การเป นภ ม ภาคท ม การบ รณาการเข าก บเศรษฐก จ

ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งเศรษฐกิจและสังคมไทยจำเป็นต้องมี “ภูมิคุ้มกัน” เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน งานวิจัยนี้สำรวจความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและมาตอกย้ำความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่แล้วให้มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น และศึกษาประเด็นความเปราะบางในสังคมไทยที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิดและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในสังคมที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากโครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” เพื่อมุ่งเข้าใจภูมิทัศน์ของความ “คิดต่าง” ของคนในสังคม และปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้ความ “คิดต่าง” ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมได้ ทั้งนี้ หากไม่เร่งแก้ไข จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความร่วมมือของหลายภาคส่วนและการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจในที่สุด

Show

ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในบริบทโลกใหม่กับความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความเปราะบางที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในหลายมิติ ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในบริบทโลกใหม่ (megatrends) ได้เข้ามาซ้ำเติมให้ปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น งานวิจัยนี้สรุป megatrends ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไว้ทั้งหมด 5 ประการ ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมการรับมืออย่างเร่งด่วน ได้แก่

  1. การปรับเปลี่ยนและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก
  2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด
  3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  4. การเข้าสู่สังคมสูงวัย และ
  5. แผลเป็นที่วิกฤตโควิด 19 ทิ้งไว้กับประเทศไทย

โดยคณะผู้วิจัยได้ยกตัวอย่างของความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงสำคัญดังกล่าว ดังต่อไปนี้

การปรับเปลี่ยนและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก

เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความซับซ้อนและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การพึ่งพิงจีนและสหรัฐฯ ในหลายด้าน อาทิ การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนทางตรง ดังนั้น หากความขัดแย้งของสองมหาอำนาจนี้เพิ่มขึ้น และหากไทยต้องถูกบังคับให้ต้องเลือกข้างทางเศรษฐกิจแล้ว ภาคส่วนเหล่านี้จะถูกกระทบอย่างมาก ไม่ว่าจะเลือกข้างใดก็ตาม โดยผู้เสียประโยชน์จะแตกต่างกันไปตามแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับจีนหรือสหรัฐฯ

  • การส่งออกของไทยไปยังจีนและสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมด จากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2020 มีมูลค่ารวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด โดยคิดเป็นร้อยละ 13 สำหรับการส่งออกไปจีน และร้อยละ 15 สำหรับการส่งออกไปสหรัฐฯ (ภาพที่ 1) และเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าส่งออก พบว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทย 10 อันดับแรก มีสัดส่วนที่ส่งออกไปยังสองประเทศยักษ์ใหญ่นี้สูงเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์พลาสติกไปจีน และกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกลไปสหรัฐฯ (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 1: พัฒนาการสัดส่วนการส่งออกของไทยไปจีนและสหรัฐฯ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย; คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

ภาพที่ 2: สัดส่วนการส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ แยกตามสินค้าส่งออกหลักของไทย 10 ประเภท

หมายเหตุ: คำนวณจากข้อมูลล่าสุดปี 2020ที่มา: ITC Trademap; คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

  • ไทยพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนสูงถึงร้อยละ 27.9 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และพึ่งพิงมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง (ภาพที่ 3) ซึ่งในภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันที่จีนเน้นเปลี่ยนแนวนโยบายมาพึ่งตนเอง และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศจีนเอง ก็จะยิ่งซ้ำเติมความเปราะบางของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย (รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 11.3 ต่อ GDP ในปี 2019) และเกี่ยวข้องกับแรงงานจำนวนมากกว่า 7.5 ล้านคน

ภาพที่ 3: จำนวนนักท่องเที่ยวจีนและสหรัฐฯ

ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา; คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

  • ประเทศไทยยังพึ่งพิงการลงทุนทางตรง (foreign direct investment: FDI) โดยเฉพาะการลงทุนจากสหรัฐฯ ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2020 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงในหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม ขณะที่การลงทุนทางตรงจากจีนก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.7 (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4: สัดส่วนการลงทุนทางตรงของจีนและสหรัฐฯ

หมายเหตุ: ข้อมูลปี 2019 และ 2020 ยังเป็นข้อมูลเบื้องต้น (preliminary data)ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย; คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะยิ่งรุดหน้าต่อไปในบริบทโลกใหม่ ได้ชี้ให้เห็นโอกาสในการพัฒนาเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็เป็นดาบสองคมที่หากธุรกิจไทยไม่เร่งพัฒนาตนเองและไม่สามารถคว้าโอกาสนี้ได้ ก็อาจตกรถไฟ เนื่องจากประเทศคู่แข่งย่อมไม่หยุดรอ ทั้งนี้ มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอยู่หลายมิติ แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่าง 2 ประเด็น ได้แก่

  • ความเปราะบางของโครงสร้างการส่งออกไทย โดยที่ผ่านมา การสร้างนวัตกรรมและกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติมายังธุรกิจไทยยังจำกัด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ที่ธุรกิจไทยมักจะเป็นผู้รับจ้างผลิตและไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยตรงมากนัก สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้ (domestic value added) ในอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย 5 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน (ภาพที่ 5) โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และเคมีภัณฑ์) และเทคโนโลยีขั้นกลาง (รถยนต์และชิ้นส่วน)

