บริษัท นำเข้า เบียร์ ต่างประเทศ

หากท่านใดไปร้านอาหาร บาร์ หรือห้างสรรพสินค้าตามที่ต่าง ๆ คงได้เห็นคราฟต์เบียร์หลากหลายรสชาติจากต่างประเทศให้นักดื่มได้ลิ้มรสกันอย่างไม่เบื่อหน่าย หลายยี่ห้ออาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตา บางยี่ห้ออาจเคยรู้จักมานาน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะมีผู้นำเข้า นำพาคราฟต์เบียร์เหล่านี้มาให้เราได้รู้จัก แต่มาตรการรัฐช่วงวิกฤตโควิด-19 กำลังทำให้ผู้นำเข้าเหล่านี้ 'ล้มหายตายจากไป' 

ประชาไทชวนทุกท่านฟังเสียงจากคนวงการคราฟต์เบียร์ ที่มาร่วมสะท้อนปัญหาของพวกเขาในช่วงโควิด-19 ระลอกสอง ในวันที่รัฐไม่ช่วยเหลือและเยียวยา โดยครั้งนี้ประชาไทคุยกับอธิคม รอดอ้น จากบริษัทนำเข้าคราฟต์เบียร์จากต่างประเทศ ชื่อ Bavarian Craft โดยเขามาร่วมสะท้อนปัญหาผ่านสายตาของผู้นำเข้า

ตอนที่ 1 เราได้คุยกับเจ้าของบาร์ เพื่อสะท้อนปัญหาในฐานะผู้จำหน่ายคราฟต์เบียร์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบจากมาตรการงดห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ส่งผลเป็นวงกว้างต่อผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์รายย่อยด้วยเช่นกัน  

ประชาไทคุยกับอธิคม รอดอ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศแถบยุโรป ชื่อ Bavarian Craft เขาเป็นหนึ่งในคนที่ไปร่วมยื่นข้อเรียกร้องร่วมกับผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์คนอื่น ๆ ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข 

บริษัท นำเข้า เบียร์ ต่างประเทศ

อธิคม รอดอ้น ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคราฟต์เบียร์พรีเมียมจากยุโรป

การนำเข้าคราฟท์เบียร์มีต้นทุนสูง

ด้วยความที่บริษัท Bavarian Craft เน้นทำธุรกิจกับร้านอาหารและบาร์เบียร์รายย่อยเป็นหลัก ทำให้เขาเข้าใจปัญหานี้เช่นกัน โดยอธิคมมีมุมมองว่า การออกมาตรการคุมการขายเบียร์ หรือแอลกอฮอล์อื่น ๆ แบบชนิดฟ้าผ่า และบังคับใช้อย่างเข้มข้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนเต็มๆ ส่งผลกระทบรุนแรง และ “ช็อกทั้งวงจร” 

อธิคมระบุว่าคำสั่งที่ออกอย่างกะทันหัน และไม่ให้เวลาผู้ประกอบการเตรียมรับมือ ทำให้พวกเขาระบายสต็อกสินค้าไม่ทัน 

นอกจากนี้ คราฟต์เบียร์มีอายุการเก็บรักษาได้ประมาณ 3-6 เดือน อธิคมระบุ พร้อมกล่าวต่อว่า โดยเมื่อหักลบจากระยะเวลาการขนส่งทางน้ำจากยุโรปมาเทียบท่าที่ไทย ซึ่งจะใช้เวลา 30-45 วัน หมายความว่าในทางปฏิบัติ ผู้ค้าคราฟต์เบียร์ มีเวลาจำหน่ายก่อนที่เบียร์จะหมดอายุ อยู่แค่ 2-3 เดือนเท่านั้น และสมมติว่าถังเบียร์ถูกต่อเข้ากับเครื่องจำหน่ายเบียร์แล้ว อายุของเบียร์สดจะสั้นลงเหลือโดยเฉลี่ยประมาณ 3-7 วัน

