อายุการใช้งานสินทรัพย์ สรรพากร

เลขที่หนังสือ : กค 0702/6421
วันที่ : 11 สิงหาคม 2552
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภท โปรแกรมคอมพิวเตอร์
ข้อกฎหมาย : มาตรา 4 มาตรา 4 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 473)
ข้อหารือ           กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งบริษัทได้ซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (โปรแกรมบัญชี) และพร้อมใช้งานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทจะหักตาม มาตรา 4แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 หรือตามมาตรา 4 จัตวา แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145)พ.ศ. 2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 473) พ.ศ. 2551
แนววินิจฉัย           กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ สิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีสิทธิเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ได้ดังนี้
          1. การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา กรณีไม่จำกัดอายุการใช้ ในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ใน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และกรณีจำกัดอายุการใช้ ในอัตราร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการใช้งาน ตามมาตรา 4(4) แห่งพระราช กฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145)พ.ศ. 2527
          2. การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 4 จัตวา แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 473) พ.ศ. 2551 ดังนี้
               (1) ภายในสามรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เต็มสิบสองเดือน ให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยจะเลือกใช้วิธีการทางบัญชีรับรองทั่วไปวิธีใดก็ได้
               (2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวร ซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงาน ไม่เกินสองร้อยคน ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละสี่สิบของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่า ต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ใน (1)
เลขตู้ : 72/36784

เลขที่หนังสือ : กค 0811/09658
วันที่ : 14 กันยายน 2542
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับปรุงและการทำลายทรัพย์สิน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 65 ทวิ(2), มาตรา 65 ตรี (5), มาตรา 65 ตรี (13)
ข้อหารือ : บริษัทฯ ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์ที่ทันสมัย มีการนำเอาเทคโนโลยีที่
นำสมัยมาใช้เสมอมาภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจประเภทนี้ทางบริษัทฯ จึงจะต้องมี
การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยเพื่อสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
ปัจจุบันมีประเด็นข้อปรึกษาเพื่อถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องดังนี้
1. บริษัทฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบคอมพิวเตอร์และพรม โดยแต่เดิมต้นทุนของทรัพย์สิน
ทั้งสองประเภทได้บันทึกเป็นทรัพย์สินตัดค่าเสื่อมราคา 10 ปี ต่อมาเมื่อใช้งานไปได้ 2 - 3 ปี พบว่าสภาพ
ของทรัพย์สินค่อนข้างชำรุดเนื่องจากการใช้งานทำให้การบริการไม่มีประสิทธิภาพ ทางบริษัทฯ จึง
ตัดสินใจเปลี่ยนทรัพย์สินใหม่เพื่อรักษาภาพพจน์ต่อผู้มาใช้บริการ ส่วนสินทรัพย์ชุดเก่าได้ทุบทำลายและเผา
โดยได้ทำการถ่ายวิดีโอเทปและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน แต่มิได้แจ้งเจ้าหน้าที่สรรพากรเกี่ยวกับ
การทำลายทรัพย์สินดังกล่าว ทางบริษัทฯ กระทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่กระทำไปด้วยความ
สุจริตและมีข้อเท็จจริงแสดงเป็นหลักฐานอย่างชัดเจน ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทฯ ก็รับทราบ
การกระทำดังกล่าวด้วย ทางบริษัทฯ จะสามารถนำต้นทุนที่เหลืออยู่ในบัญชีของทรัพย์สินดังกล่าวมาตัดเป็น
ค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่มีการทำลายทรัพย์สินนั้นได้หรือไม่
อย่างไร
2. บริษัทฯ ได้มีการทำลายอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่งและได้นำมูลค่าสุทธิที่
เหลืออยู่ทางบัญชีมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ต่อมาภายหลังจากการตรวจ
เช็คทรัพย์สินปรากฏว่า มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์บางส่วนที่ยังมิได้ทำลายจริง และยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
จึงนำค่าใช้จ่ายที่ตัดจ่ายไปนั้นมาบวกกลับและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
ทางบริษัทฯ จะสามารถนำค่าใช้จ่ายที่บวกกลับมาทยอยตัดเป็นค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามอายุการใช้
งานที่เหลืออยู่อีกได้หรือไม่อย่างไร
3. บริษัทฯ มีการปรับปรุงทรัพย์สินบางประเภท เช่น เก้าอี้ เครื่องฉายภาพยนตร์ ให้อยู่
ในสภาพที่สามารถใช้งานได้เป็นปกติตามอายุการใช้งานของทรัพย์สินแต่ละประเภท ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
เพื่อการรักษาประสิทธิภาพการทำงานนี้ บริษัทฯ สามารถตัดเป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่เกิดขึ้นจริงใน
การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย : 1. กรณีตาม 1. แยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) กรณีทรัพย์สินชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ บริษัทฯ จะนำมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่
ของทรัพย์สินนั้นตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ แต่หากได้ทำลายหรือขายไปซึ่งทรัพย์สินนั้นก็มีสิทธิตัดต้นทุน
ที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 1 แห่ง
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.58/2538 ฯ ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2538
(2) กรณีการทำลายทรัพย์สินที่ชำรุดไม่สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาก
บริษัทฯ สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการทำลายทรัพย์สินดังกล่าวจริง และมีผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ รับรอง
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการโดยตรงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี
(13) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลืออยู่ดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิได้ ถึงแม้ไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรทราบล่วงหน้าก่อนก็ตาม แต่ในการทำลาย
ครั้งต่อไปเพื่อไม่ให้มีปัญหากับการตรวจของเจ้าหน้าที่จึงขอให้บริษัทฯ ปฏิบัติให้เป็นไปตาม
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.79/2541 ฯ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541
2. กรณีตาม 2. เมื่ออุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ยังมิได้มีการทำลายจริงและบริษัทฯ ได้นำ
ค่าใช้จ่ายที่ตัดไปนั้นมาบวกกลับและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมแล้ว บริษัทฯ จึงมีสิทธินำมูลค่าต้นทุน
ส่วนที่เหลือของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามอายุการใช้งานที่
เหลืออยู่ได้ตามมาตรา 65 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีตาม 3. หากการปรับปรุงทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้เป็นการต่อเติมเปลี่ยนแปลง
ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมเพื่อให้ทรัพย์สินสามารถใช้การได้
เป็นปกติ บริษัทฯ มีสิทธินำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ : 62/28306