ห้องสมุด มีความ สํา คั ญ อย่างไร

ใบความรู้

เรื่อง  ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้อื่นๆ

                ห้องสมุด  ถือเป็นหัวใจของการเรียนรู้ที่สำคัญในสังคมแห่งภูมิปัญญา  และสังคม แห่งการเรียนรู้  ผู้เรียนในสถานศึกษาจะต้องศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง  ห้องสมุดจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีส่วนสำคัญในการจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียนตามหลักสูตร  เปรียบเสมือนคลังความรู้ที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนในทุก ๆ ด้านให้เป็นผู้รักการเรียน  และสนใจเรียนรู้   ตลอดชีวิต  เพื่อพัฒนาคนและสังคมให้สมบูรณ์แบบ

จุดประสงค์ในการเรียนรู้

1.  อธิบายความหมายของห้องสมุดได้                    

2.  บอกความสำคัญของห้องสมุดได้                       

3.  บอกประโยชน์ของห้องสมุดได้          

4.  บอกองค์ประกอบของห้องสมุดได้ถูกต้อง

5.  บอกวัตถุประสงค์ของห้องสมุดได้           

6.  จำแนกประเภทของห้องสมุดได้          

7.  อธิบายถึงลักษณะของห้องสมุดที่ดีได้                 

8.  สามารถใช้บริการของห้องสมุดได้ตรงตามความต้องการ 

9.  บอกประวัติความเป็นมาของห้องสมุดในประเทศไทยได้

10.  บอกประวัติความเป็นมาของห้องสมุดในต่างประเทศได้              

11.  ปฏิบัติตนได้ถูกต้องเมื่อเข้าใช้ห้องสมุด

12.  ใช้แหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ในการค้นคว้าหาข้อมูลได้

1.  ความหมายของห้องสมุด 

            คำว่า  “ห้องสมุด”  มีคำใช้อยู่หลายคำ  ในประเทศไทยสมัยก่อนเรียกว่า  “หอหนังสือ”  ห้องสมุดตรงกับภาษาอังกฤษว่า  Library  มาจากศัพท์ภาษาละตินว่า  Libraria  แปลว่าที่เก็บหนังสือ  

                ห้องสมุด  คือ  สถานที่รวบรวมสรรพวิทยาการต่างๆ  ซึ่งได้บันทึกไว้ในรูปของหนังสือ  วารสาร  ต้นฉบับตัวเขียน  สิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ  หรือโสตทัศนวัสดุ  และมีการจัดอย่างมีระเบียบเพื่อบริการแก่ผู้ใช้  ในอันที่จะส่งเสริมการเรียนรู้และความจรรโลงใจตามความสนใจ  และความต้องการของ แต่ละบุคคล  โดยมีบรรณารักษ์เป็นผู้จัดหา  และจัดเตรียมให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุด                

2.  ความสำคัญของห้องสมุด 

            ความสำคัญของห้องสมุด  การศึกษาไทยตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษามุ่งพัฒนาเยาวชนไทยให้  เก่ง  ดี  มีความสุขจากสังคมแห่งการเรียนรู้  ซึ่งเป็นสังคมคุณภาพที่สร้างคนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้  การสร้างนิสัยรักการอ่าน  และการแสวงหาแหล่งเรียนรู้  เพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์  ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร  (Information  Age)  ผู้ที่สนใจจะศึกษาค้นคว้าให้เป็นผู้รอบรู้ในวิทยาการ  เชี่ยวชาญในงานวิชาชีพ  และทันสมัยต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ  นั้น  จำเป็นต้องพึ่งพาห้องสมุดเป็นอย่างยิ่ง  ห้องสมุดเป็นปัจจัยสำคัญสิ่งหนึ่งที่จะบ่งชี้ถึงความมีมาตรฐาน        ด้านการศึกษาของสถาบันการศึกษาแห่งนั้น ๆ ความสำคัญของห้องสมุดในแต่ละสถาบันการศึกษานั้น  อาจสรุปได้ดังนี้

