คนวิกลจริตทำนิติกรรมซื้อขายรถยนต์

นี้คือการบ้านที่คุณกุนให้ทำส่งค่ะ

ฝากคำถามเป็นการบ้าน...

1.คนวิกลจริตเมื่อทำนิติกรรมผู้ใดให้ความยินยอม

2. ผู้ใดเป็นผู้ให้สัตยาบันสำหรับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะในกรณีของบุคคลวิกลจริต

3. ผู้ใดเป็นผู้บอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ สำหรับบุคคลวิกลจริต

เรียน คุณกุน ที่เคารพ

ดิฉันเพิ่งมาเห็นในภายหลังว่าในกระทู้ที่ผ่านมานั้น คุณกุนได้ฝากการบ้านไว้ด้วย เพราะวันก่อนยังไม่เห็นมีการบ้านในกระทู้ดังกล่าวเลยค่ะ ดิฉันต้องขอโทษด้วยนะคะที่เพิ่งจะเห็น  และดีใจมาก ๆ ค่ะที่เห็นคุณกุน กรกฎ กรุณาให้การบ้านไว้

ข้อที่ 1. คนวิกลจริตเมื่อทำนิติกรรมผู้ใดให้ความยินยอม

ตอบ  คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ สามารถทำนิติกรรมได้อย่างสมบูรณ์อย่างคนทั่วไป โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า หากคนวิกลจริตจะทำนิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่ดูแลคนวิกลจริตเสียก่อน แต่มีข้อยกเว้นว่า หากคนวิกลจริตทำนิติกรรมลงในขณะที่ตนเองจริตวิกล และคู่กรณีอีกฝ่ายรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริตจะทำให้นิติกรรมที่ทำลงมีผลเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 30 กล่าวคือ สมบูรณ์อยู่จนกว่าจะถูกบอกล้าง หรือให้สัตยาบัน

             ดังนี้ คนวิกลจริตสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้ทั้งสิ้นโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากใคร นิติกรรมนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นไปตามกรณีมาตรา 30

ข้อที่ 2. ผู้ใดเป็นผู้ให้สัตยาบันสำหรับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะในกรณีของบุคคลวิกลจริต

         ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

         มาตรา 175 (4) วางหลักไว้ว่า บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 30 สามารถบอกล้าง

         มาตรา 177 ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมตามมาตรา 175 ผู้หนึ่งผู้ใด ได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก

ตอบ  ดังนี้ บุคคลที่สามารถให้สัตยาบันสำหรับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะในกรณีของบุคคลวิกลจริต ได้คือ

  1..บุคคลวิกลจริตที่เป็นผู้ทำนิติกรรมตามมาตรา 30 แต่ต้องให้สัตยาบันในขณะที่บุคคลวิกลจริตนั้นไม่วิกลแล้ว 

2. ทายาทของบุคคลวิกลจริต แต่ต้องให้สัตยาบันได้ต่อเมื่อนับแต่เวลาที่บุคคลวิกลจริตถึงแก่ความตายแล้ว

ข้อที่ 3.  ผู้ใดเป็นผู้บอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ สำหรับบุคคลวิกลจริต

            ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

            มาตรา 175 (4) วางหลักไว้ว่า บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 30 สามารถบอกล้างโมฆียะกรรมได้ แต่ต้องกระทำในขณะที่จริตของคนวิกลจริตนั้นไม่วิกลแล้ว

            มาตรา 175 วรรคท้าย วางหลักไว้ว่า ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียกรรมนั้นได้

ตอบ  ดังนี้ ผู้ที่บอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียกรรมสำหรับบุคคลวิกลจริต คือ

  1.   บุคคลวิกลจริตที่เป็นผู้ทำนิติกรรมตามมาตรา 30 แต่ต้องบอกล้างในขณะที่บุคคลวิกลจริตนั้นไม่วิกลแล้ว 

  2. ทายาทของบุคคลวิกลจริต สามารถบอกล้างได้ต่อเมื่อนับแต่เวลาที่บุคคลวิกลจริตถึงแก่ความตายแล้ว


คดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตั้งผู้อนุบาล

คนเสมือนไร้ความสามารถ ตั้งผู้พิทักษ์

คนไร้ความสามารถ คือ บุคคลวิกลจริต ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่ขาดความรู้สึกผิดชอบ มีอาการผิดปกติทางจิต ควบคุมสติไม่ได้ และขาดความรับผิดชอบอย่างรุนแรง เช่น โรคสมองฝ่อ โรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์ สมองเสื่อมขั้นรุนแรง สมองพิการ จิตไม่ปกติเป็นการถาวร ฟั่นเฟือน ประสาทหลอน บกพร่อง โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคพาร์กินสัน โรคชรา อัมพาต เจ็บป่วยไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่สามารถประกอบกิจการงาน และทำภารกิจส่วนตัวหรือช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา ซึ่งต้องจัดให้อยู่ในความดูแลของผู้อนุบาล ตาม ป.พ.พ.มาตรา 28

ผลของกฎหมายการเป็นคนไร้ความสามารถ : ไม่สามารถทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง แม้เป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทนทั้งหมด นิติกรรมที่คนไร้ความสามารถทำลงไปตกเป็นโมฆียะ ซึ่งผู้อนุบาลอาจบอกล้างหรือให้สัตยาบันได้ในภายหลัง ตาม ป.พ.พ. 29 แต่บางนิติกรรมต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574

   ส่วนบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะ ต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 30

คนเสมือนไร้ความสามารถ คือ ผู้ที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 32 วรรค 1

1. มีกายพิการ จนไม่สามารถทำการงานได้ด้วยตนเอง เช่น หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ แขนขาด ขาขาด อัมพาตเคลื่อนไหวตัวไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นมาโดยกำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง เช่น จากอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ ชราภาพ เป็นต้น

2. จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เช่น จิตผิดปกติ โรคจิต สมองพิการแต่ยังไม่ถึงขั้นวิกลจริต

3. ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ ใช้จ่ายเงินเกินกว่ารายได้หรือฐานะอยู่เป็นประจำ ฟุ่มเฟือยโดยไม่มีเหตุผลสมควร ซื้อของตามใจโดยไม่สนใจว่าจะใช้ได้หรือไม่ ซึ่งทำให้ทรัพย์สมบัติร่อยหรอลงไปทุกวัน จนในที่สุดต้องหมดตัว

4. เสเพล ไมทำการงาน ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม

5. ติดสุรายาเมา ตลอดเวลา ติดฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า กัญชา ยาดอง ฯลฯ

   จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว

   แต่ไม่ถึงกับวิกลจริต ต้องจัดอยู่ในความดูแลของผู้พิทักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 32

   ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำการไป โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ มีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ แต่ผู้พิทักษ์ไม่สามารถกระทำการแทนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 34

   ถ้าไม่มีคู่สมรส ให้พ่อแม่เป็นผู้พิทักษ์ ถ้ามีคู่สมรสให้คู่สมรสเป็นผู้พิทักษ์

ผลของกฎหมายการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ : จัดให้อยู่ในความดูแลของผู้พิทักษ์ ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ และนิติกรรม ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 34

ผู้ที่มีสิทธิร้องขอ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 / 32

1. คู่สมรส

2. บุพการี บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด รวมถึงบิดามารดาบุญธรรม

3. ผู้สืบสันดาน ลูก หลาน เหลน ลื่อ

4. ผู้ปกครองผู้เยาว์

5. ผู้พิทักษ์

6. ผู้ที่ปกครองดูแลอยู่ในขณะนั้น เช่น พี่สาว น้องชาย เป็นต้น

7. พนักงานอัยการ

8. บุตรบุญธรรม

เพิ่มเติม ส่วนมากผู้ยื่นคำร้องมักจะเป็นพ่อ แม่ ลูก สามีภริยา หรือพี่น้อง ผู้ซึ่งดูแลให้การช่วยเหลือรักษาพยาบาลคนไร้ความสามารถ ถ้าไม่ได้เป็นผู้ดูแล ศาลก็มักจะไม่อนุญาตแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล

เอกสารประกอบ

1. ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง

2. ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชน หรือ Passport ของผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

3. เอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เช่น สูติบัตร ใบสำคัญการสมรส ใบสำคัญการหย่า ใบมรณบัตรของคู่สมรสผู้ไร้ความสามารถหรือผู้เสมือนไร้ความสามารถ ทะเบียนรับรองบุตร เป็นต้น

***4. ใบรับรองหรือรายงานความเห็นของแพทย์ ไม่เกิน 6 เดือน ระบุว่ามีความผิดปกติทางด้านร่างกาย สมอง หรือจิตใจ เช่น เป็นโรคสมองเสื่อม เส้นเลือดตีบ ไม่สามารถตัดสินใจ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือประกอบกิจการงานด้วยตนเองได้ ไม่สามารถทำนิติกรรมต่างๆได้ (สมควรให้มี ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หรือจำเป็นต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด)

5. ภาพถ่ายของคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

6. บัญชีเครือญาติ

7. หนังสือยินยอมจากทายาทที่เกี่ยวข้อง เช่น คู่สมรส ทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ถ้ามี)

8. หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อสกุล (ถ้ามี)

10. บัตรประจำตัวผู้พิการ (ถ้ามี)

11. ตัวบทกฎหมายของสัญชาติผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ (กรณีชาวต่างชาติ)

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท

2. ค่าประกาศผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ E-Notice ฟรี

3. ค่าส่งสำเนาคำร้องให้แก่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย อัตราตามระเบียบศาล

ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี : ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

ขั้นตอนดำเนินการ

1. ติดต่อนัดพบทนายความ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง รับเอกสาร ประกอบการยื่นคำร้องต่อศาล ภายใน 7 วันนับแต่วันทำสัญญา

2. ยื่นคำร้องต่อศาล ฯ ส่งหมายนัดให้ทายาทคนอื่นทราบ เพื่อใช้สิทธิคัดค้าน

3. ให้ถ้อยคำสถานพินิจฯ กรณีคนไร้ความสามารถเป็นผู้เยาว์

4. ศาลนัดไต่สวนคำร้อง (ภายใน 2 เดือนนับแต่วันยื่นคำร้อง)

5. ศาลมีคำสั่ง / คำพิพากษา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

6. คัดถ่ายคำสั่งศาล และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

   รวมระยะเวลาดำเนินคดีประมาณ 3 - 4 เดือน

ผลของคำสั่งศาล

1. นิติกรรมที่คนไร้ความสามารถได้ทำลงไปเป็นโมฆียะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม จะต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำแทน ยกเว้นนิติกรรมบางชนิด ต้องได้รับอนุญาจจากศาล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 เช่น ขาย ให้เช่าซื้อ จำนอง เป็นต้น

2. นิติกรรมที่ต้องทำเฉพาะตัว ต้องห้ามทั้งหมด เช่น การสมรส (มาตรา 1449) ทำพินัยกรรม (มาตรา 1704) เป็นต้น

การจัดการทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถ

1. ผู้ร้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่ง เป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาล พร้อมทั้งขออนุญาตให้ผู้ร้องทำนิติกรรมขายทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถไปในคดีเดียวกันได้

2. แม้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกล่าวถึงอำนาจการจัดการหรือขอบอำนาจกระทำการแทนของผู้อนุบาล แต่การทำนิติกรรมก็ต้องขออนุญาตศาลก่อนทุกกรณีไป เหมือนกรณีของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1574

3. บัญชีธนาคาร ต้องให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ชัดเจนว่าสามารถ "ทำธุรกรรมหรือนิติกรรมทางการเงินในการเบิกถอนเงินจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 111-2-22333-4 เพื่อใช้ในการดูแล... คนไร้ความสามารถได้"

4. ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์

   4.1. ประสงค์จะขายทรัพย์สินให้ผู้ใด ในราคาเท่าใด ปกติต้องตามราคาท้องตลาด ซึ่งไม่ต่ำกว่าราคาประเมิน ซึ่งคำสั่งศาลจะกำหนดให้ขายไม่ต่ำกว่าราคา - บาท โดยควรซื้อขายในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน เพื่อจะนำเงินที่ได้จากการขายมาเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและค่ารักษาพยาบาล

