ชาวต่างประเทศที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ไทย

ขุนนางและชาวต่างชาติที่มีบทบาทในการสร้างสรรค์ชาติไทย

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

ชาวต่างประเทศที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ไทย

              ออกญาโกษาธิบดี มีชื่อเดิมว่า ป่าน เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์กษัตริย์องค์ที่ 27 ของอยุธยา และเป็นน้องชายของออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ซึ่งดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่างปี พ.ศ. 2200-2226 ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระวิสุทธสุนทร (ป่าน) ในสมัยที่โกษาปานดำรงตำแหน่งเป็นพระวิสูตรสุนทรได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในสมัยดังกล่าวฝรั่งเศสมีอิทธิพลในราชสำนักของพระนารายณ์มาก จุดประสงค์ของฝรั่งเศส คือ การเผยแพร่คริสต์ศาสนา และพยายามให้พระนารายณ์เข้ารีตเป็นคริสต์ชนด้วย รวมทั้งยังพยายามมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยา ด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอกและเมืองมะริด
              ออกพระวิสุทธิ์สุนทร (ป่าน) ออกเดินทางไปฝรั่งเศส เมื่อธันวาคม พ.ศ. 2228 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 และเดินทางกลับเมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2230 รวมเดินทางไปกลับอยุธยาฝรั่งเศสทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน โกษาปานเป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกที่ได้พบเห็นในการเดินทางครั้งนั้น สำหรับการเข้าเฝ้าในครั้งนี้ ออกพระวิสุทธิ์สุนทร (ปาน) ได้กระทำหน้าที่เป็นผู้แทนของราชสำนักอยุธยาอย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีการเข้าเฝ้า จนชาวฝรั่งเศสได้กล่าวยกย่องชื่นชมคณะทูตไทย ซึ่งถือว่าการไปเจริญสัมพันธไมตรีครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การเจริญสัมพันธไมตรีของพระวิสุทธิ์สุนทร (ป่าน) และคณะราชทูตในครั้งนั้นได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในทวีปยุโรป เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินทางด้านตะวันออกแต่งคณะราชทูตไปยังสำนักฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยส์ทรงจัดการรับรองคณะราชทูตจากกรุงศรีอยุธยาอย่างสมเกียรติยศ และโปรดให้จัดทำเหรียญที่ระลึก และมีการเขียนรูปราชทูตไทยเข้าเฝ้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสเป็นที่ระลึกด้วย
ในปลายสมัยของพระนารายณ์มีความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส) ในหมู่ขุนนางไทยและพระสงฆ์ พระเพทราชา เจ้ากรมช้าง (ซึ่งต่อมาเป็นกษัตริย์องค์ที่ 28 ของอยุธยา) ทรงเป็นผู้นำในการต่อต้านครั้งนี้ โกษาปานได้เข้าเป็นฝ่ายของพระเพทราชา เมื่อพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ โกษาปานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจากับนายพลฝรั่งเศสที่คุมป้อมอยู่ที่เมืองบางกอกให้ถอนทหารออกไปจากอาณาจักรไทยได้สำเร็จ
                  พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นชายหนุ่มที่มีรูปงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย มีไหวพริบดีรู้จักโต้ตอบ ได้ถูกเรื่องราวและกาลเทศะ ไม่มีอาการประหม่าสะทกสะเทิ้นเขินอาย เป็นคนช่างสังเกตจดจำสิ่งที่พบเห็นได้ทุกอย่างเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินเป็นสมเด็จพระเพทราชานั้น พระยาโกษาธิบดี (ปาน ) นั้นได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนซื่อสัตย์ต่อสมเด็จพระนารายณ์ฯ ดังนั้นเมื่อเห็นว่าสมเด็จพระเพทราชากระทำการไม่สมควรกรณี แต่งตั้งทั้งพระมเหสีและพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสี จึงทำให้สมเด็จพระเพทราชานั้นทรงกริ้วเป็นอันมาก จึงหาเหตุให้ต้องพระราชอาญา เมื่อ พ.ศ. 2243 ภรรยาตลอดจนทรัพย์สมบัติของท่านก็ถูกริบหมด และมีโทษโบยด้วยเชือกจนสลบ เล่ากันว่าหลังนั้นไม่มีเนื้อดีจนมีการกล่าวกันว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) นั้นมีความเกรงกลัวพระราชอาญาเสียจนไม่กล้าที่จะกราบทูลเรื่องสำคัญๆ จนในที่สุดถึงแก่อสัญกรรม ด้วยความโทมนัสที่ถูกพระราชอาญาและต้องโทษโบยอยู่เสมอ
                   ส่วนครอบครัวของท่านก็ได้แตกฉานซ่านเซ็นไปอยู่คนละทิศละทาง เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย คุณทองดีซึ่งเป็นหลานปู่ของโกษาปานได้อพยพไปอยู่กับเจ้าพระยา​พิษณุโลก​ (เรือง) ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงบได้มาตั้งนิวาสสถานอยู่ ณ ตำบลสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี ท่านผู้นี้ปรากฏว่าเป็นบิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับการยกย่องสรรเสริญในเรื่องความสามารถทำให้ไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ และจากบุคลิกของท่านที่เฉลียวฉลาด มีมารยาทเรียบร้อย ช่างสังเกต ช่างจดจำ พูดจาหลักแหลมคมคาย ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการประกาศชื่อเสียง และเกียรติคุณของประเทศชาติ จากผลงาน การเป็นหัวหน้าคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสจนประสบผลสำเร็จของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ทำให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา

หม่อมราโชทัย

(หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร)

ชาวต่างประเทศที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ไทย


                  หม่อมราโชทัย นามเดิม หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร (12 มิถุนายน พ.ศ. 2363 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2410) เป็นบุตรของพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชอุ่ม กรมหมื่นเทวานุรักษ์ เป็นนัดดาของพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเกศ กรมขุนอิศรานุรักษ์ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 เป็นปนัดดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

                  หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร เกิดตอนปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเจริญวัย บิดาได้นำไปถวายตัวอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงศ์ พงศาอิศวรกระษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎผนวช หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้ตามเสด็จไปรับใช้ ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสนพระราชหฤทัยในภาษาอังกฤษ หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้ศึกษาตามพระราชนิยม โดยมีมิชชันนารีที่เข้ามาสอนศาสนาเป็นผู้สอน จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี จนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงใช้ให้เป็นตัวแทนเชิญกระแสรับสั่งไปพูดจากับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
                  ครั้นเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ติดตามสมัครเข้ารับราชการ ความสามารถของหม่อมราชวงศ์กระต่ายที่ช่วยราชกิจได้ดี จึงได้รับพระราชทานเลื่อนอิสริยยศเป็น "หม่อมราโชทัย" และด้วยความรู้ในภาษาอังกฤษดี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยเป็นล่ามหลวงไปกับคณะราชทูตไทยที่เชิญพระราชสาสน์และเครื่องมงคลราชบรรณาการ เดินทางไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย การเดินทางไปในครั้งนั้นเป็นที่มาของหนังสือนิราศเมืองลอนดอน ซึ่งแต่งหลังจากเดินทางกลับได้ 2 ปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยขึ้นเป็นอธิบดีพิพากษาศาลต่างประเทศเป็นคนแรกของไทย
                   หม่อมราโชทัยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2410 ขณะมีอายุ 47 ปี พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดขึ้นที่เมรุวัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2410

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ชาวต่างประเทศที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ไทย

  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นมหาบุรุษของไทยที่สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากที่ตั้งของสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และบริเวณโดยรอบเคยเป็นจวนและที่ดินของท่านมาก่อน ทุก ๆ คนในสถาบันราชภัฏแห่งนี้จึงเคารพเทิดทูนท่านโดยขนานนามท่านว่า "เจ้าพ่อ" และเรียกตนเองว่า "ลูกสุริยะ" เนื่องจากท่านได้รับพระราชทานตรามหาสุริยมณฑลจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นตราประจำตัวและยึดถือเป็นสัญลักษณ์แทนตัวท่านมาโดยตลอด

   สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นบุตรคนใหญ่ของสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงจัน เกิดในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๕๑ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๙ คน บรรพบุรุษของตระกูลบุนนาคเป็นเสนาบดีคนสำคัญ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับราชการแผ่นดินสืบทอดต่อกันมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้รับการศึกษาและฝึกฝนวิชาการต่าง ๆ เป็นอย่างดี เนื่องจากบิดาของท่านเป็นเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีที่ว่าการต่างประเทศและว่าการปกครองหัวเมืองชายฝั่งทะเลมาก่อน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจในภาษาอังกฤษ สามารถพูด และอ่านตำราภาษาอังกฤษในสมัยนั้นได้อย่างคล่องแคล่ว ท่านได้คบหากับชาวตะวันตก ที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยนั้น โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ ท่านยังเป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาและทำสัญญากับชาติตะวันตก ที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ โดยตลอด นอกจากนี้ยังมีความสามารถ ในการต่อเรือแบบฝรั่ง จนสามารถต่อเรือกำปั่นขนาดใหญ่เป็นจำนวนหลายลำท่านยังมีความสนใจในความรู้อื่น ๆ เช่น วรรณคดี การค้าการปกครอง เป็นต้น

    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรับราชการมาโดยตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ มีตำแหน่ง ราชกาลในระดับสูงคือ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ แผ่นดินเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ยังทรงพระเยาว์ ภายหลังจากที่ลาออกจากราชกาลในบั้นปลายชีวิต ท่านยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจนถึงแก่พิราลัย นับเป็นมหาบุรุษคนสำคัญ ของประเทศชาติที่ประกอบคุณงามความดีจนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งปวง ดังบันทึกของ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ทูตอังกฤษที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งกล่าวไว้ว่า "เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คนนี้ ถ้าไม่เป็นคนเจ้ามารยา หรือคนรักบ้านเมืองของตนก็ตาม ต้องยอมรับว่าฉลาดล่วงรู้การล้ำคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ ทั้งมีกริยาอัชฌาสัย อย่างผู้ดี และรู้จักพูดจาเหมาะแก่การ" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระทัย และ ยกย่องเกียรติคุณของท่านว่า "ครั้นถึงราชกาลปัจจุบัน ได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ฉลองพระเดชพระคุณโดยอัธยาศัย เที่ยงธรรม ซื่อตรงมิได้แลเกรงผู้ใด จะว่ากล่าวตัดสินการสิ่งใดจะเป็นคุณประโยชน์โดยทั่วกัน และเป็นแบบอย่างต่อไปภายหน้า สิ้นกาลนาน"

    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น มีบุตรและธิดารวมกัน ๔ คน ในบั้นปลายชีวิต ของท่านมักจะพักอยู่ที่เมืองราชบุรี และถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมบนเรือที่ปากคลองกระทุ่มแบน ราชบุรี รวมอายุ ๗๔ ปี เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๕ สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจึงได้จัดพิธีรำลึกถึงท่านในวันที่ ๑๙ มกราคม ของทุกปี เรียกว่า วันคล้ายวันพิราลัย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงเป็นศูนย์รวมของทุกคนในสถาบันแห่งนี้ที่จะประกอบคุณความดีทั้งปวง และมีความสามัคคีต่อกันเพื่อเทิดทูนเกียรติของท่านตลอดไป

ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère)

ชาวต่างประเทศที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ไทย

ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (ฝรั่งเศส: Simon de La Loubère) (21 เมษายน พ.ศ. 2185-26 มีนาคม พ.ศ. 2272) เป็นราชทูตจากประเทศ ฝรั่งเศส ได้เดินทางมาประเทศไทยพร้อมกับ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เนื่องด้วยเป็นราชทูตเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยเดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยทหารของฝรั่งเศส จำนวนประมาณ 600 คน ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สิ่งที่สำคัญของลา ลูแบร์ ก็คือ จดหมายเหตุลา ลูแบร์บอกถึงชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ประเพณี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หลายสิ่งหลายอย่างของคนในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงนับได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย

จดหมายเหตุลาลูแบร์ (ฝรั่งเศส: "Du Royaume de Siam" แปลตามตัวคือ "ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม") เป็นจดหมายเหตุพงศาวดารที่กล่าวถึงราชอาณาจักรสยามในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2230 โดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ ประเทศสยาม ได้พรรณาถึงกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างกว้างขวาง แม้ว่าเขาจะอยู่เพียง 3 เดือน 6 วัน จึงต้องอาศัยความรู้จากหนังสือที่ชาวตะวันตกซึ่งมากรุงสยามแต่ก่อนแต่งไว้อย่างคลาดเคลื่อนบ้าง สอบถามจากคนที่ไม่มีความรู้บ้าง ฟังจากคำบอกเล่าซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้าง บางเรื่องก็คาดเดาเอาเอง

จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับแปลในประเทศไทยมีอยู่ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์แปล โดยทรงแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับแปลของสันต์ ท.โกมลบุตร จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส

จุดประสงค์ของการเขียน

มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ได้ออกเดินทางจากท่าเรือเมือง เบรสต์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2230 มาทอดสมอที่กรุงสยาม เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2230 เดินทางกลับเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2231 ขึ้นบกที่ท่าเรือเมืองเบรสต์ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2231

ความมุ่งหมายในการเขียน เพ่งเล็งในด้านอาณาเขต ความอุดมสมบูรณ์ คุณภาพของดินในการกสิกรรม ภูมิอากาศเป็นประการแรก ต่อมาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีโดยทั่ว ๆ ไป และเฉพาะเรื่องเฉพาะราย เรื่องเกี่ยวกับรัฐบาล และศาสนาจะกล่าวในตอนท้าย และได้รวบรวมบันทึกความทรงจำ เกี่ยวกับประเทศนี้ ที่เขาได้นำติดตัวมาด้วยไปผนวกไว้ตอนท้าย และเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักชาวสยามโดยแจ่มชัด จึงได้เอาความรู้เกี่ยวกับอินเดีย และจีนหลายประการมาประกอบด้วย นอกจากนั้นยังได้แถลงว่าจะต้องสืบเสาะให้รู้เรื่องราว พิจารณาสอบถาม ศึกษาให้ถึงแก่นเท่าที่จะทำได้ ก่อนเดินทางไปถึงประเทศสยาม ได้อ่านจดหมายเหตุทั้งเก่าและใหม่ บรรดาที่มีผู้เขียนขึ้นไว้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นตะวันออก ถ้าไม่มีสิ่งดังกล่าว เขา อาจใช้เวลาสักสามปี ก็คงไม่ได้ข้อสังเกต และรู้จักประเทศสยามดี

บาทหลวงปาลเลอกัวซ์

ชาวต่างประเทศที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ไทย

ประวัติ

          จนปี พ.ศ. 2378 มุขนายก ฌ็อง-ปอล-อีแลร์-มีแชล กูร์เวอซี (Jean-Paul-Hilaire-Michel Courvezy) ประมุขมิสซังสยามในขณะนั้นได้แต่งตั้งท่านเป็นอุปมุขนายก (vicar general) แล้วให้ดูแลดินแดนสยามในช่วงที่ท่านไปดูแลมิสซังที่สิงคโปร์ เมื่อกลับมาก็ได้รับอนุญาตจากสันตะสำนักให้อภิเษกท่านปาเลอกัวเป็นมุขนายกรองประจำมิสซังสยาม (Coadjutor Vicar Apostolic of Siam) ในปี พ.ศ. 2381  พร้อมทั้งดำรงตำแหน่งมุขนายกเกียรตินามแห่งมาลลอส เมื่อมีการแบ่งมิสซังสยามออกเป็นสองมิสซัง ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประมุขมิสซังสยามตะวันออกเป็นท่านแรก ในวันที่ 10 ก.ย. พ.ศ. 2384

ผลงานของบุคคลสำคัญในการสร้างสรรค์ชาติไทย
          ผลงานสำคัญที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้
                    1.  ด้านอักษรศาสตร์  บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ศึกษาภาษาไทยและบาลีจนมีความรู้แตกฉาน  และได้ทำพจนานุกรมภาษาไทยขึ้น  โดยมีวชิรญาณเถระ    ได้ทรงช่วยจัดทำด้วย  และบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ได้ถวายการสอนภาษาละตินให้พระองค์  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความรู้และความคิดของชาวตะวันตก
                    นอกจากนี้  บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ได้เขียนพจนานุกรมสี่ภาษา  คือ  ภาษาไทย  ละติน  ฝรั่งเศส  อังกฤษ หรือสัพพะ  พะจะนะ  พาสาไท  พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2397  เขียนหนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยเป็นภาษาฝรั่งเศส  และแต่งหนังสือเรื่อง  "เล่าเรื่องเมืองสยาม"  ทำให้ชาวยุโรปรู้จักเมืองไทยดียิ่งขึ้น