            2.1  ห้องสมุดเป็นแหล่งรวมทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ  เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษาที่ผู้ใช้สามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่ต้องการได้ทุกสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอน ในสถานศึกษา  เพื่อให้ครูอาจารย์ผู้สอน  และนักเรียนนักศึกษาเข้าค้นคว้าหาความรู้  เป็นสื่อกลาง        ในกระบวนการเรียนการสอน

            2.2  ห้องสมุดเป็นแหล่งที่ทุกคนสามารถเลือกศึกษาค้นคว้าได้โดยอิสระตามความสนใจ ของแต่ละบุคคล  เป็นแหล่งภูมิปัญญาของสังคม  อาจเป็นการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้รอบรู้เข้าใจยิ่งขึ้น ในเนื้อหาวิชา  หรือเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่  หรือเลือกอ่านสิ่งที่ตนสนใจ  ซึ่งโรเจอร์  เบคอน  นักปราชญ์ชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า “การอ่านทำให้เป็นคนเต็มคน” ก่อให้เกิดการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง  ตอบสนองความต้องการในการแสวงหาความรู้เฉพาะบุคคล

            2.3  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  คนเรานั้นหากมีเวลาว่างก็ควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คุ้มค่าเวลา  การใช้เวลาว่างของแต่ละคนแตกต่างกัน  เช่น  บางคนชอบนั่งเล่นเฉยๆ  ชมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว  บางคนชอบดูหนัง  บางคนชอบฟังเพลง  บางคนชอบ เดินซื้อของหรือบางคนอาจชอบคุย  แต่การใช้เวลาว่างที่คุ้มค่าที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ  การอ่านหนังสือ  หยิบหนังสือดี ๆ  สักเล่มให้กับชีวิตอ่านแล้วทำให้ปัญญางอกงาม  เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม และยังช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดพอใจที่จะอ่านหนังสือต่างๆ โดยไม่รู้จักจบสิ้นจากเล่มหนึ่งไปสู่อีกเล่มหนึ่ง

            2.4  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้มีความรู้ทันสมัย  ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ  เพราะผู้ใช้ห้องสมุด เป็นประจำจะเป็นผู้ที่รู้ข่าวความเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกประเทศ

            2.5  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้มีนิสัยรักการอ่าน  การค้นคว้า  และใฝ่หาความรู้ด้วยตนเอง  เพราะห้องสมุดเป็นแหล่งบริการข้อมูล  ข่าวสาร  จัดให้มีบริการช่วยการค้นคว้า  และเสนอแนะการอ่านผู้ซึ่งสามารถขยายขอบเขตการอ่าน  การศึกษาค้นคว้าให้กว้างขวางออกไปได้มากขึ้นก่อให้เกิด การเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  กระตุ้นให้รักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า

            2.6  ห้องสมุดเป็นสมบัติของส่วนรวม  ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องรับรู้กฎระเบียบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  รับรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ที่พึงมีพึงปฏิบัติต่อส่วนรวม  จึงเป็นการปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยในตัวบุคคลเป็นอย่างดี

            2.7  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีความเพลิดเพลิน  ซึ่งนับว่าเป็นการพักผ่อนทางอารมณ์ของผู้ใช้ห้องสมุดวิธีหนึ่งด้วย

3.  ประโยชน์ของห้องสมุด

            ห้องสมุดเป็นแหล่งที่จัดหา  รวบรวมทรัพยากรสารนิเทศ  อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อตัวบุคคลและสังคมในด้านต่าง ๆ  ดังต่อไปนี้

            1.  ด้านการเรียนการสอน

            2.  ด้านการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่

            3.  ด้านศิลปวัฒนธรรม  (สะสมความคิด  วัฒนธรรม  มรดกของชาติ)

            4.  ด้านการดำรงชีวิต

            5.  ด้านเศรษฐกิจ (ช่วยประหยัดในการค้นหาความรู้  สร้างอาชีพให้คน)