เมื่อไม่สามารถขายได้ เบียร์สดเหล่านี้จะถูกปล่อยทิ้งไปเรื่อยๆ จนหมดสภาพ ทางเลือกเดียวที่เหลือคือรอวันเททิ้งทั้งถัง โดยมูลค่าความเสียหายต่อถังหนึ่งอยู่ที่ประมาณหลักพันถึงหลักหมื่น 

อนึ่ง คราฟต์เบียร์อายุสั้น เนื่องจากไม่ได้ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เบียร์เสียรสชาติ หรือมีรสชาติที่ผิดเพี้ยน

นอกจากนี้ ผู้นำเข้าจะนิยมวิธีการขนส่งทางเรือ (Sea Freight) มากกว่าทางอากาศ เนื่องจากค่าใช้จ่ายมีราคาถูกกว่าทางอากาศเยอะมาก   

“บางครั้งลูกค้าสั่งของมาแล้ว ตอนสั่งมันยังไม่ปิด พอมาแล้ว ก็สั่งปิดกะทันหัน ขายไม่ได้ ทำไง ต้องยกเลิกเหรอ มันก็กลายเป็นปัญหาที่ว่ามันพังทั้งเชน เขาไม่ให้เวลาเตรียมการ เขาให้เวลาเราสักหน่อย มันก็จะช่วยทำให้การแก้ปัญหามันง่ายขึ้น ตอนนี้มันก็ช็อกไปหมด” อธิคม กล่าว

ในเรื่องปัญหาของฟากฝั่งผู้นำเข้าเบียร์ มีความต่างจากคนทำร้านอาหารบางประการ โดยผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์จาก Bavarian Craft เผยว่า ปัญหาของผู้นำเข้าคือภาษีสรรพสามิตที่สูงลิ่ว และไม่มีการผ่อนปรนมาตรการภาษี แม้ผู้ประกอบการจะอยู่ในช่วงแหลมคมก็ตาม 

“เพนพอยต์ (pain point) ของธุรกิจนำเข้า คือ ภาษีสรรพสามิตที่สูง และบังคับให้ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องจ่ายภาษีก่อน ถึงจะเอาของออกมาจำหน่ายได้” 

“สมมติ เบียร์เยอรมันขวดละ 30-40 บาท ภาษีสรรพสามิต 20 กว่าบาท และก็ค่าส่งอีก เพราะฉะนั้น ราคาพวกนี้ของมันสูงขึ้นเท่าตัว สมมติ กินเบียร์ที่เยอรมันราคา 37 บาท แต่บ้านเรา นั่งร้านกินขวดละ 300” 

“เฉพาะแค่ภาษีสรรพสามิต และศุลกากร ตู้หนึ่งที่พวกผมนำเข้า คิดไวๆ ผมเสียภาษีเดือนหนึ่งตู้หนึ่งเป็นล้านบาท ไม่นับ VAT ที่ต้องจ่ายสรรพากร ปีๆ หนึ่งผมจ่ายภาษีเป็นสิบล้าน แต่วันหนึ่งพอมันเกิดปัญหา ผมไม่ได้อะไรเลย ถามว่าจ่ายภาษีทำไม และอีกเรื่องหนึ่งการจ่ายภาษี คุณต้องจ่ายก่อนค่อยเอาของออก ไม่มี Credit Term เอาของออกก่อน และค่อยมาจ่าย อันนี้ไม่ได้” อธิคมจาก Bavarian Craft ระบุ 

Credit Term คือระยะเวลาการให้สินเชื่อ เป็นระยะเวลาที่ให้ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อรับสินค้าไปจำหน่ายก่อน และนำเงินมาจ่ายเงินภายหลัง โดยอาจจะเป็นตั้งแต่ 15-60 วัน แล้วแต่จะตกลงกัน 

ถ้ากรณีเราไม่มีเงินไปจ่ายสรรพสามิตเพื่อเอาสินค้าออกมา เราต้องฝากสินค้าไว้กับทางศุลกากร หรือเรียกว่า Custom Bond โดยมีค่าฝากคิดเป็นรายวัน อย่างการเสียบปลั๊กตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นทิ้งไว้เพื่อเก็บรักษาเบียร์ให้ไม่เสื่อมสภาพ จะมีค่าใช้จ่ายตกวันหลายพันบาท เพราะฉะนั้น ยิ่งเคลียร์สินค้าช้า ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกวัน 

