พิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด ลองจิจูด

พิกัดภูมิศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับโหราศาสตร์ไทย

          มีศาสตร์การทำนายหลายแขนงที่ใช้ดวงดาวเป็นการอ้างอิงประกอบการทำนายชะตาชีวิตหรือลักษณะนิสัยของคนคนหนึ่ง โดยโหราศาสตร์ก็เป็นศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับดาราศาสตร์และภูมิศาสตร์ด้วยเช่นกัน ด้วยการบอกตำแหน่งที่เราเกิด ประกอบกับเวลา ณ ขณะนั้นที่กลุ่มดาวต่าง ๆ เช่น กลุ่มดาวจักรราศีหรือดาวเคราะห์ ทำมุมกับพื้นโลกด้วยการอ่านค่าพิกัดของดวงดาวด้วยระบบพิกัดขอบฟ้า ซึ่งเครื่องบอกเวลาที่สำคัญที่สุดของวิชาโหราศาสตร์คือ “ดวงอาทิตย์” ที่เชื่อมโยงกับดาราศาสตร์ด้านการเคลื่อนที่ของโลก ดวงอาทิตย์ และดวงดาว ที่สัมพันธ์กัน

พิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด ลองจิจูด

ภาพที่ 1 แผนที่ดาวแบบโบราณ เพื่อการทำนายทางโหราศาสตร์
ที่มา https://pixabay.com/ ,Sarah_Loetscher

ทำความรู้จักกับเส้นละติจูดและเส้นลองจิจูด

พิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด ลองจิจูด

ภาพที่ 2 จำลองเส้นละติจูดและลองจิจูดอย่างง่าย
ที่มา ดัดแปลงจาก https://www.flickr.com/photos/internetarchivebookimages/14784485672

          เส้นละติจูด (Latitude) และลองจิจูด (Longitude) เป็นเส้นบอกพิกัดด้วยระบบทางภูมิศาสตร์ (Geographic coordinate systems) แบบที่ทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุดเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นระบบพิกัดที่กำหนดตำแหน่งต่างๆ บนพื้นโลก เริ่มแรกของการทำความเข้าใจเรื่องนี้ อธิบายด้วยการใช้ลูกโลกจำลองหรือลองจินตนาการถึงโลกกลมๆทั้งใบของเรา โดยที่เรากำหนดจุดหนึ่งขึ้นมาก่อนเป็นจุดอ้างอิงหลัก คือ “จุดศูนย์สูตร” แล้วลากเส้นจากจุดนี้ไปรอบโลกจากทิศตะวันออกไปตะวันตก วนรอบโลกไปจนมาหยุดที่จุดเดิม จนกลายเป็นเส้นรอบวงของโลก กลายเป็น “เส้นระนาบศูนย์สูตร” ซึ่งถือว่าเป็นเส้น “ละติจูด (Latitude)” ซึ่งแบ่งโลกออกเป็นซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ มีค่าเชิงมุม 90 องศาพอดี

          ดังนั้นการใช้ค่าระยะเชิงมุมของละติจูดอ้างอิงบอกตำแหน่งต่างๆ นอกจากจะกำหนดเรียกค่าวัดเป็น องศา ลิปดา และพิลิปดา แล้ว จะกำกับด้วยตัวอักษรบอกทิศทางเหนือหรือใต้เสมอ เช่น ละติจูดที่ 15 องศา 10 ลิปดา 5 พิลิปดาเหนือ

          ต่อมาให้ลากเส้นจากจุดเดิมคือ “จุดศูนย์สูตร” แต่เปลี่ยนเป็นลากขึ้นไปทางทิศเหนือ วนรอบโลกมาทางทิศใต้จนลากกลับมาที่เดิม ก็จะได้เส้น “ลองจิจูด (Longitude)”