            6.  ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม   

4.  องค์ประกอบของห้องสมุด

            ห้องสมุดจะดำเนินการอยู่ได้ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

            4.1  สถานที่  สำหรับใช้จัดเก็บหนังสือและโสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  และใช้ดำเนินงานในการจัดให้บริการแก่ผู้ใช้ได้อย่างสะดวก  ห้องสมุดอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาคารหรือเป็นอาคารเอกเทศก็ได้  ขึ้นอยู่กับจำนวนของทรัพยากรสารนิเทศ  วัสดุอุปกรณ์  และผู้ใช้บริการว่ามีมากน้อยเพียงใด

            4.2   ทรัพยากรห้องสมุด ต้องมีจำนวนมากพอและใหม่ทันสมัยอยู่เสมอ  คัดเลือกให้เหมาะสมกับผู้ใช้  มีการจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ค้นหาข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว  มีการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีและพร้อมที่จะใช้งานได้ตลอดเวลา

            4.3  บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดต้องมีบรรณารักษ์วิชาชีพเป็นผู้ดำเนินการบริหารและจัดการให้การดำเนินงานห้องสมุดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีเจ้าหน้าที่อื่น ๆ  เพียงพอที่จะช่วยในงานจัดหา  จัดเตรียมหนังสือให้ยืม  งานพิมพ์  งานจัดเก็บสิ่งพิมพ์  งานบริการ  และงานอื่น ๆ ของห้องสมุด

            4.4  งบประมาณ  ห้องสมุดต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงพอสำหรับการจัดซื้อหนังสือและสื่ออื่น ๆ วัสดุอุปกรณ์  เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  ในการจัดบริการของห้องสมุดและต้องได้รับงบประมาณอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

5.  วัตถุประสงค์ของห้องสมุด 

            โดยทั่วไปการจัดบริการห้องสมุดจะมีวัตถุประสงค์โดยรวม  ดังนี้

            5.1  เพื่อการศึกษา  (Education)  การศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  เพราะฉะนั้น การเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาล  ประถมศึกษา  มัธยมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา  ผู้เรียนจึงจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ  ในห้องสมุดเพื่อให้เกิดความรู้อย่างกว้างขวาง  ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น  ส่วนการศึกษานอกระบบหรือผู้ที่ไม่ได้ศึกษาถึงขั้นสูงสุดก็สามารถใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาตนเอง  พัฒนาอาชีพได้ตลอดชีวิต  เพราะห้องสมุดเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปค้นหาคำตอบที่ต้องการได้

            5.2  เพื่อให้ความรู้  ข้อมูล  ข่าวสาร  (Information)  ห้องสมุดได้จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศประเภทหนังสือพิมพ์  วารสาร  นิตยสาร  ในทุกสาขาวิชาเพื่อให้ผู้ใช้ติดตามข่าว  ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ปัจจุบัน  และความก้าวหน้าทางวิชาการในแต่ละสาขาวิชาชีพ  จึงเป็นการสนองความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  และห้องสมุดยังได้จัดหาทรัพยากรสารนิเทศที่ดีและใหม่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลามาไว้ให้บริการ  ผู้ใช้จึงได้ทั้งความรู้และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  อีกทั้งยังสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและนอกประเทศทั่วโลก

            5.3  เพื่อการค้นคว้าวิจัย  (Research)  ห้องสมุดเป็นสถานที่จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศประเภทสถิติ  รายงานการวิจัยและหนังสืออ้างอิง  เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกต่อการค้นคว้าวิจัย ของนักวิจัยในสาขาต่าง ๆ  ซึ่งได้จัดหา  รวบรวมสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการ  โครงงาน  ผลการค้นคว้าวิจัยที่เกิดขึ้นใหม่  และสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายที่มีผู้จัดทำไว้แล้ว  ไว้สำหรับให้ผู้ที่สนใจ นักการศึกษา  นักวิจัยได้ศึกษาค้นคว้า  และส่งเสริมให้เกิดงานค้นคว้าวิจัยชิ้นใหม่ ๆ  เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ  เพื่อเป็นการเสริมสร้างความงอกงามทางด้านวิชาการต่อไป ในอนาคต