ตอนนี้ก็มีกำลังจะมีล็อตใหม่มาในเดือน ก.พ. ค้างอยู่ที่ท่าเรือ ซึ่งบริษัทตอนนี้สภาพคล่องทางการเงินก็ไม่ได้ดีมาก ก็อาจต้องรอให้มีเงินก่อน ถึงจะไปนำสินค้าออกมาได้ 

ปัญหานี้กระทบทั้งวงจร เนื่องจากร้านอาหาร ผับ และบาร์ แทบไม่มีรายได้ ก็จะกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องมาถึงปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทนำเข้า เพราะคู่ค้าของเราไม่มีเงินมาจ่ายตามกำหนดชำระ ทาง Bavarian Craft ก็จะไม่มีเงินไปจ่ายค่าสินค้าล็อตใหม่ที่กำลังเข้ามา 

"มันกระทบในทุกมิติจริงๆ ร้านค้าเอง ลูกค้าไม่เข้าร้านเลย เขาก็ไม่จ่ายเงิน เพราะตัวเขาเองยังไม่รอดเลย ผมมีลูกหนี้ที่ค้างในระบบเยอะมากที่ไม่จ่ายดื้อๆ เลย หลายล้านบาท ซึ่งเงินตรงนี้แหละ ควรจะเอาไปเคลียร์เบียร์จากท่าเรือ"  

บริษัท นำเข้า เบียร์ ต่างประเทศ

กฎหมายห้ามโฆษณา-กติกาที่กดทับผู้ขายคราฟต์เบียร์

อีกกฎหมายที่อธิคม มองว่าออกมาสกัดขาคนทำคราฟต์เบียร์ และทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของคนทำคราฟต์เบียร์ทรุดลงไปอีก คือ มาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้การโฆษณาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นความผิด ซึ่งมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับเป็นเงินสูงสุด 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผลจากกฎหมายนี้ทำให้ประชาชนหรือผู้ประกอบไม่สามารถโฆษณาสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ หรือการรีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่าง ‘เฟซบุ๊ก’ 

การห้ามโฆษณามีผลต่อคราฟต์เบียร์ที่ขายกันราคาสูงแน่นอน เนื่องจากผู้บริโภคเองก็อยากได้ข้อมูลมากพอ ที่เขาจะยอมทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อซื้อของอย่างหนึ่ง ซึ่งมีราคาแพง

"เบียร์ผมขวดละ 600 บาท ทำไมต้องกิน ผมก็ต้องบอกอะไรได้บ้างไหม ทำไมลูกค้าต้องจ่ายแพงกว่า 10 เท่า เพื่อดื่มอะไร มันคืออะไร มันดีอย่างไร แต่เขาห้ามเราพูดหมดเลย ผมจะขายยังไง เหมือนคนที่ไปนั่งหน้าบาร์ (ผู้สื่อข่าว - ลูกค้าถามว่า) อะไรเหรอครับที่เขียนอยู่ มันก็จะต้องมีคนๆ หนึ่งมานั่งอธิบายว่าเบียร์อะไร หรือจะเรียกว่าเบียร์เทนเดอร์ก็ได้ เล่าหมดเลย เบียร์สไตล์ฺนี้ ยี่ห้อนี้ แอลกอฮอล์เท่านี้ พี่ไม่เข้าใจไม่เป็นไร ชิมไหม ชิมได้กดชิม" อธิคม กล่าว พร้อมระบุว่า มันก็ไม่ได้ขายทุกครั้ง แม้ว่าลูกค้าจะได้รับฟังข้อมูลปริมาณมากแล้ว ซึ่งเหตุผลก็ราคาอันแพงแสนแพงของคราฟต์เบียร์นั่นเอง  

ดังนั้น อธิคมในฐานะผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์ และเป็นนักธุรกิจที่จ่ายภาษี (ในราคาที่สูงมาก) ให้ภาครัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างไม่เคยบิดพลิ้ว และเป็นผลที่ทำให้ราคาคราฟต์เบียร์สูงขึ้นตามมา ก็อยากให้รัฐคำนึงถึงสิทธิที่ผู้ประกอบการจะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้บ้าง 

