ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ด้านการแพทย์

ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ การให้คำปรึกษาออนไลน์ (E-consultations) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การวินิจฉัยแบบเรียลไทม์ (Real-time diagnosis) การรักษาแบบดิจิตอล (Digital therapeutics) การวิเคราะห์ทางพันธุกรรม การรวบรวมข้อมูลทางคลินิก และการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data management) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) และระบบอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things, IoT) เป็นต้น


สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพที่สำคัญ มีดังนี้

  • การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ให้บริการทางการแพทย์ ตัวคนไข้ ผู้พัฒนายาและเครื่องมือแพทย์ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยเทคโนโลยีของ AI สามารถทำให้การเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์โรค การรักษา การดูแลภายหลังการรักษา รวมถึงการป้องกันโรคทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างได้แก่ การใช้ AI ช่วยจัดคิวให้แพทย์พบผู้ป่วยตามความเร่งด่วน การใช้ AI ช่วยวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังและจอประสาทตาจากภาพถ่าย การใช้ AI คัดกรองวัณโรคปอดจากภาพเอกซเรย์ หรือที่สหรัฐอเมริกา มีแพลตฟอร์ม AI ช่วยในการดูแลผู้ป่วย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย หรือที่ลิทัวเนียมี AI สำหรับวินิจฉัยความเสี่ยงโรคหัวใจ Cardio Echo สามารถลดขั้นตอนการตรวจหัวใจจาก 30 นาทีเป็น 5 นาที และเพิ่มความแม่นยำโดยรวมด้วย
    .
  • การใช้ระบบอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Medical Things, IoMT) เป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์การแพทย์เข้ากับเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มการใช้งานให้หลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การฝังชิปในตัวผู้ป่วยให้สามารถติดต่อกับแพทย์ได้โดยอัตโนมัติหากมีความเจ็บป่วย การเชื่อมต่ออุปกรณ์ทางแพทย์ตั้งแต่ 2 อุปกรณ์ขึ้นไป เพื่อการวินิจฉัยและการจัดการผู้ป่วยจากระยะทางที่ไกลกว่าปกติ เป็นต้น
    .
  • การแพทย์ระยะไกล (Telemedicine) เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทำให้บุคลากรการแพทย์สามารถให้บริการผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องเจอตัวกันจริงๆ เทคนิคนี้ถูกใช้มากขึ้นในช่วงระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งช่วยลดภาระในหลายด้าน ทั้งการลดภาระด้านอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโควิด 19 การลดภาระด้านการใช้ห้อง ภาระการใช้เตียง ภาระด้านความเสี่ยงในการติดเชื้อ
    .
  • การวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data & Analytics) เทคโนโลยีนี้จะทำให้ตลาดดูแลสุขภาพได้รับข้อมูลที่เจาะลึกภายในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถนำมาปรับปรุงบริการทางด้านสุขภาพ ทั้งการตรวจวินิจฉัย การรักษา ให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาบริการทางสุขภาพใหม่ๆให้ตรงกับความต้องการได้
    .
  • การใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Immersive Technology, IMT) เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ทางด้านสุขภาพมากขึ้น ทั้งด้านการรักษาและการบำบัดฟื้นฟู ตัวอย่างเช่น การใช้ในการรักษาโรควิตกกังวล การใช้ฟื้นฟูสมรรถภาพการรับรู้ การฉายภาพช่วยในการผ่าตัด การใช้เสมือนผู้ดูแลผู้ป่วย ช่วยจัดการความเครียด ลดความวิตกกังวลในบางโรค
    .
    ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ด้านการแพทย์
                                                ภาพจาก Braintomourresearch.org
    .
  • การใช้เทคโนโลยีสุขภาพเคลื่อนที่ (Mobile Health, mHealth) เป็นการใช้เทคโนโลยีระบบติดตามดูแลสุขภาพผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน (Smart Phone) สมาร์ทวอทช์ (Smart Watch) และอื่น ๆ โดยจะช่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ เช่น ชีพจร ความดัน การนอนหลับ ข้อมูลสำคัญ ๆ ในขณะเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย โดยสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การส่งให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย เป็นต้น
    .
  • การพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) สามารถช่วยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ได้หลากหลาย เช่น การพิมพ์ขาเทียมขึ้นรูปด้วยวัสดุน้ำหนักเบา การหล่อเพื่อซ่อมแซมส่วนของร่างกายที่แตกหัก การพัฒนาแบบจำลองอวัยวะและเครื่องมือผ่าตัดเฉพาะผู้ป่วย เพื่อทำให้การผ่าตัดดีขึ้น เร็วขึ้น และบาดแผลเล็กลง เป็นต้น
    .
  • การใช้บล็อกเชน (Blockchain) ด้วยจุดเด่นในการจัดการข้อมูลที่มีความถูกต้อง ความโปร่งใส มีความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว บล็อกเชนจึงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ เช่น การจัดเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ การส่งต่อข้อมูลทางคลินิก การเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเพื่องานวิจัย การสร้างระบบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ การสร้างระบบ การจัดการ supply chain ของยา การแก้ปัญหาการปลอมแปลงข้อมูล ช่วยให้การจัดเก็บยาสามารถทำได้จากระยะไกล
    .
  • การใช้คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud computing) โดยเทคโนโลยีที่สามารถใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ เอาชนะข้อจำกัดในด้านการจัดการข้อมูลปริมาณมาก ทำให้สามารถให้บริการทางการแพทย์แบบดิจิตอล ทั้งการบริการทางการแพทย์แบบทั่วไป และบริการทางการแพทย์แบบระยะไกล ทั้งการวินิจฉัย การให้การรักษา การประเมินการรักษา การดูแลหลังและระหว่างการรักษา ช่วยให้ในแต่ละขั้นตอนทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
    .
  • การใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์ (Genomics) เป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่น ๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่อิตาลีมีการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับคาดการณ์ความเสี่ยงต่อโรค ระบุบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและหัวใจจากพันธุกรรม และที่สหรัฐอเมริกา มีการพัฒนาการทดสอบพันธุกรรมหาความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ทางน้ำลาย อาทิ ความผิดปกติของหัวใจ มะเร็ง ภาวะมีบุตรยาก อาการไม่พึงประสงค์จากยา โรคระบบประสาท การสูญเสียการมองเห็น เป็นต้น