ภาพที่ 5: สัดส่วนมูลค่าเพิ่มที่สร้างได้ในประเทศ (domestic value added) ของการส่งออก 5 อุตสาหกรรมหลัก

หมายเหตุ: คำนวณจากข้อมูลล่าสุดปี 2019ที่มา: TiVA database; คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

  • ความเปราะบางของการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยเฉพาะในการซื้อสินค้าและบริการของคนไทยที่อยู่ในระดับสูงมาก สะท้อนจากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2020 ซึ่งพบว่า คนไทยใช้แพลตฟอร์มของไทยในสัดส่วนต่ำมาก หากเทียบกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ (ภาพที่ 6) เป็นสัญญาณให้ธุรกิจแพลตฟอร์มไทยต้องเร่งปรับตัวไม่ให้ตกรถไฟ

ภาพที่ 6: ช่องทางการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ของผู้บริโภคไทย

หมายเหตุ: คำถามจากแบบสำรวจข้อ 11.5 "ท่านซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ผ่านช่องทางใดบ้าง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)"ที่มา: รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2020 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาวะโลกร้อนเป็นภัยเงียบ และจะส่งผลใหญ่หลวงต่อไทยหากไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ โดยที่จริงแล้ว ภาวะโลกร้อนส่งผลหลายด้าน ทั้งภูมิอากาศ รูปแบบฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลต่อหลายภาคเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร อย่างไรก็ดี ตัวอย่างที่อาจยังไม่เคยกล่าวถึงกันมากนักคือ ความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทยที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น

ระดับน้ำทะเลคาดการณ์ในปี 2050 จาก Climate Central แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดโดยรอบ เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกน้ำท่วม (ภาพที่ 7) และจากการวิเคราะห์ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมปี 2017 พบว่า ในบริเวณดังกล่าวครอบคลุมมากกว่า 1 ใน 3 ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งประเทศ มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสถานประกอบการ และมากกว่าร้อยละ 10 ของธุรกิจในอุตสาหกรรมส่งออกหลัก ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องรับทราบและเตรียมตัวรับมือไว้ให้ทันการณ์

ภาพที่ 7: ระดับน้ำทะเลคาดการณ์ปี 2050 และที่ตั้งของสถานประกอบการที่มีการจ้างงานสูง

การเป นภ ม ภาคท ม การบ รณาการเข าก บเศรษฐก จ

การเป นภ ม ภาคท ม การบ รณาการเข าก บเศรษฐก จ

ที่มา: Climate Central และสำมะโนอุตสาหกรรม ปี 2017; คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

การเข้าสู่สังคมสูงอายุ

ในระยะเวลาเพียง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงวัยในระยะเริ่มต้น (aging society) เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในอนาคตข้างหน้าก็มีแนวโน้มก้าวไปสู่สังคมสูงวัยสุดขีด (hyper-aged society) ซึ่งจะมีจำนวนประชากรผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด การเข้าสู่สังคมสูงอายุดังกล่าวส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลายด้าน อาทิ ความเปราะบางของโครงสร้างแรงงานไทย จากข้อมูลผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวนเกือบ 10 ล้านคนในปี 2019 พบว่า สัดส่วนแรงงานอายุมากกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจากร้อยละ 3.4 ในปี 2002 มาสูงถึงร้อยละ 9.9 ในปี 2019 (ภาพที่ 8) และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม

ภาพที่ 8: พัฒนาการของจำนวนแรงงานในระบบแบ่งตามช่วงอายุ

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม; คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของแรงงานสูงอายุ อาจส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานลดลง เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวของแรงงานสูงวัยอาจต่ำว่าวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะทักษะที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

แผลเป็นที่วิกฤตโควิด 19 ทิ้งไว้กับประเทศไทย

วิกฤตโควิด 19 สร้างแผลเป็นหลายแห่งต่อเศรษฐกิจไทย ตัวอย่างสำคัญคือ ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทย โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รุนแรงขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ โดยจากข้อมูลเชิงสถิติรายไตรมาสของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (ภาพที่ 9) แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนไทยเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ และมีหนี้เสียกันเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังจากที่มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อระยะที่ 1 (ซึ่งมีการพักหนี้และหยุดสถานะการค้างชำระให้กับผู้กู้ทุกราย) ได้สิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 และโดยเฉพาะตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2020 เป็นต้นมา จะเห็นได้ชัดว่าจำนวนผู้กู้ที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้สูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และทำให้สัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียในไตรมาสที่ 2 ปี 2021 อยู่ที่ร้อยละ 18.9 และสูงที่สุดในรอบ 6 ปี

ภาพที่ 9: ปัญหาการชำระหนี้ของคนไทยที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด 19

ที่มา: ข้อมูลเชิงสถิติจากเครดิตบูโร; คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

ประเด็นสำคัญคือ วิกฤตครั้งนี้ได้ซ้ำเติมความเปราะบางของปัญหาหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้อายุน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีหนี้และหนี้เสียมากอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤต และได้สร้างรอยแผลเป็นต่อกลุ่มที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไปในอนาคต โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2020 เป็นต้นมา สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียเพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มผู้กู้อายุน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้กู้ที่มีหนี้ และมีหนี้เสียมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อยู่แล้ว (ภาพที่ 10)

