ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น

ในบทความที่แล้วได้เขียนถึงเรื่อง “E-co Design การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ” ทำให้เห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการผลิตผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้หลายคน หลายองค์กร เริ่มเห็นถึงความสำคัญ และหันมาช่วยกันถนอมโลกด้วยการหันมาใช้หรือผลิตสินค้า Eco Product กันมากขึ้น เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แถมยังช่วยลดขยะและป้องกันการเกิดปัญหาโลกร้อนตั้งแต่ต้นทางการผลิต ดังนั้น ในบความนี้เราจะมาทำความเข้าใจในส่วนของ Eco Product ว่าคืออะไร มีความสำคัญเช่นไร และมีผลิตภัณฑ์ชนิดใดบ้าง

Eco Products

คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ขั้นตอนการคิด การออกแบบ การผลิต และการนำไปใช้ โดยประกอบด้วยหลัก 4R ได้แก่ Reduce, Reuse, Recycle, Repair

หรือกล่าวได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากกรรมวิธีธรรมชาติ ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยมลพิษ และไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ทั้งทางด้านการผลิต การใช้งาน และการย่อยสลาย รวมถึงช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากร ไม่มีสารพิษหรือสารเคมีเจือปน มีการผลิตตามจำนวนพอดีกับความต้องการ อายุการใช้งานยาวนาน ใช้หีบห่อสำหรับบรรจุภัณฑ์น้อย และสามารถนำวัสดุจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้กลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือผลิตภัณฑ์สีเขียว มีที่มาที่ไปจากปัญหาทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักและหันมารักษ์โลกกันมากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนรับผิดชอบทางสังคม ด้วยการผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมออกมาเพิ่มมากขึ้น (ธนิตา​ อารี​รบ, 2563)

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น

ภาพที่ 1 : แผนภูมิแสดงกระบวนการผลิตของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ที่มา : ตระกูลพันธ์ พัชรเมธา, 2557

Eco Products เป็นส่วนหนึ่งของการวางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล (Sustainable Development Goals) ที่ต้องการส่งเสริมการพัฒนาสังคมบนฐานองค์ความรู้นวัตกรรมและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อขับเคลื่อนสู่การเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจที่คำนึงถึงต้นทุนเชิงสิ่งแวดล้อม (Green growth)

โดยได้มีการจำแนก Eco Products ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี, 2554)

1. Eco-Materials (EM) : วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือวัสดุที่นำมาผลิตเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นที่การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือมีการย่อยสลายง่าย ซึ่งมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานในการกำจัดหลังจากใช้งานแล้ว ปัจจุบันได้มีการออกกฎเกณฑ์ในการกำหนดชนิด หรือประเภท และส่วนประกอบที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยแนวความคิดหลักในการนิยามว่าวัสดุชนิดใดเป็น Eco-Materials ประกอบด้วยหลักสำคัญ ได้แก่

- หลีกเลี่ยงการใช้หรือลดการใช้วัสดุที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้

- สามารถนำมาใช้ใหม่ได้

- ใช้วัสดุที่มีความทนทาน มีการบำรุงรักษาน้อยและสามารถใช้งานได้นาน

- ส่งเสริมพลังงานทดแทนและวัสดุพลังงานทดแทน

  • มีกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุประเภทเดียวกัน

2. Eco-Component (EC) : ส่วนประกอบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือส่วนประกอบที่นำมาผลิตเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยมีการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เช่น การลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย เพิ่มการนำกลับมาใช้ซ้ำ ๆ ได้ใหม่ในกระบวนการผลิตใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต

3. Eco-Product (EP) : สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือสินค้าที่มุ่งเน้นการประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในระหว่างการผลิตจะมีการใช้พลังงานและน้ำอย่างประหยัด รวมถึงลดของเสียและมลพิษในช่วงระหว่างการใช้งาน นอกจากนี้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถนำวัตถุดิบและส่วนประกอบของสินค้ามารีไซเคิล (Recycle) หรือคืนสภาพได้ (Recovered) ดังนั้นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการจัดการหลังหมดอายุการใช้งานน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน ซึ่งในที่นี้อาศัยคำนิยามที่เรียกว่า “ฉลากเขียว”

4. Eco-Service (ES) : บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ ธุรกิจบริการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบ การใช้ทรัพยากรและพลังงานในช่วงการให้บริการ และการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการให้บริการอื่นที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน

ตัวอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ Eco-Design ประเภทต่าง ๆ (สันทนา อมรไชย, 2562)

การออกแบบผลิตภัณฑ์ชีวการแพทย์ (Biomedical product design)

การประสานงานร่วมมือของ บริษัทผู้ผลิตยา ผู้จัดจำหน่ายในการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์ ชีวการแพทย์ ที่พิจารณาทางด้านสภาพแวดล้อมใน กระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงขบวนการผลิตระบบจัดส่งผลิตภัณฑ์ชีวการแพทย์ ทำให้สามารถลดปริมาณขยะ ของแข็ง และปริมาณปรอทจากโรงพยาบาล และสถานพยาบาลเครือข่ายลงได้มาก

อาหารฉลากเขียว (Green foods)

อาหารที่ได้รับการประกันคุณภาพอาหาร ที่เรียกว่า Eco-food หรือ Eco-labeled food ได้แก่ Green food (อาหารฉลากเขียว) และ Hazard-free food (อาหารปราศจากอันตราย) Organic food (อาหารอินทรีย์)

อาหารฉลากเขียวเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและมีขายอยู่ทั่วไปในตลาดในประเทศจีน การที่จะได้รับใบรับรองอาหารสีเขียวในประเทศจีนจะต้องกระทำดังนี้

