ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ

แต่ถึงอย่างนั้น ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับพีระมิดก็ยังคงมีอีกไม่น้อยที่ “ผิดเพี้ยน” ไปจากความเป็นจริง และในวันนี้คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนจะพาแฟนานุแฟนไปดูกันครับว่าเคยมี “ความเข้าใจผิด” เกี่ยวกับพีระมิดไอยคุปต์อย่างไรบ้าง และข้อมูลที่แท้จริงนั้นควรเป็นอย่างไร

ประเด็นใครสร้างพีระมิด

แนวคิดที่จะเสนอต่อไปนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีการค้นพบสุสานคนงานสร้างพีระมิดที่เมืองกิซ่า นักวิชาการในสมัยนั้นจึงยังคงไม่มีข้อมูลว่าผู้ที่สร้างพีระมิดคือใครกันแน่ พวกเขาจึงตั้งทฤษฎีต่างๆที่ฟังดูน่าทึ่งขึ้นมา แต่น่าเสียดายที่แนวคิดทั้งหมดล้วนไม่น่าเชื่อถือ บางแนวคิดยังฟังดูเหลือเชื่อเสียด้วยซ้ำไป

ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ
การชักลากก้อนหินบนแคร่เลื่อนไปตามทางลาดวนรอบพีระมิด

ชนกลุ่มแรก (ที่ไม่ใช่เอเลี่ยน) ที่ถูกเสนอว่าเป็นผู้สร้างพีระมิดก็คือชาวทวีปแอตแลนติส (Atlantis) ชาวแอตแลนติสก็แทบไม่ต่างจากกลุ่มมนุษย์ต่างดาวตรงที่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าทวีปลึกลับนี้จะมีตัวตนจริงหรือไม่ ก็เลยทำให้ทฤษฎีที่บอกว่าชาวแอตแลนติสมาช่วยสร้างพีระมิดจึงเป็นไปได้ยากมาก แนวคิดนี้ได้รับการเสนอขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ.1882 ด้วยการอ้างอิงงานเขียนของเพลโต (Plato) ที่กล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเทคโนโลยีของอารยธรรมแอตแลนติสที่

เชื่อกันว่าเป็นชนกลุ่มแรกของโลกที่เปลี่ยนจาก “อนารยธรรม” เข้าสู่ความเป็น “อารยธรรม” นอกจากนั้นยังมีความเชื่อที่เสนอกันมาว่าชาวแอตแลนติสได้ออกไปตั้งอาณานิคมใหม่ในหลากหลายพื้นที่ของโลกโบราณ ทั้งดินแดนโลกเก่า (Old World) และดินแดนโลกใหม่ (New World) หรือทวีปอเมริกา ด้วยเหตุผลง่ายๆเพียงเพราะว่าดินแดนทั้งสองแห่งนี้มี “พีระมิด” เหมือนๆกันเท่านั้นเองล่ะครับ

จริงอยู่ครับที่อียิปต์ก็มีพีระมิดและทวีปอเมริกากลางโบราณอย่างประเทศเม็กซิโกหรือกัวเตมาลาอันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรมายาและจักรวรรดิแอสเท็กซ์ก็มีสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการเรียกขานว่า “พีระมิด” เช่นกัน แต่ถ้าดูกันจริงๆแล้วจะพบว่าพีระมิดของอเมริกาโบราณกับพีระมิดของอียิปต์นั้นเป็น “หนังคนละม้วน” เลยล่ะครับ

อย่างแรก รูปทรงพีระมิดของอเมริกากลางโบราณไม่ได้เป็นทรง “พีระมิด” ตามแบบเรขาคณิตที่มีด้านทั้งสี่อยู่ในรูปทรงของสามเหลี่ยมและมีปลายด้านบนชี้ขึ้นไปบรรจบกันบนยอดสูงสุด ซึ่งเป็นรูปแบบ ของพีระมิดของชาวอียิปต์โบราณ แต่รูปทรงด้านข้างขององค์พีระมิดแห่งอเมริกากลางโบราณอย่างเช่นพีระมิดของชาวมายาหรือชาวแอสเท็กซ์แล้วก็จะพบว่ามันไม่ใช่ “สามเหลี่ยม” แต่ดูเหมือน “สี่เหลี่ยมคางหมู” เสียมากกว่า ด้วยว่าบริเวณยอดของพีระมิดไม่ใช่ปลายแหลมแต่เป็นลานกว้างขนาดใหญ่สำหรับสร้างกลุ่มอาคารนั่นจึงทำให้พีระมิดของชาวอเมริกากลางโบราณมีการสร้าง “ขั้นบันได” ให้นักบวชหรือผู้ประกอบพิธีสามารถเดินขึ้นไปยังอาคารที่ตั้งอยู่ด้านบนของยอดพีระมิดได้

ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ
สุสานคนสร้างพีระมิดที่เมืองกิซ่า

เมื่อวิเคราะห์ทางด้าน “การใช้งาน” ระหว่างพีระมิดทั้งสองแบบแล้วก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ด้วยว่าชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดเพื่อใช้เป็น “สุสาน” ทว่าชาวอเมริกากลางโบราณสร้างพีระมิดเพื่อเป็น “วิหาร” สำหรับบูชาเทพเจ้าต่างหากล่ะ นั่นหมายความว่าถ้าเป็นผลงานของชาวแอตแลนติส พีระมิดของทั้งสองอารยธรรมก็ควรจะต้อง “เหมือน” กันมากกว่านี้สิ จริงไหมล่ะครับ?

ประเด็นวิธีการสร้างพีระมิด

ปัจจุบัน นักอียิปต์วิทยากระแสหลักยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่าชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดอย่างไร มีเพียงแค่ทฤษฎีและสมมติฐานมากมายที่แสดงถึงกรรมวิธีการสร้างพีระมิดของชาวไอยคุปต์ จึงไม่แปลกถ้าจะมีกลุ่มนักสมคบคิดพยายามเสนอแนวคิดที่เป็นไปได้ยาก และบุคคลแรกที่บันทึกเกี่ยวกับการสร้างพีระมิดของชาวอียิปต์โบราณก็คือบิดาแห่งประวัติศาสตร์ที่มีชื่อว่า “เฮโรโดตัส” (Herodotus) นั่นเองครับ

เฮโรโดตัสมีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ก็คือหลังจากที่พีระมิดแห่งกิซ่าถูกสร้างไปแล้วราว 2,000 ปี เขาบันทึกเอาไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์” (Histories) ของเขาว่า ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดด้วยการใช้ “เครื่องกลไก” บางอย่างที่มีลักษณะคล้าย “ปั้นจั่น” ช่วยในการยกก้อนหินขึ้นไปจัดเรียงเอาไว้ยังระดับชั้นต่างๆของพีระมิด โดยอาศัยคนงานประมาณหนึ่งแสนคนและใช้ระยะเวลาราว 20 ปีในการสร้างมหาพีระมิด

ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ
พีระมิดของชาวอเมริกากลางโบราณ.

เมื่อเราลองพิจารณาจากองค์พีระมิดจริงๆแล้วก็จะพบว่าพื้นที่สำหรับจัดวางเครื่องกลไกในแต่ละชั้นนั้นแคบมาก ในระดับชั้นสูงๆยิ่งแทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลย มีการบันทึกเอาไว้ว่าหน้าหินในระดับชั้นบนๆนั้นมีความกว้างเพียงแค่ประมาณ 45 เซนติเมตรเท่านั้น ไม่สามารถที่จะวางปั้นจั่นหรือเครื่องกลไกใดๆเพื่อช่วยยกหินน้ำหนักมหาศาลได้แน่ และชาวอียิปต์โบราณยังขาดแคลน “ไม้” ที่ใช้เป็นวัสดุหลักในการสร้างปั้นจั่นอีกด้วย

อีกหนึ่งแนวคิดที่มีการเสนอกันขึ้นมาและดูหลุดโลกเอาเสียมากๆก็คือการใช้ศาสตร์ของ “การลอยตัว” มาช่วยยกก้อนหินน้ำหนักหลายตันไปยังตำแหน่งก่อสร้าง! แค่ฟังก็รู้สึกแปร่งๆแล้วใช่ไหมครับ ? แนวคิดนี้ถูกเสนอขึ้นมาโดยอ้างอิงจากนิทานพื้นบ้านของนักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ที่ได้เขียนเอาไว้ว่า