ภาพที่ 10: สัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียรายช่วงอายุ ก่อนและหลังการสิ้นสุดของมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อระยะที่ 1

ที่มา: ข้อมูลเชิงสถิติจากเครดิตบูโร; คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับความเปราะบางทางสังคม

จากความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมด้วย megatrends สำคัญต่าง ๆ ข้างต้น นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น กล่าวคือ ทำให้ผู้ที่มีความเปราะบางอยู่แล้วยิ่งบอบช้ำ อาทิ ธุรกิจไทยที่เป็นผู้รับจ้างผลิตและไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยตรง ซึ่งนับวันเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ต้องอาศัยแรงงานสูงวัย การเริ่มมีหนี้เสียเป็นวงกว้างในกลุ่มผู้ที่มีหนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างระหว่างรุ่น (generation gap) ซึ่งเกิดจากค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฏในปัจจุบัน () เหล่านี้จึงเป็นส่วนผสมที่นำไปสู่ความเปราะบางสำคัญอีกประการหนึ่งของประเทศไทย นั่นคือ ความเปราะบางทางสังคม โดยเฉพาะในมิติของความขัดแย้งและไม่สมานฉันท์ในสังคมไทย

งานวิจัยต่างประเทศพบว่า ความสมานฉันท์ในสังคม (social cohesion) มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดย ศึกษาผลของความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในประเทศกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งเชิงทฤษฎีด้วยแบบจำลองการเติบโตของดุลยภาพทั่วไป (general equilibrium growth model) และเชิงประจักษ์ด้วยข้อมูลจาก 41 ประเทศ พบว่า ประเทศที่มีระดับความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันน้อย จะมีการลงทุนอยู่ในระดับต่ำและนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ ได้ศึกษาผลของความสมานฉันท์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเชิงประจักษ์ โดยใช้ข้อมูลติดตามจากหลายประเทศและแบ่งความสมานฉันท์ออกเป็นสองกลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ความสมานฉันท์ระหว่างคนในกลุ่มเดียวกันและความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่ม พบว่า ความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สำคัญไม่แพ้กัน และ ได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับความขัดแย้งทางสังคม โดยพบว่า สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง อาจจะมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นไปด้วย และมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมมาก หากเปรียบเทียบดัชนีความเหลื่อมล้ำกับระดับความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคม (trust) ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 39 ประเทศ จะพบความสัมพันธ์ทางลบระหว่างดัชนีความเหลื่อมล้ำและระดับความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคม กล่าวคือ ประเทศที่มีดัชนีความเหลื่อมล้ำสูง จะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในสังคมต่ำ (ภาพที่ 11)

ภาพที่ 11: ความสัมพันธ์ระหว่างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในสังคมกับดัชนีความเหลื่อมล้ำ

ที่มา: World Values Survey และ World Bank; คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

การสังเคราะห์งานวิจัยข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความสมานฉันท์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ ดูคล้ายจะเป็นวงจรสะท้อนกลับ (feedback loop) ซึ่งกันและกัน โดยสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอาจทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น ขณะที่ความแตกแยกและการขาดความสมานฉันท์ในสังคมก็เป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือกันของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบและมีฉันทามติในการออกแบบและดำเนินนโยบายสาธารณะร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงในระยะยาวเช่นกัน ดังนั้น นอกเหนือจากการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งดำเนินการแล้ว การแก้ไขปัญหาความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและความไม่สมานฉันท์อาจเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้

ความเปราะบางทางสังคมของไทย

พัฒนาการของความเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงต่อเนื่อง สะท้อนความสมานฉันท์ในสังคมที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงเวลา 1 ทศวรรษ โดยจากข้อมูล World Values Survey (WVS) ซึ่งเป็นข้อมูลสำรวจที่ดำเนินการสอบถามความคิดเห็นและค่านิยมของคนทั่วโลกทุก ๆ 5 ปี พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนความเชื่อใจกันของคนในสังคมลดลงหนึ่งในสี่ในช่วงเวลาเพียง 10 ปี (ภาพที่ 12) นอกจากนี้ ยังพบว่า ทัศนคติและค่านิยมของคนไทยเปลี่ยนแปลงจากความเป็นอนุรักษ์นิยมมาเป็นเสรีนิยมมากขึ้นโดยเฉลี่ยอีกด้วย (ภาพที่ 13)

ภาพที่ 12: คะแนนความไว้วางใจกันของคนในสังคมไทย (0–100)

ที่มา: World Values Survey; คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

ภาพที่ 13: ความคิดทางการเมืองของผู้ตอบแบบสอบถาม

ที่มา: World Values Survey รอบที่ 5–7; คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

เข้าใจความสมานฉันท์และความคิดต่างของสังคมไทยจากโครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ”

เพื่อให้ได้ภาพที่เป็นปัจจุบันของความสมานฉันท์ในสังคมไทยและการศึกษาเชิงลึกเพิ่มขึ้นในประเด็นความคิดต่าง ความแตกแยกที่อาจเกิดจากความคิดต่าง รวมไปถึงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความแตกแยกของสังคมไทย คณะผู้วิจัยจึงได้จัดทำแบบสอบถามภายใต้โครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” โดยมุ่งทำความเข้าใจใน 4 ประเด็นคำถามหลัก ได้แก่

  1. ความสมานฉันท์ในสังคมไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน?
  2. ลักษณะความคิดต่างในสังคมไทยเป็นอย่างไร?
  3. ความคิดต่างส่งผลให้เกิดความแตกแยกหรือไม่และอย่างไร? และ
  4. ปัจจัยสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับความแตกแยกของสังคมไทยมีอะไรบ้าง?

โครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ทำการสำรวจโดยใช้ช่องทางออนไลน์ และในระยะเริ่มต้น (Phase I) ซึ่งดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม–กันยายน 2021 ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 2,016 ราย จากกลุ่มอายุ พื้นที่ อาชีพ และรายได้ที่หลากหลาย โดยเมื่อพิจารณาการกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างจากการสำรวจใน Phase I เทียบกับการกระจายตัวของประชากร (ภาพที่ 14) พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 30–59 ปีเป็นสัดส่วนที่ใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรไทย ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และมีอาชีพเป็นข้าราชการและพนักงานเอกชน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงเมื่อเปรียบเทียบกับการกระจายตัวของประชากรไทยโดยทั่วไป ส่วนหนึ่งเพราะแบบสอบถามออนไลน์เข้าถึงคนบางกลุ่มได้ยากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มเปราะบางที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีออนไลน์ นอกจากนี้ เนื่องจากการส่งแบบสำรวจออนไลน์ไม่ได้มีการสำรวจแบบสุ่ม (probability sampling) ทำให้การแปลผลอาจมีข้อพึงระวัง เช่น กลุ่มตัวอย่างที่ได้อาจมีการคัดเลือกตัวเองมาแล้ว (self-selection) โดยอาจมีคนที่สนใจการเมือง หรือมีความเห็นชัดเจนทางการเมืองมากกว่าประชากรจริง ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่จะกล่าวถึงในส่วนต่อไปเป็นผลการศึกษาที่มาจากกลุ่มตัวอย่างนี้เท่านั้น

ภาพที่ 14: การกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างในแต่ละมิติ

ความสมานฉันท์ในสังคมไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน?

ความสมานฉันท์ของสังคม (social cohesion) เป็นด้านที่มีคะแนนต่ำที่สุดในบรรดามิติต่าง ๆ ของคุณภาพสังคมไทย สะท้อนจากข้อมูลสำรวจของโครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ใน Phase I ซึ่งอ้างอิงกรอบการวัดคุณภาพสังคมโดย อันได้แก่

  1. ความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม (social security) ซึ่งวัดความกินดีอยู่ดี
  2. ความเป็นสมาชิกในสังคม (social inclusion) ซึ่งแสดงถึงความเข้าถึงตลาดแรงงานและการศึกษา
  3. ความสมานฉันท์ (social cohesion) ซึ่งแสดงถึงความพอใจร่วมกันของคนในสังคม และ
  4. การเสริมสร้างพลังทางสังคม (social empowerment) ซึ่งวัดการมีตัวเลือก ความมีอิสระในการกำหนดเส้นทางชีวิต และความมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองของคนในสังคม (ภาพที่ 15)

ภาพที่ 15: มาตรวัดคุณภาพสังคมไทยทั้ง 4 มิติ

ทั้งนี้ พบข้อสังเกตที่น่าสนใจจากองค์ประกอบของดัชนีความสมานฉันท์ในสังคม อันได้แก่ ความเชื่อใจต่อคนในสังคม ความเชื่อมั่นในสถาบันต่าง ๆ และ ความสามัคคีกลมเกลียวของคนในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่จำแนกตามช่วงรายได้และช่วงอายุ ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีความ “เชื่อใจ” คนในสังคมในระดับต่ำกว่าความเชื่อใจคนในสังคมของกลุ่มผู้มีรายได้สูงอย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่ 16) โดยกลุ่มคนที่มีรายได้่ในควินไทล์ล่าง ๆ มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเชื่อใจคนในสังคมต่ำกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ในช่วงควินไทล์สูง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ดัชนีความเชื่อใจคนในสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับรายได้

ภาพที่ 16: องค์ประกอบดัชนีความสมานฉันท์ จำแนกตามช่วงรายได้

การเป นภ ม ภาคท ม การบ รณาการเข าก บเศรษฐก จ

  • กลุ่มคนอายุน้อยมีความเชื่อมั่นในสถาบันต่าง ๆ ของประเทศ ต่ำกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่ 17) โดยกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่าง ๆ ในสังคมต่ำกว่ากลุ่มคนอายุในช่วง 40–59 ปี และมากกว่า 60 ปี อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจสะท้อนช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับระบบโครงสร้างที่มีอยู่เดิม

ภาพที่ 17: องค์ประกอบดัชนีความสมานฉันท์ จำแนกตามช่วงอายุ

การเป นภ ม ภาคท ม การบ รณาการเข าก บเศรษฐก จ

ลักษณะความคิดต่างในสังคมไทยเป็นอย่างไร?