1. ท้องที่ที่ใช้ในการเพาะปลูกต้องมีสภาพอากาศได้มาตรฐานสูงสุดของประเทศจีน

2. จะต้องควบคุมโลหะหนักตกค้างในดินและน้ำชลประทาน (โดยการตรวจสอบสารปรอท แคดเมียม

สารหนูตะกั่ว โครเมียม และอื่น ๆ)

3. น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องได้มาตรฐานน้ำดื่มของประเทศ

4. การใช้สารเคมีต้องอยู่ในการควบคุมดูแล สารกำจัดโรคแมลงที่เป็นพิษมาก ๆ

การออกแบบผลิตภัณฑ์เหล็กสำหรับเครื่องใช้ ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัย (Steel product design for home electric)

การออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องคำนึง สภาพแวดล้อมปลอดภัย ประหยัดพลังงาน แยกชิ้นส่วนได้ (Disassembly) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) ห้ามการใช้วัสดุอันตราย ได้แก่ ตะกั่ว โครเมียม แคดเมียม ในเหล็กและเหล็กกล้าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญและหลากหลายในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ภายในบ้านและในระบบอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อที่จะให้สภาพแวดล้อมเป็นมิตรต่อชุมชน

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ในครัวเรือน (Household product design)

โลกกำลังประสบกับการเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของกระแสขยะ (Waste stream) จากภาคส่วนของเครื่องใช้ในบ้าน ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่บริโภคกันมากมายอันเนื่องมาจากมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้อายุใช้งานน้อยลงเพราะล้าสมัย กลยุทธ์ในการจัดการผลิตภัณฑ์หมดอายุใช้งาน จะต้องให้เกิดสมดุลทั้งทางบวกและทางลบใน 3 ด้าน

1. ลดการฝังกลบขยะ

2. ทำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้สูงสุด (Recycling)

3. ควบคุมวัสดุที่เป็นพิษ

การออกแบบสายไฟและสายเคเบิลสีเขียว (Wire and cable eco-green design)

ผลิตภัณฑ์สายไฟและสายเคเบิลสีเขียว (Eco-green) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยวัสดุที่สะอาดไม่มี

ส่วนประกอบของสารฮาโลเจน และโลหะหนัก แนวคิดของการผลิตสายไฟและสายเคเบิลสีเขียว (Eco-green)

ประกอบด้วย

1. ปราศจากสารฮาโลเจน (Halogen free) ซึ่งได้แก่ คลอรีน โบรมีน ฟลูออรีน และไอโอดีน ซึ่งการปราศจากสารเหล่านี้ทำให้เกิดการความปลอดภัยเมื่อวัสดุติดไฟ (Safety in fire) โดยไม่ทำให้เกิดแก๊สพิษไม่เกิดแก๊สที่เกิดการกัดกร่อนหรือเป็นสนิม เกิดควันน้อย

2. ปราศจากโลหะหนัก (Heavy metal free) ได้แก่ ตะกั่ว พลวง โครเมียม แคดเมียม ซึ่งทำให้ปลอดภัยในกระบวนการทำลาย (Safety at wasting treatment) เพราะไม่เกิดสารไดออกซิน (Dioxin) และไม่มีการระเหยออกมาของไอสารโลหะหนัก

3. ให้ความชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหมวดหมู่วัสดุ และการรวบรวมวัสดุ ซึ่งทำให้สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recyclable) เพราะว่าง่ายต่อการจำแนกแยกแยะ (Easy to Classify) การนำขยะกลับมาใช้ใหม่แบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ การนำมาใช้ทำเชื้อเพลิง (Thermal Recycling) หรือการแยกส่วนออกเป็นวัสดุ หรือส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น รวบรวมเปลือกหุ้ม และแผ่นฉนวนทำเป็นสารโพลิโอเลฟินส์ (Polyolefin) สำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป

ผลิตภัณฑ์สายไฟและสายเคเบิลฉลากเขียว ได้แก่ สายไฟที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สายไฟที่ใช้ในรถยนต์ และสายเคเบิลที่ใช้ในระบบโทรคมนาคม (LAN Cables)

การออกแบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว (Eco design for electric)

อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ EEE (Electric and electronic equipment) เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่และโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิต และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมากมาย ตั้งแต่การสกัดและใช้วัตถุดิบ การใช้พลังงานและทรัพยากรอื่น ๆ ในการผลิต การใช้งานผลิตภัณฑ์จนถึงการหมดอายุใช้งานและกลายเป็นขยะในที่สุด

แรงขับดันหลักในการออกแบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว ประกอบด้วย

1. ความต้องการควบคุมทางด้านกฎหมายและมาตรฐานการผลิต เช่น คำสั่ง WEEE (Waste electrical and electronic equipment) คำสั่ง RoHS (Restric of use of certain hazardous substances in electrical and electronic equipment) คำสั่ง EuP (Establishing a framework for the setting of eco-design requirements for energy using products)

2. ความต้องการด้านตลาดและผู้บริโภคสีเขียว (market/green consumer)

3. ความรับผิดชอบขององค์กร (corporate responsibility)

4. ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)

อาจจะกล่าวได้ว่าหรือ Eco Products เป็นอีกหนึ่งทางเลือกรักษ์โลกที่น่าสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้นที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และคงจะดียิ่งกว่าหากผู้บริโภคก็หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตร และเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เพื่อช่วยกันลดขยะ ลดโลกร้อน และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน (ธนิตา อารีรบ, 2563)

รวบรวมข้อมูลโดยนางสาวสุพักตรา ยุทธภัณฑ์บริภาร