ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์มีกี่ระยะ

5. ผลงานทัศนศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์

ผลงานทัศนศิลป์ในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงตอนต้น มีความพยายามจะฟื้นฟูแบบอย่างงานศิลปะสมัยอยุธยาที่เสียหายจากสงครามให้เจริญรุ่งเรืองกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อบ้านเมืองเริ่มมีความเจริญมั่นคง การสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ก็ขยายไปทุกด้าน และนับจากสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมาเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกได้แพร่ขยายเข้าสู่สังคมไทย วัฒนธรรมตะวันตกก็ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อลักษณะของการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ของไทยด้วยขณะที่พระพุทธศาสนาก็ยังคงมีอิทธิพลและบทบาทอย่างมาก ซึ่งพอจะสรุปรวมได้ ดังนี้

พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

5.1 ด้านจิตรกรรม

สมัยรัตนโกสินทร์เป็นจิตรกรรมที่เขียนขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2325 ลงมาจนถึงปัจจุบัน มีรูปแบบการเขียนตามแบบไทยแนวประเพณี และแบบร่วมสมัย โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นจิตรกรรมไทยที่มีคุณค่าทางความงามมาก มักใช้สีตัดเส้น และปิดทองลงบนภาพ ภาพเขียนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 1 มีอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วัดระฆังโฆสิตาราม วัดดุสิตาราม กรุงเทพมหานคร สมัยรัชกาลที่ 2 ทรงอุปถัมภ์ช่างศิลป์ ส่งผลให้มีการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมขึ้นอย่างแพร่หลาย ผลงานอันโดดเด่น ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) ริมคลองบางกอกน้อย ซึ่งได้เป็นแม่แบบให้ศิลปินรุ่นหลังใช้เป็นแนวทางในการศึกษาและสร้างสรรค์งานมาจนถึงทุกวันนี้

จิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการปิดทองลงในภาพ

จิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม และที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น แต่หลังจากสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาอิทธิพลตะวันตกได้ทำให้รูปแบบจิตรกรรมไทยมีความร่วมสมัยกับนานาชาติอย่างชัดเจน กล่าวคือ มีการนำเทคนิคการเขียนภาพให้มีมิติตามแบบอย่างตะวันตก เช่น จิตรกรรมของขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ขรัว อินโข่งเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้นำแนวทางการวาดภาพแบบตะวันตกที่แสดงทัศนียภาพในระยะใกล้-ไกล และแสดงให้เห็นแสงเงา มาประยุกต์ใช้กับผลงานของตน ในปัจจุบันจิตรกรรมฝาผนังแม้จะเป็นภาพวาดที่มีลักษณะของความเป็นไทยแต่ก็มีการผสมผสานคตินิยม เทคนิค รูปแบบสมัยใหม่จากตะวันตก เช่น ผลงานของปรีชา เถาทอง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นต้น

ภาพจิตรกรรม ผลงานของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ

ปัจจุบัน ภาพจิตรกรรมมิได้จำกัดจะมีอยู่แค่ในเฉพาะวัดกับวังเหมือนเมื่อครั้งอดีต แต่มีการนำไปประดับตกแต่งอาคารสถานที่ ใช้ในการสื่อสาร โฆษณาประชาสัมพันธ์กันอย่างแพร่หลายผ่านทางสื่อต่างๆ และภาพที่วาดเนื้อหา และแนวคิดก็ขยายวงกว้าง นอกจากภาพเกี่ยวกับศาสนาและเอกลักษณ์ไทยแล้ว ก็ยังมีการเสนอภาพที่มีแนวคิดสะท้อนสังคม หรือมีเรื่องราวที่ศิลปินมีความประทับใจ เช่น ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม บุคคล สถานที่ จินตนาการภาพนามธรรม (Abstract) และอื่นๆ อีกด้วย ตลอดจนเทคนิคในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมก็มีความหลากหลายกว่าเดิม และนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการนำเสนอผลงานด้วย

5.2 ด้านประติมากรรม

สมัยรัตนโกสินทร์ด้านประติมากรรมในช่วงระยะแรกมีหลักฐานการสร้างน้อย ส่วนใหญ่มักอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณซึ่งทิ้งทรุดโทรมอยู่ที่เมืองเหนือมาบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ถึง 1,200 องค์เศษ และบางองค์ก็ยังอัญเชิญมาเป็นพระประธานอยู่ในวัดสำคัญๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น พระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น สำหรับประติมากรรมแบบรัตนโกสินทร์ประมวลได้ ดังนี้

1) พระพุทธรูปทำตามแบบอย่างของเดิม เป็นรูปแบบที่สร้างขึ้นคล้ายกับพระพุทธรูปสมัยอยุธยาปนอู่ทอง แต่ลักษณะความมีชีวิตจิตใจมีน้อยลง ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ให้มีการสร้างพระพุทธรูปเพิ่มเติมขึ้น นับรวมกับแบบเดิมเป็น 40 ปาง แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานภายในหอพระราชกรมานุสรและหอรพงศานุสร หลังพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารา เพื่ออุทิศถวายแต่สมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า ซึ่งนับเป็นต้นแบบของพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์

2) พระพุทธรูปผสมผสานกับตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการแก้ไขพุทธลักษณะให้คล้ายมนุษย์สามัญยิ่งขึ้น คือ ไม่มีพระเกตุมาลา หรือขมวดพระเมาลี มีจีวรเป็นริ้ว อาทิ พระนิรันตราย ในหอพระสุราลัยพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 มีการสร้างพระพุทธรูปปางขอฝนในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระพุทธไสยาสน์ ที่วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร

3) ประติมากรรมสมัยใหม่ หลัง พ.ศ.2475 เป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ศิลปะของเมืองไทย โดยมีการจัดตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้น (ต่อมาได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร) ภายใต้การอำนวยการโดยศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี (ศิลป์ พีระศรี) เปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิชาจิตรกรรมแลประติมากรรมให้กับนักศึกษาไทย ซึ่งท่านได้สร้างสรรค์ผลงานสำคัญๆ ที่คุณค่าทางด้านประติมากรรมไว้มากมาย เช่น พระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดสุพรรณบุรี พระบรมราชาสุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา รูปปั้นหล่อประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รูปปั้นประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น

พระศรีศากยะทศพลญาณ พระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

ในสมัยปัจจุบันผลงานประติมากรรมขยายตัวอย่างกว้างขวาง มีการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านประติมากรรมหลายรูปแบบทั้งเพื่อเคารพบูชา เป็นอนุสรณ์ ประดับตกแต่งอาคารสถานที่เพื่อความสวยงาม แสดงถึงเอกลักษณ์หรือสื่อความหมายที่เน้นการแสดงออกทางด้านศิลปะ มีศิลปินด้านประติมากรรมอยู่ทั่วไป ผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาก็มีแนวคิด เนื้อหาที่ต้องการสื่ออย่างหลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะทางด้านศาสนา และส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะร่วมสมัยเพื่อตอบสนองกับความต้องการของสังคม

5.3 ด้านสถาปัตยกรรม

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจะเป็นการสืบทอดรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก ลักษณะของสถาปัตยกรรมก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งพอจะสรุปพัฒนาการของผลงานทัศนศิลป์ด้านสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ได้ดังนี้

1) สถาปัตยกรรมแบบอยุธยา ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การก่อสร้างอาคารมักจะเลียนแบบสถาปัตยกรรมอยุธยาเป็นหลัก โดยเฉพาะอาคารประเภทเครื่องก่อ เช่นโบสถ์ วิหาร ปราสาทราชมณเฑียร จะสร้างให้ฐานแอ่นโค้งรับกับหลังคาที่เรียกว่า ฐานแอ่นโค้งแบบตกท้องช้างหรือโค้งสำเภา เช่น สถาปัตยกรรมหมู่พระมหามณเฑียรสถาน 3 หลัง คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ เป็นต้น และยังนิยมสร้างเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา และแบบทรงกรวยเหลี่ยมย่อมุม เช่น เจดีย์ทอง 2 องค์ บริเวณมุมปราสาทพระเทพบิตร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์มีการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบของขอมให้มีลักษณะเฉพาะเป็นแบบไทยที่มีรูปทรงเพรียวและอ่อนช้อยมากกว่าของขอม เช่น พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น

พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม

2) สถาปัตยกรรมแบบสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งจะเป็นสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบศิลปะจีน เสาอาคารไม่มีบัวหัวเสา ไม่ติดคันทวย ก่อเป็นสี่เหลี่ยมทึบ โบสถ์ วิหาร ก็เอาช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ออก มีการนำเอาลวดลายบนเครื่องปั้นดินเอามาประดับ วัดที่มีตัวอย่างศิลปะจีนผสมผสานอยู่มาก เช่น วัดราชโอรสาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น
นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังมีการประดิษฐ์ยอดซุ้มและยอดปราสาทเป็นรูปมงกุฎ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากสถาปัตยกรรมภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอรุณราชวราราม โลหะ ปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร เป็นต้น

วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นการผสมผสานศิลปะแบบจีนกับศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์

3) สถาปัตยกรรมยุคปรับตัวตามกระแสตะวันตก มีรูปลักษณะผสมผสานและรับแบบอย่างสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาใช้ในสถาปัตยกรรมไทย ดังจะสังเกตได้อย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น การก่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งเป็นอาคารแบบยุโรปแต่เปลี่ยนเครื่องบนเป็นยอดปราสาทแบบไทย 3 ยอดเรียงกัน การสร้างพระราชวังบางปะอินที่สร้างเลียนแบบพระราชวังแวร์ชายของฝรั่งเศส แต่พระที่นั่งกลางสระ คือ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ นั้นสร้างเป็นแบบไทยอย่างวิจิตรงดงาม พระที่นั่งอนันตสมาคมที่ออกแบบโดยนายช่างชาวอิตาลี บนพระที่นั่งมีโดมใหญ่แบบยุโรปอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ก็มีผลงานสถาปัตยกรรมอีกจำนวนมากที่สร้างตามแบบตะวันตก เช่น พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง กระทรวงกลาโหม ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาคารบริเวณถนนราชดำเนินกลาง สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นต้น