สำหรับการวัดความคิดต่าง โครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ทำการสำรวจโดยให้นิยามของทัศนคติและค่านิยมของคน 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มเสาวรส ซึ่งมีทัศนคติที่สำคัญคือ “คิดใหม่ ให้เท่าเทียม” โดยมักจะให้ความสำคัญกับค่านิยมหลัก ๆ เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความหลากหลาย ความเสมอภาค และความเท่าเทียม เป็นต้น และ
  2. กลุ่มกล้วยหอม ซึ่งมีทัศนคติที่สำคัญคือ “ของเดิมดี มีค่ารักษาไว้” โดยเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับค่านิยมหลัก ๆ เช่น ประเพณีนิยม ศีลธรรมอันดีงาม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความมั่นคงในชีวิต และการเคารพผู้อาวุโส เป็นต้น

คณะผู้วิจัยได้ขอให้ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนที่แสดงค่านิยมตรงกับของตนเองมากที่สุด และใช้ช่วงคะแนนตั้งแต่ 1–6 โดยหากตอบ 1 หมายความว่า ผู้ตอบแบบสอบถามนั้นมีค่านิยมที่สะท้อนไปในทางกลุ่มเสาวรสมากที่สุด ขณะที่หากตอบ 6 หมายความว่า ผู้ตอบแบบสอบถามนั้นมีค่านิยมที่สะท้อนไปทางกลุ่มกล้วยหอมมากที่สุด โดยจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสำรวจใน Phase I นี้ พบสัดส่วนของผู้ที่มีทัศนคติและค่านิยมตรงกับเสาวรสมากที่สุด (ภาพที่ 18)

ภาพที่ 18: จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามแบ่งตามทัศนคติและค่านิยม

หากพิจารณาภาพตัดขวางในกลุ่มตัวอย่างย่อยทั้งในมิติอายุ พื้นที่ อาชีพ และรายได้ จะพบการกระจายตัวของความคิดต่างที่หลากหลายในเกือบทุกกลุ่ม อย่างไรก็ดี อายุเป็นมิติที่มีการกระจายตัวของความคิดต่างที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่นชัดเจนมากที่สุด โดยกลุ่มคนอายุน้อย (น้อยกว่า 30 ปี) มีทัศนคติและค่านิยมค่อนไปทางเสาวรสมากกว่าร้อยละ 90 และสัดส่วนของกลุ่มทัศนคติและค่านิยมแบบเสาวรสก็ลดลงมาเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น (ภาพที่ 19)

ภาพที่ 19: การกระจายตัวของทัศนคติทางการเมืองในกลุ่มตัวอย่างตามอายุ พื้นที่ อาชีพ และรายได้

ความคิดต่างส่งผลให้เกิดความแตกแยกหรือไม่และอย่างไร?

ที่จริงแล้ว ความคิดต่างและความหลากหลายทางความคิด เป็นรากฐานของการสร้างสรรค์และพัฒนา ตลอดจนถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกไม่ดี และอคติต่อคน “คิดต่าง” ต่างหากที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกและเป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการร่วมมือกันของภาคส่วนต่าง ๆ ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้พยายามหาคำตอบว่าความคิดต่างของคนไทยนั้น เจือปนไปด้วยความรู้สึกไม่ดีหรืออคติที่นำไปสู่ความแตกแยกในสังคมจริงหรือไม่ โดยศึกษาความสัมพันธ์ของความคิดต่าง กับความรู้สึกไม่ดีต่อคนต่างความคิด (affective polarization) และ กับความมีอคติทางความคิดต่อคนคิดต่าง (errors in perception)

ความรู้สึกไม่ดีต่อคนต่างความคิด

การคิดต่างอาจเจือไปด้วยความรู้สึกไม่ดีต่อคนคิดต่าง คณะผู้วิจัยได้ออกแบบคำถามเพื่อวัดความรู้สึกต่อคนฝั่งตรงข้ามในหลาย ๆ มิติ เช่น ความไว้วางใจกัน ความรู้สึกไม่ชอบ ความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความเห็นอกเห็นใจกันที่จะช่วยเหลือหากเดือดร้อน และพบว่าคนทั้งสองกลุ่มต่างมีความรู้สึกไม่ดีต่อคนอีกฝั่งจริง สะท้อนจากคะแนนความไม่ชอบที่ค่อนข้างมาก และความเห็นอกเห็นใจจะช่วยเหลือในระดับต่ำ ภายใต้สถานการณ์สมมติที่ว่า "หากท่านเป็นทนายและรู้ว่าคนฝั่งตรงข้ามไม่มีความผิดท่านจะช่วยว่าความให้" (ภาพที่ 20)

ภาพที่ 20: องค์ประกอบของความรู้่สึกไม่ดีต่อคนต่างความคิด

หมายเหตุ: ภาพแสดงค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้สึกต่อฝั่งตรงข้ามตั้งแต่ 0 (ความรู้สึกด้านลบสูง) ถึง 100 (ความรู้สึกด้านบวกสูง)

ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศหลายงาน เช่น พบว่าคนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ที่รู้สึกไม่ไว้วางใจและไม่ชอบผู้ที่มีความคิดทางการเมืองที่ต่างกับตน มักพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมีกิจกรรมที่ต้องร่วมกับผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามน้อยลง และบางครั้งยังทำให้มีส่วนร่วมกับนโยบายภาครัฐน้อยลง เช่น การเข้าร่วมประกันสุขภาพ หากรัฐบาลเป็นพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามกับที่ตนสนับสนุน

ดังนั้น พอจะเห็นได้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย หากเราขาดทั้งความไว้วางใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้ออาทรต่อคนคิดต่าง หรือแม้แต่การยอมที่จะเปิดใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่คิดต่างจากเราในระดับปัจเจกบุคคลแล้ว การร่วมมือกันในระดับองค์กรหรือภาคส่วนที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าก็คงจะยิ่งเป็นเรื่องยาก

อคติทางความคิดต่อคนคิดต่าง

การคิดต่างอาจทำให้ยิ่งมองความต่างมากเกินจริง โดยคณะผู้วิจัยได้วัดความมีอคติและการเหมารวมต่อคนคิดต่าง ด้วยการถามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามต่อนโยบายหรือค่านิยมต่าง ๆ ตามด้วยคำถามว่า ผู้ตอบคิดว่าฝั่งตรงข้ามมีความเห็นต่อค่านิยมนั้น ๆ อย่างไร และพบว่า คนทั้งสองกลุ่มคิดว่าทั้งสองฝั่งมีความคิดต่าง (แท่งสีน้ำเงิน) มากกว่าความแตกต่างจริง (แท่งสีส้ม) ในเกือบทุกประเด็นคำถาม (ภาพที่ 21) มีเพียงคำถามเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาบริการขั้นพื้นฐานเท่านั้นที่ทั้งสองฝ่ายคิดว่าความแตกต่างทางความคิดนั้นน้อยกว่าที่เป็นจริง

ภาพที่ 21: เปรียบเทียบระหว่างความคิดต่างจริงกับความคิดต่างในความคิดของแต่ละฝ่าย

หมายเหตุ: จุดทึบสีส้ม (เหลือง) แสดงค่าเฉลี่ยของคำตอบของผู้ตอบคำถามฝั่งเสาวรส (กล้วยหอม) ต่อคำถามที่ว่า “คุณเห็นด้วยกับข้อความเหล่านี้มากน้อยเพียงใด” ขณะที่จุดโปร่งสีเหลือง (ส้ม) แสดงค่าเฉลี่ยของคำตอบของผู้ตอบคำถามฝั่งเสาวรส (กล้วยหอม) ต่อคำถามที่ว่า “คุณคิดว่าฝั่งกล้วยหอม (เสาวรส) เห็นด้วยกับข้อความเหล่านี้มากน้อยเพียงใด” แท่งน้ำเงินแสดงความต่างระหว่างจุดโปร่งทั้งสอง ซึ่งคือภาพความแตกต่างที่คนในสังคมคิด ขณะที่แท่งสีส้มแสดงความแตกต่างระหว่างจุดทึบทั้งสอง ซึ่งคือความแตกต่างจริงของคนสองกลุ่ม

ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับหลายงานวิจัยในต่างประเทศที่ผ่านมา เช่น และ ที่พบว่า คนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ คิดว่าคนที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามคิดต่างจากตนมากกว่าที่เป็นจริง

ความคิดของคนทั้งสองกลุ่มที่สะท้อนความคิดต่างที่เกินจริงนี้ ทำให้คนสองกลุ่มที่อาจมีความคิดคล้ายกัน ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้ เพราะ “ไม่ทราบ” ว่าที่จริงแล้วอีกฝ่ายก็คิดคล้ายกัน

กล่าวโดยสรุป จากมาตรวัดความแตกแยกทางสังคมข้างต้น อันได้แก่ ความรู้สึกไม่ดีต่อคนฝั่งตรงข้ามและการวัดอคติทางความคิดด้วยการเปรียบเทียบสิ่งที่คิดกับความเป็นจริง แสดงให้เห็นว่า ความคิดต่างในสังคมไทยเจือปนไปด้วยความเกลียดชังและอคติ ซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกและความขัดแย้งในสังคมดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

ปัจจัยสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับความแตกแยกของสังคมไทยมีอะไรบ้าง?

คณะผู้วิจัยได้ใช้วิธีการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติ (regression analysis) ในการตอบคำถามดังกล่าว โดยผลการศึกษาในภาพที่ 21 แสดงขนาดของค่าสัมประสิทธิของปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความแตกแยกทางสังคม โดยเมื่อควบคุมปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ได้แก่ พื้นที่ เพศ การศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อจำนวนสมาชิกในครัวเรือน พบว่ามี 5 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับความแตกแยกทางสังคม ได้แก่ ความสุดขั้ว (extremity) ความต่างวัย ความมั่นคงในชีวิต การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความหลากหลายของสื่อที่ติดตาม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ภาพที่ 22: ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ต่อความสุดขั้ว ความรู้สึกไม่ดีต่อคนคิดต่าง และความคิดว่าต่างมากเกินจริง