   4.2. ต้องบรรยายในคำร้องว่า ปัจจุบันผู้ไร้ความสามารถรักษาพยาบาลอยู่ที่ใด มีค่าใช้จ่ายเท่าใด ซึ่งทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะชำระ

   4.3. สถานะในปัจจุบันของผู้อนุบาลไม่มีรายได้เพียงพอที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายได้

   4.4. กรณีผู้ไร้ความสามารถ เป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกับบุคคลอื่น ในฐานะกรรมสิทธิ์ร่วมหรือสินสมรส คำร้องจะต้องให้เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสเซ็นยินยอมและไม่คัดค้านด้วย

   4.5. ศาลอาจจะมีคำสั่งให้อนุญาตขายได้ และต้องดำเนินการให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภายใน 1 ปี หรือ 2 ปี เป็นต้น

5. ผู้เสมือนไร้ความสามารถ สามารถขายทรัพย์สินของตนเองได้เช่นเดียวกันคนปกติ ยกเว้นนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ มิใช่โดยคำสั่งอนุญาตจากศาล

ความสิ้นสุดของการเป็นคนไร้หรือเสมือนความสามารถ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 31 / 36

เมื่อศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เท่านั้น

: อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาล สิ้นสุดลง

: บุคคลผู้มีสิทธิยื่น ตาม ป.พ.พ.มาตรา 28 หรือผู้ไร้ความสามารถเอง โดยยื่นคำร้องในคดีเดิม ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 7 (5)

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : นิยามของคำว่า "บุคคลวิกลจริต" 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490/2509 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2509)

   คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปว่าเป็นบ้า เท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาศ คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรู้สึกผิดชอบด้วยเพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการงานของตน หรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว

   ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลามีอาการพูดไม่ได้ หูไม่ได้ยินตาทั้งสองข้างมองไม่เห็น มีอาการอย่างคนไม่มีสติสัมปชัญญะใดๆ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง ถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2527

   คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้า เท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึกและขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว

   มารดาผู้ร้องและผู้คัดค้านมีอาการไม่รู้สึกตัวเอง ไม่รู้จักสถานที่และเวลาพูดจารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างซึ่งนายแพทย์เรียกอาการเช่นนี้ว่า สมองเสื่อมหรือวิกลจริตและไม่มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ ทั้งเดินทางไปไหนไม่ได้อีกด้วย แสดงให้เห็นว่ามารดาผู้ร้องเป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 แล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 490/2509 ประชุมใหญ่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537

   คำว่า "บุคคลวิกลจริต" ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา 28 ใหม่) นั้นมิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้า เท่านั้น แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจการส่วนตัวของตนได้ จ. ไม่รู้สึกตัวเองและพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองฝ่อ หรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรงไม่สามารถรักษาให้หายได้ ตลอดจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้แสดงให้เห็นว่า จ. เป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม(มาตรา 28 ใหม่) แล้ว

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 420/2509

   บุคคลซึ่งเป็นเนื้องอกในสมอง ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มีอาการ พูดไม่ได้ หูไม่ได้ยิน ตาทั้งสองข้างมองไม่เห็น ใครพูดด้วยไม่แสดงรับรู้อะไร มีอาการอย่างคนไม่มีสติสัมปชัญญะ

ประเด็น : คนชราอายุมาก ความจำหลงลืม ถือเป็นคนไร้ความสามารถ

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 74/2511

   คนอายุ 92 ปี ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้สึกตัว พูดรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ถือเป็นคนวิกลจริตแล้ว

ประเด็น : สามีภริยาย่อมต้องเป็นผู้อนุบาล เว้นแต่ผู้อื่นเหมาะสมกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 346/2509

   ตามปกติสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลภริยาซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล เมื่อผู้มีส่วนได้เสียผู้ใดคัดค้านต่อศาล ผู้คัดค้านชอบที่จะนำสืบแสดงเหตุสำคัญให้เห็นว่าศาลควรตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาล

ประเด็น : ผู้อนุบาล สามารถมีได้หลายคน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2538

