำกันอยู่ เพราะมองว่าเป็นการปฏิบัติงานที่ผู้นำองค์กร จะต้องเป็นได้มากกว่า ผู้ออกคำสั่ง หรือ ผู้บังคับบัญชาสูงสุด ก็เลยมีศัพท์   เรียกกลุ่มผู้ว่าราชการที่ปรับรูปแบบการปฏิบัติงานว่า ผู้ว่าฯ CEO”                                สาเหตุที่จุดประกายอยากจะอภิปรายถึงคำว่า บูรณาการ ก็เพราะเคยคุยกับนักศึกษาว่าทุกวันนี้ ทำอะไรก็ต้องรู้จัก บูรณาการ แม้แต่การตำส้มตำ ก็ต้องบูรณาการ แล้วนักศึกษาทราบหรือไม่ว่าบูรณาการนั้น คืออะไร  ต้องทำอย่างไร   ก็มีนักศึกษาคนหนึ่งตอบมาว่า บูรณาการคือ ผู้ว่าฯ CEO นั่นไงครับอาจารย์  ซึ่งพอถามนักศึกษาอื่นๆ ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้  แสดงให้เห็นว่าหลายๆคนแม้จะรู้จักคำว่าบูรณาการ แต่ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจนักว่าสิ่งนี้คืออะไร            ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542  ไม่ปรากฏคำว่า บูรณาการ แต่มีคำที่ใกล้เคียงคือ บูรณภาพ เป็นคำนาม หมายถึงความครบถ้วนบริบูรณ์  เช่น บูรภาพแห่งดินแดน  บูรณภาพแห่งอาณาเขต   และคำว่า บูรณาการรวมหน่วย ซึ่งเป็นคำนาม หมายถึง การนำหน่วยที่แยก ๆ กันมารวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   ส่วนอีกคำหนึ่งคือคำว่า บูรณะ เป็นคำกริยา หมายถึงซ่อมแซมให้กลับคืนดีเหมือนเดิม            อย่างไรก็ตาม บูรณาการ ที่ใช้กันอยู่ในเชิงบริหารจัดการเป็นศัพท์ที่แปลมาจากภาษาอังกฤษคือ “integration” ที่หมายถึงการรวมตัวกันเป็นก้อน หรือเป็นกลุ่ม การผสมกัน การปรับตัวให้เข้า กับสิ่งแวดล้อม  หรือ “integrated” ซึ่งหมายถึงการรวมตัวกัน  การประสานกัน  เป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่ธุรกิจพยายามรวมตัวกันเพื่อเพิ่มพูนสรรพกำลังในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และอำนาจต่อรอง  ขณะเดียวกันในระดับประเทศก็มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AFTA  NAFTA OPEC APEC ฯลฯ ทั้งนี้ล้วนมีเป้าประสงค์เดียวกันคือสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพิ่มอำนาจต่อรอง

            จะเห็นว่า การนำคำ บูรณาการ ไปใช้นั้นมีหลากหลายลักษณะ ซึ่งก็แล้วแต่การตีความให้เหมาะสมกับการใช้งาน แต่โดยรวมแล้วมีจุดร่วมกันคือ  การบูรณาการ เป็นการผสมผสานทรัพยากรที่มีอยู่ นำมาบริหารจัดการร่วมกันเพื่อให้เกิดการพัฒนา หรือ ทำให้ดีขึ้น   นั่นหมายความว่า การบูรณาการนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จรูปตายตัว   แต่ผลที่ได้รับออกมาต้องดีกว่าเดิม   ถ้าผสมผสานทรัพยากรแล้วแย่กว่าเดิมก็ถือว่าไม่เกิดการบูรณาการ  หากเปรียบเทียบการบริหารเป็นการตำส้มตำ   ผู้บริหารแต่ละคนก็มีเครื่องปรุง วัตถุดิบอยู่ตรงหน้าผู้ที่สามารถผสมผสานได้ส้มตำออกมารสชาติอร่อย ก็ถือว่าเป็นส้มตำบูรณาการ  ถ้าไม่อร่อยส้มตำนั้น ก็ไม่บูรณาการ

            ดังนั้น การเป็นผู้บริหารในลักษณะที่พึงประสงค์ของ CEO  หรือ ผู้บริหารแบบบูรณาการ คือจะต้องสามารถผสมผสานทรัพยากรภายใต้การบริหารงานของตนได้เป็นอย่างดี  อาทิทรัพยากรบุคคล (human resources)  ทรัพยากรที่เป็นทุน (capital) เวลา (time)  เพื่อนำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหวัง (purpose) และเกิดการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น   

                   คุณลักษณะของผู้บริหารแบบบูรณาการ จึงต้องมีทั้งศาสตร์ คือความรู้  ภูมิปัญญา ความชำนาญ  และมีศิลป์คือความสามารถในการประสานความสัมพันธ์ของคนและทรัพยากรในหน่วยงานอย่างเหมาะสม  ให้สามารถปฏิบัติงานไปได้ด้วยความราบรื่น  มีประสิทธิภาพ (efficiency)  และเกิดประสิทธิผล (effective)