1. ความสุดขั้ว

ผลการศึกษาพบว่า ความสุดขั้วและความแตกแยกในสังคมมีความสัมพันธ์ทางสถิติ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีความสุดขั้วต่ำ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งใดก็ตาม ผู้ที่มีความสุดขั้วสูงมาก มีแนวโน้มที่จะมีความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้ามมากขึ้น นอกจากนี้ยังคิดว่าผู้ที่มีทัศนคติและค่านิยมฝั่งตรงข้าม คิดต่างจากตนเองมากกว่าความเป็นจริงเช่นกัน

2. ความต่างวัย

ผลการศึกษาพบว่า ความเกลียดชังและอคติต่อฝ่ายตรงข้ามต่างกันไปตามช่วงวัย สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างรุ่น โดยในกลุ่มคนอายุมากจะมีความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้ามมากกว่ากลุ่มคนอายุน้อย ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนอายุน้อยคิดว่าคนฝั่งตรงข้ามคิดต่างจากตนเองในระดับที่มากกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับกลุ่มคนอายุมาก และยังพบว่า กลุ่มคนอายุน้อยมีความสุดขั้วสูงกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่าอีกด้วย

3. ความมั่นคงในชีวิต

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ยิ่งมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ จะยิ่งพบความสุดขั้วที่สูงกว่า มีความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้ามที่มากกว่า และ มีอคติต่อความคิดต่างที่สูงกว่า โดยผลการศึกษาในส่วนนี้ก็สนับสนุนข้อสมมติฐานที่ว่า หากระบบเศรษฐกิจสามารถกระจายความมั่งคั่ง และพัฒนาแบบทั่วถึงเพื่อเพิ่มความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้ปัจเจกบุคคลโดยส่วนใหญ่ในประเทศได้ ก็อาจจะเข้ามาช่วยลดทอนความขัดแย้งทางสังคมได้ด้วย

4. การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

พฤติกรรมการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบข้าง ในครอบครัวและเพื่อนฝูงมีความสัมพันธ์ทางสถิติกับความสุดขั้วและความแตกแยกทางสังคม โดยผลการศึกษาพบว่า คนที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในครอบครัวและเพื่อนบ่อยครั้งกว่า มีความสุดขั้ว ความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้าม และอคติหรือการเหมารวมทางความคิดของคนคิดต่างที่น้อยกว่า

5. ความหลากหลายของสื่อที่ติดตาม

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่บริโภคสื่อที่เหมือน ๆ กับคนฝั่งเดียวกัน (echo chamber) ในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะมีความสุดขั้วสูงขึ้น มีความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้ามมากขึ้น และอคติของความแตกต่างที่คิดมากกว่าความแตกต่างจริงสูงขึ้น ในทางกลับกัน พบว่าผู้ที่บริโภคสื่อที่หลากหลายกว่า จะมีอคติต่อคนฝั่งตรงข้ามน้อยกว่า

สื่อแต่ละแห่งมีผู้ติดตามที่มีทัศนคติและค่านิยมแบบใด?

ในส่วนนี้ คณะผู้วิจัยวิเคราะห์โดยใช้ logistic regression analysis เพื่อหาความสัมพันธ์ทางสถิติว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ตอบว่าติดตามสื่อแต่ละแห่ง มีความเป็นไปได้ที่จะมีทัศนคติและค่านิยมอยู่ในกลุ่มใด โดยได้ผลการวิเคราะห์มาเรียงลำดับสื่อจากซ้ายไปขวา (ยกตัวอย่างเช่น ซ้ายมือสุดเป็นสื่อที่คนติดตามจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีค่านิยมอยู่ในกลุ่มเสาวรสมากกว่าความเป็นไปได้ที่จะมีค่านิยมอยู่ในกลุ่มกล้วยหอมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ) ทั้งนี้ สามารถแบ่งสื่อออกเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ สื่อที่กลุ่มเสาวรสติดตามมากกว่ากล้วยหอมอย่างมีนัยสำคัญ สื่อกลาง ๆ และสื่อที่กลุ่มกล้วยหอมติดตามมากกว่าเสาวรสอย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่ 23)

ภาพที่ 23: ผลการวิเคราะห์ความน่าจะเป็นว่ามีทัศนคติอยู่ในกลุ่มใดจากสื่อที่ติดตาม

หมายเหตุ: ตัวเลขแสดงค่า z-score ของค่า odd ratio จาก logistic regression ที่มีตัวแปรต้นเป็นตัวแปรชี้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามนั้น ๆ ติดตามแต่ละสื่อหรือไม่ และตัวแปรตามเป็นค่านิยมของผู้ตอบแบบสอบถามนั้น ๆ กล่าวคือ ผู้ตอบแบบสอบถามที่ติดตามสื่อที่มี z-score สูง มีความน่าจะเป็นที่จะมีค่านิยมในกลุ่มกล้วยหอมสูง ในทางกลับกัน ผู้ตอบแบบสอบถามที่ติดตามสื่อที่มี z-score ต่ำ มีความน่าจะเป็นที่จะมีค่านิยมในกลุ่มเสาวรสสูง

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้สร้างตัวแปรวัดพฤติกรรมการรับข่าวสารอีกสองตัว ได้แก่

  1. Echo chamber แสดงสัดส่วนของสื่อที่คนติดตาม โดยหากคะแนนมากแสดงว่าติดตามสื่อเหมือน ๆ กับคนฝั่งเดียวกันเป็นสัดส่วนมาก และ
  2. Media entropy แสดงความหลากหลายทางความคิดของสื่อที่ติดตาม โดยคะแนนยิ่งมากแสดงว่าติดตามสื่อที่มีความหลากหลายมาก (จากสื่อทั้งสามกลุ่ม)

คนคิดต่าง อาจไม่ได้ต่างอย่างที่คิด?

แม้ผลการศึกษาจากโครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ในระยะเริ่มต้น จะพบความขัดแย้ง ความรู้สึกไม่ดีต่อกัน และอคติระหว่างคนคิดต่างในสังคมไทยจริง ๆ แต่ผลการศึกษายังมีข้อค้นพบที่ว่า คนสองกลุ่มมีจุดร่วมกัน (common ground) ที่อาจมากกว่าคนทั่วไปคิด สะท้อนจากความเห็นที่ใกล้เคียงกันของกลุ่มเสาวรสและกล้วยหอมในบางประเด็นค่านิยมและความคิดเห็นเชิงนโยบาย () โดยจุดร่วมเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นว่า “คนคิดต่าง อาจไม่ได้ต่างอย่างที่คิด” ยกตัวอย่างเช่น

  • “ในการเลือกตั้ง คะแนนเสียงของทุกคนควรมีค่าเท่ากัน” ซึ่งทั้งสองกลุ่มค่อนไปทางเห็นด้วยมากที่สุดทั้งคู่
  • “หากไม่มีปัญหาการโกงกิน รัฐควรจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาบริการขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง” ซึ่งทั้งสองกลุ่มเห็นด้วย
  • “แม้ว่าท่านจะเห็นว่าคำสั่งของหัวหน้าผิดศีลธรรม ท่านก็จะยังทำตามคำสั่งนั้นเพราะเป็นหน้าที่ของท่าน” ซึ่งทั้งสองกลุ่มค่อนไปทางไม่เห็นด้วยเลยทั้งคู่

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ในสังคมไทย ความเชื่อใจกันระหว่างคนในครอบครัว กลุ่มเพื่อนสนิท และคนใกล้ชิด อยู่ในระดับสูง (ภาพที่ 24) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อค้นพบที่สถาบันครอบครัว และกลุ่มคนใกล้ชิดที่แข็งแรงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการลดความขัดแย้งในสังคมไทยได้

ภาพที่ 24: ความเชื่อใจกันระหว่างคนในครอบครัว กลุ่มเพื่อนสนิท และคนใกล้ชิด

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยที่มีอยู่เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง ลำพังการแก้ไขแต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างเดียวจะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างยั่งยืน หากไม่มีกุญแจสำคัญคือ การแก้ไขให้เกิด “ความสมานฉันท์ในสังคมไทย” เพราะถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ (prerequisite) สำหรับการวางแผนหาทางออกและแก้ไขความเปราะบางเหล่านี้ร่วมกันในทุก ๆ ภาคส่วน ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงขอทิ้งท้ายและฝากแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญ 4 ประการ ที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเราเองแต่ละคน และเนื่องจากทุกความขัดแย้งจบลงที่โต๊ะเจรจาเสมอ แม้ทำได้ยากแต่จำเป็นต้องทำในทางปฏิบัติ

  • “เปิดใจ” ที่จะมองเห็น เข้าใจมุมมองของคนคิดต่าง โดยเอาอคติหรือความรู้สึกไม่ดีใด ๆ ออกไปก่อน ไม่ว่าจะในระดับบุคคล องค์กร ภาครัฐหรือเอกชน เนื่องจากความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องธรรมชาติ ประเทศชาติจะพัฒนาไม่ได้ถ้าไม่อาศัยความคิดที่หลากหลายในสังคม แต่ความแตกต่างทางความคิดนั้นต้องไม่เจือปนด้วยอคติแบ่งเขาแบ่งเราไว้ก่อน มิเช่นนั้นประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้
  • “รับฟัง” หลังจากเปิดใจอย่างไม่มีอคติ เราก็รับฟัง ทั้งการรับฟังคนรอบข้าง คนคิดต่าง การรับฟังข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่หลากหลาย และไม่ใช่ที่เป็น echo chamber แต่เพียงอย่างเดียว จะทำให้เรามีข้อมูลรอบด้าน มุมมองที่กว้างขวางและครบถ้วนยิ่งขึ้น
  • “พูดคุย” หลังจากการเปิดใจและเริ่มรับฟังคนคิดต่าง การพูดคุยกันอย่างอารยชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันตามความเหมาะสม ให้เราเข้าใจความต้องการของคนคิดต่าง และคนแต่ละรุ่นมากขึ้น ซึ่งการพูดคุยมีทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และประเทศ

“ร่วมมือ” การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราหยุดแค่ที่การพูดคุย เราจะต้องมีความร่วมมือด้วย การลงมือทำระหว่างหลายภาคส่วน ทั้งระดับปัจเจกบุคคล และองค์กรต่าง ๆ เพื่อที่จะนำไปสู่ฉันทามติในการวางนโยบายที่เป็นรูปธรรม ปรับเปลี่ยนและแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง และทำให้เกิดการพัฒนาที่ทั่วถึงในที่สุด