พระที่นั่งอนันตสมาคมที่ออกแบบโดยนายช่างชาวอิตาลี บนพระที่นั่งมีโดมใหญ่แบบยุโรปอยู่ตรงกลาง

4) สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หลังจาก พ.ศ.2475 เป็นต้นมาผลงานทางด้านสถาปัตยกรรมมีการขยายตัว อย่างรวดเร็วตามการเจริญเติบโตของบ้านเมืองและสังคม มีการสร้างผลงานทัศนศิลป์ด้านสถาปัตยกรรมขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยอิทธิพลศิลปะของตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญทั้งด้านรูปแบบ เทคโนโลยี และวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการสร้าง แนวคิดในการสร้าง นอกจากเพื่อประโยชน์ทางศาสนา และใช้ในราชการแล้วก็ยังใช้เพื่อสาธารณะ ซึ่งรูปแบบที่สร้างสรรค์ออกมาจะมีความหลากหลายมาก มีทั้งที่เป็นแบบสมัยใหม่ แบบไทยประยุกต์ และแบบไทยสมัยก่อนขณะเดียวกัน สถาปัตยกรรมสมัยใหม่นอกจากจะเน้นเรื่องความสวยงามความคงทนแล้ว ยังได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพภูมิทัศน์ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล เป็นแบบที่ชนะการประกวดการออกแบบโดยได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสาน

นักเรียนควรรู้

ขรัว อินโข่ง มีนามเดิมว่า “อิน” เป็นชาวเมืองเพชรบุรี บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อย แม้อายุจะมากขึ้นก็ยังไม่ยอมอุปสมบทเป็นพระ จึงถูกล้อว่า “เณรโข่ง” หรือสามเณรอินโข่ง ภายหลังเมื่อบวชเป็นพระมีพรรษาและมีความรู้มากก็ได้รับการเคารพนับถือเป็นพระอาจารย์จากราชสกุล ซึ่งเรียกพระอาจารย์ว่า “ขรัว” คนทั่วไปจึงเรียกภิกษุดอินโข่งว่า “ขรัว อินโข่ง” ตามอย่างนั้นเป็นต้นมา

ภาพนามธรรม (Abstract) รูปแบบงานทัศนศิลป์ประเภทหนึ่งที่มุ่งเน้นการแสดงความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยศิลปินอาจละทิ้งรูปทรงต่าง ๆ ด้วยการตัดทอนหรือตัดรูปทรงออกจนหมดสิ้น หรืออาจสร้างรูปทรงขึ้นมาใหม่ตามความรู้สึกของตนเอง ภาพนามธรรมจะแสดงคุณค่าทางศิลปะด้วยสี แสง ค่าต่างแสง เงา ร่องรอยพู่กัน หรือส่วนมูลฐานต่าง ๆ ที่สร้างความงามของจิตรกรรม

พระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม คือ พระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด ปางมารวิชัย มีขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ สร้างราวพุทธศักราชที่ 1905 สมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย มีพุทธลักษณะงดงามมากเช่นเดียวกับพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวราราม ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดิมมีชื่อว่า “วัดโพธิ์” ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระมณฑปเดิมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ถมที่ต่อชั้นประทักษิรฐานพระมณฑปออกไปทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก มีพนักศิลาล้อม สร้างซุ้มประตูประดับกรเบื้อง ทำบันไดเพิ่มอีก 6 แห่ง ทางด้านตะวันออก สร้างปราสาทยอดปรางค์ขึ้นองค์หนึ่ง ประดับกระเบื้องทั้งผนังและองค์ปรางค์ พระราชทานนามว่า “พระพุทธปรางค์ปราสาท” ส่วนปราสาทองค์เดิมให้มีพระราชดำริให้เป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” แต่เนื่องจากความไม่สะดวกในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ จึงโปรดให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทาทงด้านตะวันตกของมณฑป (ปัจจุบันคือปราสาทพระเทพบิดร) และโปรดให้สร้างพระศรีรัตนเจดีย์ตามแบพระมหาสถูปในวัพระศรีสรรเพชญที่จังหวัดพระนครศรีอยุูธยา ส่วนด้านทิศเหนือเบื้องหลังปราสาทพระเทพบิดรโปรดเกล้าฯ ให้สร้างนครวัดจำลองขึ้น

นักเรียนสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานทัศนศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ ได้ที่ http://www.culture.go.th/

ศึกษางานสถาปัตยกรรมไทยประเภทเจดีย์ได้ที่ http://www.jedeethai.com/