การขายคราฟต์เบียร์ในห้างนั้นไม่ง่าย 

หลายคนอาจสงสัยเพิ่มว่า ทำไมผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์ไม่ค่อยเอาสินค้าไปขายในห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ คำตอบของอธิคม คือ มันมีเงื่อนไขที่ไม่เอื้อและขัดขวางผู้ประกอบการรายเล็กอยู่ 

"ผมขายให้กับร้านรายเล็ก ไม่ได้ขายให้ end user ไม่เข้าห้างสรรพสินค้า ไม่เข้าร้านสะดวกซื้อ ทำไมไม่เข้า เพราะเชลฟ์ไลฟ์ (shelf-life) มันต่ำ มันสั้นมาก ในห้างเขารีเควสอายุการเก็บรักษา 6 เดือน ถ้าเข้าห้างต้องมีค่าเข้าเชลฟ์ ต้องมีเม็ดเงิน บางทีมันไม่มีทางหรอกที่เราจะมีเม็ดเงินตรงนั้นมาหมุน ที่จะเอาสินค้าเราไปวาง ที่จะเอาสินค้าเข้าและรอ credit term 60 วัน กว่าจะได้เงิน ภาษีผมจ่ายทุกเดือน ตู้ละล้าน รอ credit term จากร้านสะดวกซื้อสองเดือน หมุนไม่ทัน ไม่ได้ มันมีขีดจำกัดที่บล็อกรายเล็กไว้เยอะ" อธิคม กล่าว  

ขณะที่ช่องทางที่ง่ายและต้นทุนถูกที่สุดคือการขายออนไลน์ แต่ถูกสกัดไปแล้ว ด้วยกฎหมายห้ามขายเบียร์ออนไลน์ ซึ่งถูกบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 กฎหมายตัวนี้ทำให้สถานการณ์ของผู้ค้าและผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์รายย่อยแย่ลงไปอีกในช่วงเวลาวิกฤตนี้

"อะไรคือช่องทางที่ง่ายที่สุด ต้นทุนต่ำสุด ออนไลน์ นี่คือช่องทางที่ SME หรือผู้ประกอบการรายเล็กๆ สามารถใช้ตรงนี้ ต้นทุนตรงนี้มันต่ำสุด และเราสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ ขายได้ เขาก็มาห้าม"

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 หรือชื่อเล่นคือ กฎหมายห้ามขายเบียร์ออนไลน์ เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 จุดประสงค์หลักของข้อบังคับนี้ คือ เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนหรือนักดื่มหน้าใหม่เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ง่ายเกินไป โดยข้อกำหนดคร่าว ๆ มีดังนี้

1.ห้ามผู้ใดขาย หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ต่อผู้บริโภคโดยตรง หรือเชิญชวนให้ซื้อ เสนอขาย หรือขายโดยตรงด้วยการตลาดหรือบริการในลักษณะทางออนไลน์ โดยผู้ขายและผู้บริโภคไม่ต้องพบกัน

2. ไม่บังคับใช้แก่กรณีการซื้อขายและการชำระราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ ณ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

นอกจากนี้ อธิคมระบุหลายคนชอบมองว่า คนทำธุรกิจคราฟต์เบียร์เป็นรายใหญ่ สายป่านยาว มีคนหนุนหลัง และร่ำรวย รายได้แต่ละปีนับแสน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ พวกเขาเป็นแค่ผู้ประกอบการรายเล็ก ที่มี passion เกี่ยวกับการดื่มด่ำในรสชาติเบียร์ที่มีความแปลกใหม่ หลากหลาย และอยากให้หลายคนได้ลิ้มลอง ส่วนรายได้แต่ละปีคือแค่ประคองตัว พอดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