                                      2.  ด้านวิทยาการตะวันตก  บาทหลวงปาลเลอกัวซ์มีความรู้ในด้านภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์  โดยเฉพาะดาราศาสตร์  ฟิสิกส์  และเคมี  และมีความรู้ความชำนาญทางด้านวิชาการถ่ายรูป  รวมทั้งเป็นผู้นำวิทยาการถ่ายรูปเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2388  โดยสั่งซื้อกล้องถ่ายรูปมาจากฝรั่งเศส  และมีฝีมือในการชุบโลหะ  ซึ่งบุตรหลานข้าราชการบางคนได้เรียนรู้วิชาเหล่านี้จากท่าน  นอกจากนี้  บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ได้สร้างโรงพิมพ์ภายในวัดคอนเซ็ปชัญและจัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์

                    3.  ด้านศาสนา  บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่คริสตศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย  เช่น  สร้างสำนักพระสังฆราชเพื่อเผยแผ่คริสต์ศาสนาที่วัดอัสสัมชัญบางรัก  และได้ย้ายจากวัดคอนเซ็ปชัญไปอยู่ที่วัดอัสสัมชัญจนกระทั่งมรณภาพ      

หมอบรัดเลย์ (ดร.แดน บีช บรัดเลย์) 

            

ชาวต่างประเทศที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ไทย

ประวัติ

แดเนียล บีช บรัดเลย์ เป็นชาวเมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) เกิดเมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2347 บุตรคนที่ห้าของนายแดน บรัดเลย์และนางยูนิช บีช บรัดเลย์ สำเร็จการแพทย์จาก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สมรสกับภรรยาคนแรก เอมิลี รอยส์ บรัดเลย์ และภรรยาคนที่สอง ซาราห์ แบลคลี บรัดเลย์

แดเนียล บีช บรัดเลย์ ถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378 ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 31 พอดี โดยมาถึงพร้อมภรรยา เอมิลี เข้ามาทำงานในคณะกรรมธิการพันธกิจคริสตจักรโพ้นทะเล (American Board of Commissioners for Foreign Missions) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2379 ในสมัยรัชกาลที่ 3 พักอาศัยอยู่แถววัดเกาะ สำเพ็ง (วัดสัมพันธวงศ์) โดยอาศัยพักรวมกับครอบครัวของศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน หมอบรัดเลย์เปิดโอสถศาลาขึ้นเป็นที่แรกในสยาม เพื่อทำการรักษา จ่ายยาและหนังสือเกี่ยวกับศาสนาให้กับคนไข้ แต่เนื่องจากในย่านนั้นมีชาวจีนอาศัยอยู่ กิจการนี้จึงถูกเพ่งเล็งว่าอาจทำให้ชาวจีนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลสยามได้ จึงกดดันให้เจ้าของที่ดินคือนายกลิ่น ไม่ให้มิชชันนารีเช่าอีกต่อไป ต่อมาจึงย้ายไปอยู่แถวกุฎีจีน ที่เป็นย่านของชาวโปรตุเกส เช่าบ้านที่ปลูกให้ฝรั่งเช่าของเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) บริเวณหน้าวัดประยุรวงศาวาส โดยหมอบรัดเลย์และคณะมิชชันนารีดัดแปลงบ้านเช่าที่พักแห่งใหม่นี้เป็น โอสถศาลา เปิดทำการเมื่อ 30 ตุลาคม 2378

ที่บ้านพักแห่งใหม่นี้ หมอบรัดเลย์ได้ทำการผ่าตัดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทย โดยตัดแขนให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2380 พระภิกษุรูปนั้นประสบอุบัติเหตุจากกระบอกบรรจุดินดำทำพลุแตก ในงานฉลองที่วัดประยุรวงศ์ ซึ่งประสบความสำเร็จดีจนเป็นที่เลื่องลือ เพราะแต่ก่อนคนไทยยังไม่รู้วิธีผ่าตัดร่างกายมนุษย์แล้วยังมีชีวิตอยู่ดี[1]