            5.4  เพื่อให้เกิดความจรรโลงใจ  (Inspiration)   ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดนอกจาก  จะให้ความรู้ทางวิชาการแล้ว  ยังได้รวบรวมสะสมความรู้สึกนึกคิดที่สร้างสรรค์ความดีงาม  ซึ่งได้แก่  ทรัพยากรสารสนเทศประเภท  ปรัชญา  จิตวิทยา  ศิลปะ  ศาสนา  วรรณคดี  บทประพันธ์ต่างๆ  ชีวประวัติ  สารคดีท่องเที่ยว  ซึ่งเมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วจะทำให้เกิดความสุขทางใจ  เกิดความรู้สึก ชื่นชมและประทับใจในความคิดที่ดีงาม  เกิดความซาบซึ้งประทับใจในเรื่องราวที่อ่าน  มองเห็นคุณค่าของความดีงาม  ได้คติชีวิตจนสามารถยกระดับจิตใจและเกิดการพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีมีความสำเร็จในชีวิตอันเป็นประโยชน์ต่อบุคคลและสังคม

            5.5  เพื่อนันทนาการหรือพักผ่อนหย่อนใจ  (Recreation)  ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดนั้นนอกจากจะมีเนื้อหาทางด้านวิชาการแล้วยังมีหนังสือประเภทนวนิยาย  เรื่องสั้น  นิตยสาร  เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน  และห้องสมุดยังได้จัดหาสื่อที่เรียกว่า  Edutainment               (สื่อที่ให้ทั้งความรู้  ความคิด  การศึกษาด้านวิชาการ  และความบันเทิงไปพร้อม ๆ กัน)  เพื่อให้ผู้ใช้ห้องสมุดได้รับความสุข  ความเพลิดเพลินจากการอ่าน  การดูและการฟัง  เช่น  วีดิทัศน์  ฟังเพลง ดูหนังสารคดี  ดูการ์ตูน  ดูภาพล้อ  เป็นต้น

ห้องสมุดมีความสำคัญกับนักเรียนยังไง

1. ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 2. กระตุ้นให้รักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า 3. ก่อให้เกิดการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 4. เป็นสื่อกลางในกระบวนการเรียนการสอน 5. ตอบสนองความต้องการในการแสวงหาความรู้เฉพาะบุคคล ประเภทของห้องสมุด

งานบริการของห้องสมุดมีความสําคัญอย่างไร

งานบริการห้องสมุด คือ งานที่ห้องสมุดจัดทำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ในด้านการอ่าน การค้นคว้าหาความรู้ และการส่งเสริมการอ่านให้กว้างขวางและทั่วถึง เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับสารสนเทศอย่างรวดเร็ว ตรงตามความต้องการมากที่สุด รวมถึงการจัดบรรยากาศที่ดีในห้องสมุด และความเป็นระเบียบ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้รับ ...

ห้องสมุดในปัจจุบันมีบทบาทต่อสังคมอย่างไร

ห้องสมุดมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งไนฐานะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในด้านต่างๆ ช่วยให้เกิดกรผลิต การจำหน่าย การหมุนเวียนหนังสือและวัสดุอุปกรณ์ห้องสมุดให้กว้างขวาง ช่วยสร้างงานและคนให้มีความรู้ ความสามารถ พัฒนาอาชีพการงานให้พลเมืองโดยได้ใช้เวลาวางให้เป็นประโยชน์ งานบริการสื่อการศึกษาในห้องสมุดช่วยประหยัด ...

ห้องสมุดมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด

1. ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และวิชาการต่าง ๆ ที่นักศึกษาสามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา 2. ห้องสมุดเป็นแหล่งที่นักศึกษาสามารถเลือกหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ได้อย่างหลากหลาย ตามความสนใจและความต้องการของตนเอง