“กระดาษปาปิรัสจารึกถ้อยคำเวทมนตร์จะถูกสอดเอาไว้ใต้ก้อนหิน หลังจากนั้นก็จะมีการใช้ไม้เท้าหรือกระบองตีหินก้อนนั้น ทำให้ก้อนหินลอยตัวสูงขึ้นในอากาศและพุ่งตรงไปยังเป้าหมายราวกับลูกธนูที่ถูกยิง”

นั่นจึงทำให้นักทฤษฎีสมคบคิดกลุ่มนี้เสนอกันว่าถ้าผู้สร้างพีระมิดมีความสามารถในการใช้ศาสตร์ ของ “การลอยตัว” ได้จริงๆ บางทีพวกเขาอาจจะมีความรู้ในศาสตร์ของ “การลอยตัวด้วยเสียง” (Acoustic Levitation) ด้วยก็เป็นได้ นักทฤษฎีสมคบคิดกลุ่มนี้ยังได้เสนอเพิ่มเติมไปอีกครับว่า บางทีชนโบราณกลุ่มอื่นๆเช่นชาวอังกฤษดึกดำบรรพ์ที่รังสรรค์อนุสาวรีย์สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) หรือชาวราปานุยที่แกะสลักโมอาย (Moai) ก็อาจจะเคยใช้ศาสตร์ของการลอยตัวด้วยเสียงนี้มาช่วยในการขนย้ายชิ้นงานของพวกเขาด้วยเช่นกัน

ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ
ภาพจำลองเครื่องยกหินตามบันทึกของเฮโรโดตัส

ในปัจจุบันเราพบว่า “เสียง” สามารถช่วยในการยกวัตถุที่มีน้ำหนักเบาได้ แต่ก็ยังไม่มีผลการทดลองที่ชัดเจนว่าเสียงสามารถยกก้อนหินน้ำหนักหลายตันได้จริงๆ ดังนั้น การสร้างพีระมิดด้วยศาสตร์แห่งการลอยตัวด้วยเสียง จึงมีความเป็นไปได้ที่ต่ำมากนั่นเองครับ

แล้วพีระมิดสร้างขึ้นมาอย่างไรล่ะ? จนถึงทุกวันนี้นักอียิปต์วิทยาก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่สิ่งที่นักวิชาการมั่นใจก็คือชาวอียิปต์โบราณใช้วิธีการชักลากหินบนแคร่เลื่อนไปยังสถานที่สร้างพีระมิดและมีการใช้เนินทางลาดวนรอบองค์พีระมิดช่วยในการขนหินขึ้นไปในระดับชั้นที่สูงขึ้น แต่ประเด็นนี้ก็ต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมกันต่อไปครับ

ประเด็นเรื่องพลังลึกลับของพีระมิด

หลายๆท่านน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ “พลังพีระมิด” (Pyramid Power) กันมาบ้าง และกิตติศัพท์หลักๆ ของพลังที่ว่านี้ก็คือช่วยในการรักษาศพหรือเนื้อสัตว์ไม่ให้เน่าเปื่อยได้ บ้างก็ว่าช่วยทำให้ใบมีดโกนทื่อๆกลับมาคมได้เหมือนเดิมราวปาฏิหาริย์

การทดลองเพื่อพิสูจน์พลังของพีระมิดเริ่มต้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิจัยชาวฝรั่งเศสได้มีการทดลองสร้างแบบจำลองย่อส่วนของมหาพีระมิดแห่งกิซ่าขึ้นมาแล้วนำเอา “เนื้อสด” ใส่เข้าไปในพีระมิดเพื่อดูว่าการเน่าเปื่อยของเนื้อจะเป็นอย่างไร ก่อนที่นายช่างวิทยุชาวเช็กจะลงมือสร้างพีระมิดจำลองจากกระดาษแข็งขึ้นมาเพื่อทดสอบสมมติฐานของเขาเกี่ยวกับความสามารถของพลังพีระมิดในการช่วยทำให้ใบมีดโกนคมขึ้นมาได้เอง หลังจากนั้นก็ได้มีการทดลองเกี่ยวกับพลังลึกลับของพีระมิดออกมาอีกมากมาย

ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ
โมเสกจากคริสต์ศตวรรษที่ 12 แสดงภาพการใช้พีระมิดเป็นยุ้งฉาง.