เมื่อ พ.ศ. 2395 จึงมาเช่าที่หลวง ตั้งโรงพิมพ์อยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ข้างป้อมวิชัยประสิทธิ์ ติดกับพระราชวังเดิม พักอาศัยอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2416 อายุ 69 ปี

ผลงาน

  • ทำการผ่าตัดแผนใหม่เป็นรายแรกของประเทศไทย
  • ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย
  • ตั้งโรงพิมพ์และตีพิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นซึ่งเป็นประกาศทางราชการที่ใช้วิธีตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
  • ริเริ่มนิตยสาร บางกอกรีคอเดอ (The Bangkok Recorder) หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรก
  • พิมพ์ปฏิทินสุริยคติเป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก
  • พิมพ์หนังสือคัมภีร์ครรภ์ทรักษา
  • หนังสือพระบัญญัติสิบประการ (The 10 Commandments) ซึ่งเป็นหนังสือสอนคริสต์ศาสนามีทั้งหมด 12 หน้า

พระยารัษฏานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

ชาวต่างประเทศที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ไทย

ประวัติ  พระยารัษฎานุประดิษฐ์

          พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้) เกิดที่จังหวัดระนอง เมื่อวันพุธ เดือน 5 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2400  เป็นบุตรชายคน  สุดท้องของ พระยารัตนเศรษฐี (คอซูเจียง) จีนฮกเกี้ยน ที่ได้รับบรรดาศักดิ์เลื่อนฐานะจากพ่อค้าเป็นขุนนาง พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ มีมารดาเป็นชาวนา ชื่อกิ้ม มีพี่ชายต่างมารดา 5 คนดังนี้

                1. คอซิมเจ่ง (หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง)

                2. คอซิมก๊อง (พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร)

                3. คอซิมจั๋ว (หลวงศักดิ์ศรีสมบัติ ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง)

                4. คอซิมขิม (พระยาอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ช่วยราชการเมืองกระบุรี)

                5. คอซิมเต๊ก (พระยาจรูญราชโภคากรณ์ ผู้ช่วยราชการเมืองหลังสวน)

        พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เริ่มรับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2425 โดยพี่ชายคือ พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง)  เจ้าเมืองระนองขณะนั้นเป็นผู้นำตัว ไปถวายเป็นมหาดเล็ก และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ หลวงบริรักษ์โลหะวิไสย ผู้ช่วยเมืองระนอง แล้วเลื่อนเป็นที่ พระวัษฎงคตทิศรักษา เจ้าเมืองกระบุรี 

        เมื่อพ.ศ. 2428 ได้แสดง ความสามารถ สร้างบ้านบำรุงเมืองให้เป็นที่ปรากฎ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เจ้าเมืองตรังในปี พ.ศ. 2433 และในปี พ.ศ. 2455  โปรดเกล้าให้เป็น สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต 


ผลงาน

          1. ด้านการปกครอง กุศโลบายหลักในการปกครองของท่านคือ หลักพ่อปกครองลูก ทำนองเดียวกับที่ใช้ในยุคสุโขทัย นอกจากจะยึดหลักพ่อปกครองลูกแล้ว ยังยึดหลักในการแบ่งงาน และความรับผิดชอบแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ดังจะเห็นได้จาก การริเริ่มจัดตั้งที่ว่าการกำนันขึ้นเป็นแห่งแรก ที่มณฑลภูเก็ต และได้จัดระเบียบการประชุมผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอให้เป็นที่แน่นอน

          2. ด้านการส่งเสริมอาชีพราษฎร อาจจะเป็นเพราะพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เกิดในตระกูลพ่อค้า ท่านจึงมีโลกทรรศน์ ต่างจากขุนนางอื่น ๆ คือ มีอุปนิสัยบำรุงการค้า เมื่อเป็นเจ้าเมืองตรังได้ย้ายจากตำบลควนธานีไปอยู่ตำบลกันตังด้วยเหตุผลที่ว่า มีทำเลการค้าที่ดีกว่า เรือกลไฟ เรือสินค้าใหญ่ สามารถเข้าถึงได้สะดวก เหล่านี้เป็นต้น