   การที่ศาลมีคำสั่งตั้ง ย. และผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลของ พ.คนไร้ความสามารถนั้น เมื่อต่อมา ย. ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายย่อมเป็นเหตุทำให้การเป็นผู้อนุบาลสิ้นสุดลง ย.ไม่เป็นผู้อนุบาลอีกต่อไปผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอในฐานะผู้อนุบาลของ พ. ได้โดยลำพังคนเดียว ผู้จัดการมรดกถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายย่อมขาดคุณสมบัติการเป็นผู้จัดการมรดกทำให้กองมรดกของผู้ตายไม่มีผู้จัดการเมื่อการจัดการแบ่งมรดกยังมีข้อขัดข้องผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลของพ. คนไร้ความสามารถซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายจึงมีสิทธิขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

ประเด็น : การตั้งผู้อนุบาลร่วม อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อการทำหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6939/2537 

   กรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถจะต้องตั้งคู่สมรสเป็นผู้อนุบาลก่อนเพียงคนเดียว หากมีผู้อื่นร้องขอและมีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลก็ได้ การจะตั้งทั้งคู่สมรสและบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน จะไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1463 การจัดการสินสมรสของคนไร้ความสามารถ ผู้อนุบาลต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/16 คือถ้าเป็นการจัดการตามมาตรา 1476 วรรคหนึ่ง ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลร่วมกับผู้คัดค้าน

ประเด็น : อธิบาย คำว่า "ผู้ปกครองดูแล"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3866/2545

   ผู้ร้องเป็นผู้ช่วย ว. ซึ่งเป็นผู้อนุบาลคนเดิมที่ดูแลและเลี้ยงดู อ. ซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริต โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกันตลอดมา และนับแต่ ว. ถึงแก่กรรมผู้ร้องก็เป็นผู้ดูแลและพา อ. ไปรักษายามเจ็บป่วยมาโดยตลอด ย่อมถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ซึ่งปกครองดูแล อ. คนไร้ความสามารถจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้อนุบาลของ อ. ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28

   เมื่อคำนึงถึงประโยชน์และความผาสุกของ อ. ในอันที่จะได้อยู่ในบ้านเดิมที่ตนได้พักอาศัยตลอดมาตั้งแต่เด็กจนปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 50 ปี การได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่องและความรัก ความอบอุ่น รวมตลอดถึงความห่วงใยแล้วผู้ร้องมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาลของ อ. มากกว่าผู้คัดค้านทั้งปรากฏว่า อ. บรรลุนิติภาวะแล้วไม่มีคู่สมรสและบิดามารดา ศาลจึงมีอำนาจแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลของ อ. แทน ว. ซึ่งเป็นผู้อนุบาลคนเดิมที่ถึงแก่ความตายแล้วได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1569/1

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 28 บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือบิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

   บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลและการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

   คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 29 การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา 30 การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา 31 ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้วและเมื่อบุคคลผู้นั้นเองหรือบุคคลใดๆ ดังกล่าวมาในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาลก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น

มาตรา 32 บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้

   บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

   ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

   คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 33 ในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ ความสามารถเพราะวิกลจริต ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้น ไม่วิกลจริต แต่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อมีคำขอของคู่ความ หรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 28 ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ หรือในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เพราะมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้นวิกลจริต เมื่อมีคำขอของคู่ความหรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 28 ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

มาตรา 1463 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ภริยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญศาลจะตั้งผู้อื่น เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได้

มาตรา 1598/15 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและภริยาหรือสามีเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา 1567 (2) และ (3)

มาตรา 1598/16 คู่สมรสซึ่งเป็นผู้อนุบาลของคู่สมรสที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งและมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว แต่การจัดการสินส่วนตัวและสินสมรสตามกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา 1476 วรรคหนึ่ง คู่สมรสนั้นจะจัดการไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

มาตรา 1598/17 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและศาลเห็นไม่สมควรให้คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล และตั้งบิดาหรือมารดาหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้อนุบาล ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้อนุบาลเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันกับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่ถ้ามีเหตุสำคัญอันจะเกิดความเสียหายแก่คนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้

   อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกรณีดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งแยกสินสมรสได้

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

มาตรา 163 ในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลเป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าศาลเห็นสมควรอาจสั่งให้แพทย์หรือจิตแพทย์ตรวจพิเคราะห์ทางกายหรือทางจิตบุคคลที่ขอให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือสั่งให้นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือเจ้าพนักงานอื่นจัดทำรายงานสภาพครอบครัว สภาวะความเป็นอยู่หรือสัมพันธภาพระหว่างผู้ไร้ความสามารถกับผู้ขอเป็นผู้อนุบาลแล้วรายงานศาลเพื่อประกอบการพิจารณาคดี

   ในกรณีศาลมีคำสั่งตั้งผู้อนุบาลถ้าศาลเห็นสมควรเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถ ศาลจะมีคำสั่งตั้งนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือเจ้าพนักงานอื่นทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้อำนาจของผู้อนุบาลเกี่ยวแก่ตัวผู้ไร้ความสามารถหรือทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถหรือค่าอุปการะเลี้ยงดูและการรักษาพยาบาลผู้ไร้ความสามารถก็ได้แล้วให้เจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งรายงานให้ศาลทราบตามระยะเวลาที่เห็นสมควรหรือตามที่ศาลสั่ง แล้วแต่กรณี

   ให้แพทย์ จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือเจ้าพนักงานอื่นที่ศาลสั่งตามวรรคหนึ่งและวรรคสองได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพุทธศักราช 2481

ภาค 2 สถานะและความสามารถของบุคคล

มาตรา 10 ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. โดยคำสั่งของศาลจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสามารถกด "ค้นหา" ได้ตาม Link http://www.mratchakitcha.soc.go.th/announce.html

   ประมาณ 2 - 3 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

2. การยื่นคำร้องให้ชาวต่างชาติเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ต้องอ้างตัวบทกฎหมายของสัญชาตินั้นด้วย

3. เมื่อเหตุที่ทำให้เป็นผู้ไร้ความสามารถสิ้นสุดลง ก็สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนั้นได้

4. การเป็นผู้ไร้ความสามารถมีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป ฉะนั้น นิติกรรมที่ทำก่อนหน้าย่อมมีผลสมบูรณ์ เว้นคู่กรณีรู้อยู่แล้วว่าวิกลจริต ตาม ป.พ.พ. 30

5. ในการร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ก็ดี ถ้าศาลเห็นว่าไม่ถึงระดับไร้ความสามารถ ศาลอาจสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้ หรือในทางกลับกัน 

6. กรณีเกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ ผู้ร้องต้องไปให้ถ้อยคำสถานพินิจด้วย

7. เหตุส่วนใหญ่ที่ต้องตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ เพราะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่าย หรือค่ารักษาพยาบาลได้

8. หากความผิดปกติของโรคไม่ชัดเจน ศาลอาจมีคำสั่งให้นำแพทย์ผู้ทำการรักษามาเบิกความได้

9. หากศาลมีเหตุสมควร อาจสั่งให้แพทย์หรือจิตแพทย์ มาตรวจพิเคาะห์สภาพทางกายหรือทางจิต แล้วจัดทำรายงานเพื่อประกอบการพิจารณาคดีได้ ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชน ฯ มาตรา 163 วรรคหนึ่ง

ค่าบริการว่าความ คดีตั้งผู้อนุบาล - ผู้พิทักษ์

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

ยื่นคำร้องต่อศาล

20,000

รับว่าความทั่วประเทศ

กรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่ ฟรีค่าเดินทางทนาย

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายฟรี

เปิดบริการทุกวัน 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

คนวิกลจริตทำนิติกรรมซื้อขายรถยนต์

  

คนวิกลจริตทำนิติกรรมซื้อขายรถยนต์
 

ตัวอย่างคำสั่งศาลขอตั้งผู้อนุบาล

ตัวอย่าง ใบรับรองแพทย์สำหรับคดีคนไร้ความสามารถ

คนวิกลจริตทำนิติกรรมซื้อขายรถยนต์