แต่ถ้าอ้างอิงจากจุดประสงค์ที่แท้จริงของชาวอียิปต์โบราณในการสร้างพีระมิดแล้ว พวกเขาไม่เคยคาดหวังให้โครงสร้างของพีระมิดหรือพลังลึกลับจากพีระมิดมาช่วยรักษาสภาพศพเลยแม้แต่น้อย เพราะเขาใช้ “การทำมัมมี่” เพื่อรักษาศพต่างหากล่ะ ลองคิดดูสิครับว่าถ้าพีระมิดของชาวอียิปต์โบราณช่วยชะลอกระบวนการเน่าเปื่อยผุพังของศพได้จริงๆแล้วล่ะก็ พวกเขาจะทำมัมมี่ไปเพื่ออะไรกัน?

ประเด็นเรื่องบทบาทหน้าที่ของพีระมิด

ปัจจุบันนักอียิปต์วิทยาทราบกันดีแล้วว่าพีระมิดของชาวอียิปต์โบราณสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็น “สุสาน” สำหรับฝังศพของฟาโรห์และราชินี ด้วยว่ามีการค้นพบหลักฐานของ “โลงศพ” ภายในพีระมิดแทบทุกแห่ง แต่ก็มีแนวคิดอื่นที่ได้รับการเสนอกันมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล (และยังคงมีคนบางกลุ่มเชื่อกันอยู่จนถึงปัจจุบัน) ก็คือแนวคิดที่เสนอว่าชาวไอยคุปต์สร้างพีระมิดขึ้นมาเพื่อเป็น “ยุ้งฉาง” สำหรับเก็บอาหาร

แนวคิดนี้ถือกำเนิดขึ้นมาในทวีปยุโรปตั้งแต่ยุคกลางช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 ด้วยการอ้างอิงจากพระคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวถึงตำนานของโยเซฟ (Josesh) ที่ทำนายฝันให้กับองค์ฟาโรห์ว่าอียิปต์จะอุดมสมบูรณ์ไป 7 ปีก่อนที่จะเกิดภัยแล้งยาวนาน 7 ปีด้วยเช่นกัน นำมาซึ่งแนวคิดที่ว่าพีระมิดแห่งกิซ่าคือ “ยุ้งฉางของโยเซฟ” นอกจากนั้นภาพโมเสกในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับแนวคิดนี้ด้วยการแสดงภาพของการเก็บข้าวและอาหารเอาไว้ในยุ้งฉางรูปทรงพีระมิดอีกด้วย

แม้แต่ในปัจจุบันก็มีคนที่เชื่อแนวคิดนี้อยู่ หนึ่งในนั้นก็คือ นพ.เบน คาร์สัน (Dr.Ben Carson) ซึ่งเป็นตัวเก็งเบอร์หนึ่งในศึกชิงตัวแทนพรรครีพับลิกัน เมื่อปี ค.ศ.2015 เขาออกมาระบุว่าพีระมิดไม่ได้ใช้เป็นสุสาน แต่ใช้เป็นยุ้งฉางของโยเซฟต่างหากล่ะ นั่นจึงทำให้ประเด็นนี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสื่อหลายแขนง ซึ่ง นพ.คาร์สันก็ได้ยืนยันว่าเขายังคงเชื่อเช่นนั้น ถึงแม้ว่ามันจะขัดกับข้อสรุปของนักโบราณคดีกระแสหลักก็ตามที

ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ
หมู่มหาพีระมิดแห่งกิซ่า

ในปัจจุบัน นักอียิปต์วิทยาทั่วโลกก็ยังคงตั้งคำถามและเสนอทฤษฎีออกมาอีกมากมายเกี่ยวกับพีระมิด นั่นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในอนาคตอันใกล้นี้ก็อาจจะมี “ความเข้าใจผิด” เกี่ยวกับพีระมิดไอยคุปต์ปรากฏออกมาอีกนับไม่ถ้วน นั่นย่อมหมาย ความว่าบางสิ่งที่เราคิดว่า “ถูกต้อง” ในวันนี้อาจจะกลายเป็น “ความเข้าใจผิด” ในอนาคตก็เป็นได้ด้วยเช่นกันครับ.

ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน
โดย : สืบ สืบสาม