"ทุกวันนี้ธุรกิจแอลกอฮอล์มันเปลี่ยนไปเยอะ มันมีผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งเขาไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง เขาก็เป็นคนทั่วไป ขับรถญี่ปุ่น ทำงานบริษัทมา ไม่ได้เป็นคนรวย แต่ว่าเขามีความฝัน เขามี passion กับการดื่มเบียร์ ก็เลยเข้ามาในธุรกิจนี้เหมือนกัน" อธิคม ระบุ

ดังนั้น เวลามีเจอมาตรการแบบนี้เข้าไป กิจการคราฟต์เบียร์หลายคนก็ไม่สามารถยืนระยะได้ยาวมากนัก 

"เชื่อว่าถ้ายังไม่เกิดการเยียวยา หรืออย่างรัฐบาลยังปฏิบัติแบบนี้อยู่ จะมี SME จะมีธุรกิจที่ล้มตายไปเยอะมาก เฉพาะร้านคราฟต์เบียร์ เท่าที่ผมดูน่าจะมี 10-20% ที่ปิดถาวรแล้ว ปีนี้เริ่มอีกจะอีกเมื่อไหร่ไม่รู้" ผู้นำเข้าจาก Bavarian Craft กล่าว 

ข้อเรียกร้องจากฝั่งผู้นำเข้า

อธิคมเห็นด้วยว่าภาครัฐควรผ่อนปรนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านโดยมีเงื่อนไข เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถประคองตัวฝ่ามรสุมวิกฤตด้านเศรษฐกิจตรงนี้ได้ โดยเขาเชื่อว่าทุกร้านยินดีทำตามนโยบายทางสาธารณสุขที่ภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด ถ้าไม่ทำตาม ก็จับได้ ยึดใบอนุญาต ปรับได้ ลงโทษอย่างจริงจัง แต่ไม่ใช่ห้ามขายไปเลย 

ต่อมา เขามองว่ารัฐต้องมีการบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชน เพื่อออกแบบนโยบายที่เข้าใจและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

สุดท้าย มุมมองของผู้นำเข้าอย่างอธิคม หวังให้ทางสรรพสามิต อนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถแบ่งชำระภาษีสรรพาสามิตและภาษีนำเข้าเป็นงวดๆ แทนการจ่ายครั้งเดียวจบก่อนเคลียร์สินค้า เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน 

“สมมติเขาจะเยียวยาอย่างเคสอย่างนี้ เป็นไปได้ไหมให้ผมผ่อนก็ได้ ผมไม่ได้หวังว่า รัฐบาลจะให้ Credit Term ผ่อนจ่ายได้ไหม คุยเลยส่งสองงวดเดือนนี้ห้าแสน อีกงวดหนึ่งห้าแสน มันก็ยังเป็นการเยียวยาโดยรัฐได้เงินเท่าเดิม ถ้าไม่มีการผ่อน ผมก็ไม่มีเงินเคลียร์ของออกมา ผมก็ต้องเก็บไว้ในบอนด์ ผมก็เสียเงินค่าบอนดฺ์ (ผู้เขียน - Custom Bond) ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีเงินมาเคลียร์ออก”

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 มติชนรายงานว่า กรมสรรพสามิตออกมายืนยันแล้วว่าไม่สามารถผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวได้ เหตุผลคือจะเกิดความเสี่ยงในการติดตามเรียกเก็บภาษีในภายหลัง เนื่องจากมีการนำสินค้านำเข้าที่ยังไม่ได้ชำระภาษีออกไปจำหน่าย ส่งผลให้การควบคุม ติดตามสินค้าดังกล่าวให้มาชำระภาษีจะดำเนินการได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าบริโภคต่าง ๆ รวมถึงคราฟต์เบียร์ด้วย

แต่จากการคุยกับอธิคม รอดอ้น เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสรรพสามิตเชิญผู้นำเข้านั่งโต๊ะร่วมเจรจาเพื่อหาทางแก้ปัญหาในช่วงโควิด-19 แล้ว แต่ก็ต้องดูว่าจะมีการผ่อนปรนเรื่องภาษีหรือไม่ อย่างไร

ถ้าภาครัฐไม่มีมาตรการผ่อนในเรื่องดังกล่าว อธิคมอาจต้องใช้วิธีการกู้เงินหุ้นส่วน  เพื่อมาเคลียร์สินค้าออกจากท่าเรือ