          3. ด้านการคมนาคม พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ให้ความสำคัญเป็นที่สุด โดยเฉพาะการสร้างถนน

          4. ด้านการรักษาความสงบและปราบปรามโจรผู้ร้าย พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้สร้างความคิดใหม่ขึ้นในหมู่ราษฎร กล่าวคือ ราษฎรทุกคนต้องถือเป็นหน้าที่โดยเพื่อนบ้าน และเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามโจรผู้ร้ายจะทอดธุระให้แก่เจ้าพนักงาน บ้านเมืองฝ่ายเดียวไม่ได้

          5. ด้านการศึกษา แม้พระยารัษฎานุประดิษฐ์จะเขียนหนังสือไม่ได้ แต่ท่านก็ประจักษ์ในคุณประโยชน์ของการศึกษา ได้พยายามสนับสนุนในทุกทาง เริ่มแรกให้ใช้วัดเป็นโรงเรียน จัดหาครูไปสอน บางครั้งก็นิมนต์พระสงฆ์ไปสอน นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกบุตรหลานข้าราชการ ผู้ดีมีสกุลในจังหวัดต่าง ๆ ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ปีนัง เป็นต้น

          6. ด้านการสาธารณสุข นอกจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ จะรณรงค์เรื่องความสะอาด บังคับให้ราษฎรดูแลบ้านเรือน ให้สะอาดเรียบร้อย 

          ผลงานของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ นับได้ว่าเป็นเลิศกว่านักปกครองคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน ท่านได้รับการยกย่อง แม้ในหมู่ชาวต่างประเทศและตลอดแหลมมลายูยุคนั้นว่า เป็นผู้มีความสามารถสูง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นทั้งนักปกครอง และนักพัฒนาในเวลาเดียวกัน 

          เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูต่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ราษฎรและข้าราชการ จังหวัดตรังจึงได้สละทรัพย์สมทบ สร้างอนุสาวรีย์ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีขึ้นที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ในวันที่ 10 เมษายน ของทุก ๆ ปีซึ่งเรียกกันว่า "วันพระยารัษฎานุประดิษฐ์" จะมีการวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์

พระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี. แซร์)

ชาวต่างประเทศที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ไทย

         

ประวัติและผลงานที่สำคัญ

พระยากัลยาณไมตรี เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ที่มลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้เป็นศาสตราจารย์วิชากฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก่อนที่จะเข้ามารับราชการในประเทศไทยในตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๘

ดร.แซร์ มีบทบาทสำคัญในการปลดเปลื้องข้องผูกพันตามสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ไทยทำไว้กับประเทศอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๔ และสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันที่ไทยทำไว้กับประเทศอื่น ๆ ซึ่งฝ่ายไทยเสียเปรียบมากในเรื่องที่คนในบังคับต่างชาติไม่ต้องขึ้นศาลไทย และไทยจะเก็บภาษีจากต่างประเทศเกินร้อยละ ๓ ไม่ได้ ประเทศไทยพยายามหาทางแก้ไขสนธิสัญญาเสียเปรียบนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ปรากฏว่ามีเพียง ๒ ประเทศที่ยอมแก้ไขให้โดยยังมีข้อแม้บางประการ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ยอมแก้ไขใน พ.ศ. ๒๔๓๖ และญี่ปุ่นยอมแก้ไขใน พ.ศ. ๒๔๖๖

เมื่อ ดร.แซร์ เข้ามาประเทศไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศในยุโรป ดร.แซร์ เริ่มออกเดินทางไปปฏิบัติงานใน พ.ศ. ๒๔๖๗ การเจรจาเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจากับอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเต็มที่ แต่เนื่องจาก ดร.แซร์ เป็นผู้มีวิริยอุตสาหะ มีความสามารถทางการทูต และมีความตั้งใจดีต่อประเทศไทย ประกอบกับสถานภาพส่วนตัวของ ดร.แซร์ ที่เป็นบุตรเขยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา จึงทำให้การเจรจาประสพความสำเร็จ ประเทศในยุโรปที่ทำสนธิสัญญากับไทย ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี และเบลเยี่ยม ยินยอมแก้สนธิสัญญาให้เป็นแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกายอมแก้ให้