          เมื่อลากทั้ง 2 เส้นเรียบร้อยแล้ว จะเกิดจุดตัดที่เป็นพิกัดขึ้น เมื่อเราเคลื่อนย้ายระยะห่างออกไป หมุนไปรอบๆลูกโลก ก็จะได้จุดพิกัดนี้เต็มไปหมด เป็นช่องตารางที่สังเกตเห็นได้จากลูกโลก การกำหนดพิกัดนี้ก็จะแบ่งตามระยะเชิงมุมที่ห่างจากศูนย์กำเนิดของละติจูดและลองจิจูดที่กำหนดขึ้นสำหรับศูนย์กำเนิดของละติจูด (Origin of latitude) นั้น

พิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด ลองจิจูด

ภาพที่ 3 แสดงการนับพิกัดเชิงมุม
ที่มา http://tumsikwae.blogspot.com/2014/10/latitude-and-longitude.html

          การใช้พิกัดทางภูมิศาสตร์นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นว่าเราอยู่ตรงไหนบนโลก เมื่อตอนที่เราเกิด เราก็สามารถบอกคร่าว ๆ ได้ว่าเราเกิดที่พิกัดตำแหน่งที่เท่าไหร่ของโลกใบนี้ โดยอ้างอิงจากพิกัดของโรงพยาบาลที่เราเกิด หรือพิกัดของหมู่บ้านที่เราเกิด เป็นต้น เมื่อรู้ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์บนโลกแล้ว ต่อไปก็คือการวัดตำแหน่งที่เราเกิดกับตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้าด้วยระบบพิกัดขอบฟ้านั่นเอง

การบอกตำแหน่งของดวงดาวด้วยระบบพิกัดขอบฟ้า

          ระบบพิกัดขอบฟ้า (Horizontal System) หรือบางทีเรียกว่า Altitude and Azimuth system เป็นการบอกตำแหน่งดาวเพื่อให้รู้ว่าดาวอยู่เหนือขอบฟ้า (celestial horizon) เป็นระยะทางตามมุมเท่าใด และอยู่ห่างจากตำแหน่งเทียบบนเส้นขอบฟ้ามากน้อยเพียงใด ความหมายของคำที่ใช้ในระบบขอบฟ้ามีดังนี้

พิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด ลองจิจูด

ภาพที่ 4 แผนภาพจำลองระบบพิกัดขอบฟ้า
ที่มา http://tumsikwae.blogspot.com/2014/10/latitude-and-longitude.html

  1. เส้นขอบฟ้า (horizon) คือ วงกลมใหญ่บนทรงกลมท้องฟ้าที่อยู่ห่างจากจุดเหนือศีรษะและเนเดอร์เท่ากัน มีค่าเท่ากับ 90 องศา หรือคือแนวระดับสายตาที่เป็นแนวบรรจบของท้องฟ้าและพื้นโลก

  2. จุดเหนือศีรษะ (zenith) เป็นตำแหน่งบนทรงกลมท้องฟ้าที่อยู่ในแนวตรงเหนือศีรษะของผู้สังเกตพอดี

  3. เนเดอร์ (nedir) เป็นตำแหน่งบนทรงกลมท้องฟ้าที่อยู่ตรงข้ามกับจุดเหนือศีรษะ

  4. เมอริเดียนท้องฟ้า (celestial meridian) เป็นเส้นสมมติเส้นหนึ่งบนท้องฟ้าที่ลากจากขอบฟ้า ทิศเหนือลากขึ้นไปจนผ่านจุดเหนือศีรษะ (zenith) และลากต่อไปจนจรดขอบฟ้าทิศใต้แบ่งครึ่งท้องฟ้าออกเป็น 2 ส่วน คือ ซีกตะวันออกและตะวันตก

  5. อะซิมุท (azimuth) เป็นค่าของมุมที่วัดจากทิศเหนือไปทางทิศตะวันออกตามแนวเส้นขอบฟ้าถึงวงกลมดิ่งที่ลากผ่านดาว การวัดค่าอะซิมุทจะมีค่าตั้งแต่ 0 - 360 องศา

  6. อัลติจูด (altitude) หรือมุมเงยหรือมุมสูงเป็นระยะทางตามมุมที่วัดจากเส้นขอบฟ้าขึ้นไปจนถึงดาวดวงนั้น มีค่าตั้งแต่ 0 - 90 องศา และมีค่าเฉพาะค่าบวกเท่านั้น (นิยมบอกตำแหน่งดาวที่อยู่เหนือเส้นขอบฟ้าเท่านั้น)

       ในการดูดาวแต่ละครั้งก็จะมีแผนที่ดาว ที่มีลักษณะเป็นวงกลม บอกค่ามุมต่าง ๆ และตำแหน่งดาว ชื่อเรียกดาว รวมไปถึงกลุ่มดาวต่างๆ  โดยวิชาโหราศาสตร์จะเน้นไปที่การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์และกลุ่มดาวจักรราศี ที่เคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งที่ซ้อนทับกัน ณ พิกัดภูมิศาสตร์ที่เป็นสถานที่เกิดของคนคนนั้นเป็นหลัก และรองลงมาก็คือตำแหน่งของกลุ่มดาวจักรราศีที่ทำมุมต่างๆ (ซึ่งส่วนมากจะอ้างอิงจากเส้นขอบฟ้า) กับตำแหน่งที่เราเกิด ณ พิกัดภูมิศาสตร์บนพื้นโลก

        การทำนายทางโหราศาสตร์กับการเคลื่อนที่ของดวงดาว

        วัน เดือน ปี และเวลาที่เราเกิด เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดวงดาว (รวมถึงดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของโลกด้วย) อันสัมพันธ์กับพิกัดทางภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ที่บ่งบอกพิกัด ณ จุด ที่เราเกิด ที่ทางโหราศาสตร์เรียกว่า “เวลาตกฟาก” นั่นเอง การดูดวงจึงสามารถเรียกได้ว่าสามารถอ้างอิงตามหลักการทางภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง ส่วน “การตีความ” หรือ “การทำนาย” ความหมายที่อ่านได้จากความเชื่อมโยงดังกล่าวนั้น ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งก็เป็นศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่เกิดอารยธรรมมนุษย์ขึ้นเมื่อหลายพันปีมาแล้ว

แหล่งที่มา

รศ. ยืน ภู่วรวรรณ, สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563. จาก https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet2/knowledge_math/math_ast_hora.htm

โปรซอฟท์ คอมเทค. ละติจูด, ลองจิจูด กับการบอกพิกัดทางภูมิศาสตร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563. จาก https://www.prosoftgps.com/Article/Detail/72143

อมร เพ็ชรสว่าง. ระบบพิกัดในแผนที่. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563. จาก  https://www.gistda.or.th/main/th/node/873

หัวเรื่อง และคำสำคัญ

พิกัดทางภูมิศาสตร์,เส้นละติจูด,ลองจิจูด,ระบบพิกัดขอบฟ้า,โหราศาสตร์,ดาราศาสตร์

ประเภท แบ่งตามผลผลิต สสวท.

บทความ

รูปแบบการนำเสนอ แบ่งตามผลผลิต สสวท.

สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบดิจิทัล

ลิขสิทธิ์

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

วันที่เสร็จ

วันอังคาร, 03 มีนาคม 2563

สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา

โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ

ช่วงชั้น

มัธยมศึกษาตอนปลาย

กลุ่มเป้าหมาย

นักเรียน
บุคคลทั่วไป

ดูเพิ่มเติม

คุณอาจจะสนใจ

พิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด ลองจิจูด

Hits

พิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด ลองจิจูด
(16081)

ในอดีตที่ผ่านมานั้นมนุษย์เรารู้จักดาวหางเพียงแค่ว่ามันเป็นวัตถุก้อนกลม ๆ อยู่บนฟ้าที่ทอดหางยาว คนใน ...

พิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด ลองจิจูด

Hits

พิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด ลองจิจูด
(2711)

ฟังก์ชันตรีโกณมิติมีความสำคัญมากในการศึกษาศาสตร์สาขาต่าง ( ทั้งทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เนื่อ ...