“เอาจริงๆ เดือนนี้ก็ไม่รอดแล้วครับ มันหมดไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนี้เรายัง recovery กลับมาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ผมมีหนี้ที่ต้องจ่ายทางเยอรมันหลายล้านเหมือนกัน ตอนนี้คือสภาพคล่องมันพัง พังกันหมด คือถ้าถามว่า ถ้าเดือนกุมภาพันธ์ยังไม่จบ ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะทำยังไง แต่อย่างที่แจ้ง ก็อาจจะต้องการกู้ยืมเงินหุ้นส่วนไปก่อนเพื่อให้พ้นผ่านในช่วงนี้” 

บริษัท นำเข้า เบียร์ ต่างประเทศ

สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย เคยกล่าวระหว่างไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องที่ศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ว่า วงการคราฟต์เบียร์กำลังจะตาย หรือรอวันตาย คุณอธิคม มีความคิดเห็นกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง 

"ผมอยากใช้คำว่า 'มันมีทั้งส่วนที่จริงและไม่จริง' ผมตอบส่วนที่ไม่จริง คราฟต์เบียร์มันเป็นเรื่องของความฝัน เป็นเรื่องของ passion ไม่มีใครมาทำลายได้ มีผู้เล่นเลิกไป มันก็มีผู้เล่นขึ้นมาทำต่อ มันคือสิ่งที่ทุกคนมี คุณหยุดโลกใบนี้ไม่ได้ มันอาจจะไม่ใช่ผู้เล่นเดิม อาจจะเป็นผู้เล่นรายใหม่ เข้ามาลอง เข้ามาทำ 

"แต่ส่วนที่ตายจริง สำหรับผู้เล่นที่ยังเล่นอยู่ ทุกวันนี้ตายแน่ๆ อยู่ที่ใครมีสายป่านยาวกว่ากัน ผมกล้าพูดเลยนะ คนทำธุรกิจไม่รวยหรอก ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าใหญ่ ที่เราทำทุกวันนี้ เพราะ passion เราทำพอมีกินมีใช้ แต่ถ้ามีปัญหาขึ้นมาเมื่อไหร่ เราอดตาย เราไม่ได้แบบกำไรเดือนละร้อยล้าน เราไม่ได้กำไรเดือนละล้าน อย่าง Bavarian Craft เปิดมา 3-4 ปี เรายังไม่มีกำไรเลย มันคือพอหล่อเลี้ยงองค์กรให้เดินต่อไปได้ แต่ไม่มีกำไร” อธิคม กล่าว

'เจอปัญหาขนาดนี้ passion ของคุณตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง' ผู้สื่อข่าวถามต่อ 

"ท้อจนบางทีมันก็มีอารมณ์อยากเลิกทำเหมือนกันนะ ไปทำอย่างอื่นๆ น่าจะรวยกว่า แต่ก็อย่างที่บอก มันเซฟโซนของเราที่ทำให้เรามีความสุข จะให้หยุดไปเลย บางทีมันก็ไม่อยากไปอยู่ตรงอื่น ถ้ามันยังไหวอยู่ ยังมีแรง ยังมีความคิด ยังมีความฝัน ยังมีกำลังเงิน ก็ยังอยากจะทำตรงนี้ให้มันประสบความสำเร็จมากที่สุด ไม่ว่านโยบายภาครัฐจะสกัดกั้นเราสักแค่ไหน ก็ยังอยากจะทำตรงนี้ให้ดีที่สุด" อธิคม ทิ้งท้าย

คำนิยามของ "คราฟต์เบียร์" คือเบียร์ที่ถูกผลิตโดยผู้ประกอบการรายย่อย บางคนเรียกว่า "เบียร์โฮมเมด" โดยการผลิตแต่ละครั้ง ผู้ผลิตสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนสูตรและวัตถุดิบการทำเบียร์ได้อย่างอิสระ เพื่อให้เกิดรสชาติที่แปลกใหม่ จนนำไปสู่การต่อยอดและพัฒนาวงการต้มเบียร์