ดร.แซร์ ถวายบังคมลาออกจากหน้าที่กลับไปสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. ๒๔๘๖ แต่ก็ยังยินดีที่จะช่วยเหลือประเทศไทย ดังเช่นใน พ.ศ. ๒๔๖๙ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ดร.แซร์ได้ถวายคำแนะนำเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง และแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ตามที่ทรงถามไป และยังได้ร่างรัฐธรรมนูญถวายให้ทรงพิจารณาด้วย

จากคุณงามความดีที่ ดร.แซร์ มีต่อประเทศไทย จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๑ รัฐบาลไทยได้ตั้งชื่อถนนข้างกระทรวงต่างประเทศ (วังสราญรมย์) ว่าถนนกัลยาณไมตรีพระยากัลยาณไมตรีถึงแก่อนิจกรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ อายุได้ ๘๗ ปี

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี 

ชาวต่างประเทศที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ไทย

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี (15 กันยายน พ.ศ. 2435 — 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ชาวอิตาลีสัญชาติไทย เป็นประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะและมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยศาสตราจารย์ศิลป์ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย มีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่ตลอดจนเป็นที่รักและนับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน

ศาสตราจารย์ศิลป์ยังเป็นผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่จากการที่ได้พร่ำสอนและผลักดันลูกศิษย์ให้ได้มีความรู้ความสามารถในวิชาศิลปะทั้งงานจิตรกรรมและงานช่าง มีจุดประสงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะและสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของตนเอง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนไทยเพื่อที่จะออกไปสร้างศิลปะเพื่อแผ่นดินของตน และถึงแม้จะริเริ่มรากฐานของความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันศาสตรจารย์ศิลป์ก็ได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาความงามของศิลปะไทยเอาไว้ จึงได้เกิดการสร้างลูกศิษย์ที่มีความรู้ทั้งงานศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยออกไปเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการศิลปะไทยเป็นจำนวนมาก และเกิดรูปแบบงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในที่สุด

ผลงานประติมากรรม

ตลอดชีวิตการทำงานของศาสตราจารย์ศิลป์ ท่านได้สร้างผลงานประติมากรรมไว้มากมาย โดยผลงานที่ยังมีอยู่มาจนถึงปัจจุบันก็อาทิเช่น

  • สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (เฉพาะพระเศียร) - ทำจากสำริด ถือเป็นผลงานชิ้นแรกที่ทำให้ศาสตราจาย์ศิลป์เป็นที่รู้จัก
  • พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะพระเศียร) - พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากหลังได้เห็นพระบรมรูปของพระองค์
  • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครึ่งพระองค์) - ทำปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 2 องค์ - ทำปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กองหัตถศิลป์
  • พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า - เป็นประติมากรรมนูนต่ำด้วยปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลปแห่งชาติ
  • สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ครึ่งพระองค์) - ทำจากปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
  • สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส (ครึ่งองค์) - ปัจจุบันอยู่ในกรมศิลปากร
  • พระญาณนายก (ปลื้ม จันโทภาโส มณีนาควัดอุดมธานี จังหวัดนครนายก - เป็นประติมากรรมนูนสูง ทำจากปูนพลาสเตอร์
  • หลวงวิจิตรวาทการ (ครึ่งตัว) - ทำจากปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กรมศิลปากร
  • ม.ร.ว.สาทิศ กฤดากร (เฉพาะศีรษะ) - ทำจากบรอนซ์ เจ้าของคือม.จ.รัสสาทิศ กฤดากร
  • นางมาลินี พีระศรี (เฉพาะศีรษะ) - ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ กรุงเทพมหานคร
  • โรมาโน (ลูกชาย ภาพร่างไม่เสร็จ) - ปัจจุบันอยู่ที่กรมศิลปากร
  • นางมีเซียม ยิบอินซอย (รูปเหมือนครึ่งตัว) - ทำจากบรอนซ์ ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลปแห่งชาติ
  • พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (เฉพาะพระเศียร)
  • พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช - ครึ่งพระองค์ ปั้นไม่เสร็จ เพราะศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน