การพ จารณาว สด คร ภ ณฑ ว.37 ม.ค.59

เผยแพร่: 3 ธ.ค. 2559 19:45 ปรับปรุง: 4 ธ.ค. 2559 00:14 โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“สมเด็จพระบรมฯ” ทรงรับขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แล้ว เพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยทั้งปวง!

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาวาระพิเศษ ที่จะส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้พิจารณา โดย สนช.นัดประชุมวาระพิเศษในเวลา 11.00 น.วันเดียวกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้เชิญสมาชิก คสช.เข้าร่วมประชุมด้วย รวมถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)

หลังประชุม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประชุม ครม.วาระพิเศษการตั้งพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ว่า การประชุมวาระพิเศษได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยได้มอบหมายให้เลขาธิการนายกฯ นำมติของวาระพิเศษส่งให้ สนช. ต่อมาได้มีการประชุม สนช.ที่รัฐสภา และมีการถ่ายทอดสดการประชุมวาระพิเศษผ่านสถานีโทรทัศน์รัฐสภาช่อง 10

ทั้งนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 29 พ.ย. เรื่อง แจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วตามกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 แจ้งว่า บัดนี้ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาท ตามกฏมณเฑียรบาลฯ ครม.จึงขอแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ แล้วให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อทราบ แล้วให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาท ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป โอกาสนี้ นายพรเพชรได้ขอให้สมาชิก สนช.ทุกคนยืนเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่ จากนั้นสมาชิก สนช.ได้พร้อมใจกันเปล่งเสียง “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” ก่อนจะสั่งปิดการประชุม

ต่อมา วันที่ 1 ธ.ค. เวลา 19.16 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช., พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท จากนั้น นายพรเพชรได้กราบบังคมทูลเชิญองค์รัชทายาท เสด็จขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตามกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 2 วรรคสอง ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ เพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง จากนั้นได้เสด็จฯ ไปประทับราบ ณ พระสุจหนี่ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงกราบถวายบังคม ทรงเปิดกรวยกระทงดอกไม้ ธูปเทียนแพ ทรงกราบราบ จากนั้น พล.อ.เปรม กล่าวถวายพระพรชัยมงคล

ต่อมา เวลา 22.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาทไว้ตามกฏมณเฑียรบาลฯ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2515 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ประชุมเพื่อรับทราบการแต่งตั้งพระรัชทายาทเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2559 และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 2 วรรคสอง ประกอบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.2559 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 1 ธ.ค.2559

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้แถลงให้ประชาชนทราบเช่นกันว่า บัดนี้ประเทศไทยมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่แล้ว และว่า สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัย โดยมีพระราชดำริแล้วว่า ควรดำเนินการเมื่อเสร็จสิ้นการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศแล้ว

ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า ทรงมีพระราชดำริว่า ในระหว่างที่ประชาชนยังมิได้ถวายพระปรมาภิไธย เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันจะพึงมีต่อไปตามพระราชประเพณี เป็นการสมควรที่จะเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นการชั่วคราว เพื่อความสะดวกในการเรียกขานพระนาม จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ประกาศ ณ วันที่ 1 ธ.ค. พ.ศ.2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ต่อมา เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งประธานองคมนตรี ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ประธานองคมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตําแหน่งประธานองคมนตรี ทรงมีพระราชดําริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งประธานองคมนตรี อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

2.ดีเอสไอ ขีดเส้น “ธัมมชโย” มอบตัวไม่เกิน 10 ธ.ค.- ขอกำลังตำรวจ 7 กองร้อยพร้อม ฮ.ด้านศิษย์ธรรมกายต่อรอง หากมอบตัวต้องได้ประกัน! ความคืบหน้ากรณีอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กับพวกรวม 5 คน ฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขีดเส้นให้พระธัมมชโยมอบตัวภายในสิ้นเดือน พ.ย.ในคดีที่ศาลจังหวัดสีคิ้ว จ.นครราชสีมา ออกหมายจับคดีสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ เขาใหญ่ บุกรุกป่า พร้อมเชื่อว่า พระธัมมชโยจะมอบตัว 100% ด้านดีเอสไอส่งสัญญาณเตรียมพร้อมหากต้องเข้าจับกุมพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกาย เพื่อนำตัวส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลตามที่ศาลอาญาได้ออกหมายจับก่อนหน้านี้คดีสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร โดยคดีมีอายุความ 15 ปี

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ยืนยันกับสื่อมวลชนท่ามกลางญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดว่า ศิษย์วัดพระธรรมกายไม่ได้มาวัดพระธรรมกายเพื่อสร้างกำแพงมนุษย์ หรือมีความพยายามจะข่มขู่เป็นคู่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือใครๆ ตามที่อาจจะมีผู้พยายามสร้างภาพหรือกล่าวหา และว่า ขอความเห็นใจ อย่าพยายามนำคณะศิษย์และวัดพระธรรมกายเข้าไปสู่ความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น ทุกคนมาวัดเพื่อปฏิบัติธรรม

ต่อมา วันที่ 28 พ.ย. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการดำเนินการกับพระธัมมชโยว่า หลังทราบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้ตนดูแลเรื่องนี้ จึงได้โทรศัพท์สอบถาม พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ และได้สั่งการให้หารือกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอัยการให้เรียบร้อย เพื่อให้วางแผนปฏิบัติการเข้าจับกุมร่วมกัน แต่ก็ได้บอกว่า ให้พูดคุยกับทางวัดพระธรรมกายให้เรียบร้อย พูดคุยกันให้เข้าใจ เพราะไม่อยากจะใช้มาตรการผิดปกติ

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ เผยในวันต่อมา(29 พ.ย.) ว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ได้ให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำหนังสือถึงผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์ ทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เพื่อให้ดำเนินการนำตัวพระธัมมชโยมามอบตัวกับพนักงานสอบสวน นอกจากนี้ยังได้ให้พนักงานสอบสวนเดินทางไปวัดพระธรรมกายเพื่อยื่นหนังสือถึงพระราชภาวนาจารย์ หรือพระเผด็จ ทัตตชีโว รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อสอบถามว่าพระธัมมชโยยังอยู่ในภายวัดหรือไม่ หากอยู่ ขอให้นำตัวออกมามอบตัวกับพนักงานสอบสวน หากพระราชภาวนาจารย์ไม่ดำเนินการ อาจเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ช่วยผู้กระทำผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษ หรือซ่อนเร้น ช่วยผู้ทำผิดไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท และเนื่องจากพระราชภาวนาจารย์รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ก็อาจเข้าข่ายผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(29 พ.ย.) พล.ต.ต.วรพงษ์ ทองไพบูลย์ รักษาการแทนผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำหมายจับพระธัมมชโยของศาลจังหวัดสีคิ้ว จ.นครราชสีมา ในคดีสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ เขาใหญ่ บุกรุกป่า ไปมอบให้ตัวแทนวัดพระธรรมกาย แต่ไม่มีใครออกมารับ จึงนำหมายจับติดไว้ที่หน้าประตู 7 ซึ่งอยู่ด้านหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ และภายหลังหมายจับดังกล่าวได้ถูกดึงออกไป ผู้สื่อข่าวสอบถามเจ้าหน้าที่ของวัดทราบว่า ทนายความของวัดพระธรรมกายได้นำหมายจับไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายหลังทางวัดอ้างว่า ไม่ทราบเรื่องเจ้าหน้าที่นำหมายจับมาติดที่หน้าประตูวัดแต่อย่างใด

ต่อมา(30 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการดำเนินการกับพระธัมมชโยว่า ต้องดูว่าเป็นคดีระหว่างใครกับใคร เพราะขณะนี้ดูเหมือนประชาชนทั้งประเทศและเจ้าหน้าที่จะถูกนำมาเป็นจำเลย ตนจะไม่ละเมิดใคร พระสงฆ์คือพระสงฆ์ แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย มีการถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปปฏิบัติ ขอชี้แจงว่า เมื่อเข้าไปแล้วมีแนวโน้มว่าจะเกิดการบาดเจ็บกระทบกระทั่ง ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะเมื่อเกิดการสูญเสียมาแล้ว ใครจะรับผิดชอบหากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องนี้ไม่ใช่ว่ากลัวหรืออะไรทั้งสิ้น แต่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ “ถามว่าอยากให้เกิดมั้ย ถ้าอยากให้เกิด เดี๋ยวไปวันนี้ ให้เวลาเขาสิ ต้องไปกดดันคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่ากดดันเจ้าหน้าที่ จะให้ตีกันตั้งแต่เข้าประตู สังคมยอมรับได้หรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่ก็ต้องดูเวลาที่เหมาะสมว่าจะเข้าไปตอนไหน...”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า ตนพร้อมดีเอสไอได้เข้าพบสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 30 พ.ย. เพื่อขอรับแนวทางการดำเนินการเรื่องพระธัมมชโย โดยสมเด็จฯ ให้แนวทางว่า ให้ พศ. รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีไปหารือกับรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หรือฝ่ายกฎหมายของวัด โดยให้สอบถามว่า ทางวัดจะทำอย่างไรถึงจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะขณะนี้ทางรัฐบาล ตำรวจ และดีเอสไอ ประกาศชัดเจน ขีดเส้นต้องดำเนินการให้ได้ จึงต้องพูดคุยให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย

วันต่อมา(2 ธ.ค.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า เมื่อคืนวันที่ 1 ธ.ค. ดีเอสไอ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประชุมหารือกัน เบื้องต้นให้ พศ.ดำเนินการกับพระธัมมชโยก่อน และดีเอสไอกำหนดเวลา จะดำเนินการกับพระธัมมชโยไม่เกินวันที่ 10 ธ.ค.นี้ โดยดีเอสไอได้ร้องขอกำลังสนับสนุนจากทางตำรวจประมาณ 6-7 กองร้อย ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล ตำรวจสื่อสาร หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด สุนัขตำรวจ และเฮลิคอปเตอร์ไว้เตรียมพร้อมปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง ส่วนแผนการดำเนินการจะทำอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับดีเอสไอ โดยตำรวจเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนกำลังตามที่ร้องขอมา

ทั้งนี้ ช่วงเย็นวันเดียวกัน(2 ธ.ค.) นายพิสิฐชัย สว่างวัฒนากร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ร่วมกับพระมหานพพร ปุญฺญชโย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรของวัดพระธรรมกาย ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกันหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ของวัด ประตู 7 ฝั่งถนนบางขันธ์หนองเสือ

โดยนายพิสิฐชัย เผยว่า หลังจากใช้เวลาเจรจา 4 ฝ่ายนานกว่า 3 ชั่วโมง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดพระธรรมกาย และพระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้ข้อสรุปว่า ทางวัดพระธรรมกาย ยื่นข้อเสนอ ถ้าพระธัมมชโยเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ให้หลักประกันได้แค่ไหนว่าจะได้ประกันตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบอกไปว่า การที่จะได้ประกันตัวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับศาลที่เป็นผู้ออกหมาย และจะนำเรื่องที่เจรจากันไปหารือกันอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนพระมหานพพร กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเจรจากันด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร คิดว่า คณะลูกศิษย์ต่างก็เข้าใจ และทางเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอ ก็คุยกันได้ด้วยดี และไม่ได้ไปเจอกับหลวงพ่อธัมมชโยแต่อย่างใด อยู่แค่โต๊ะเจรจาเท่านั้น

ด้านนายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักงานอัยการสูงสุด เผยหลังทราบว่า วัดพระธรรมกาย ยื่นข้อเสนอหากพระธัมมชโยเข้ามอบตัวจะต้องได้รับการประกันตัวว่า กรณีนี้ หากพระธัมมชโยมอบตัวจริง พนักงานสอบสวนดีเอสไอ มีหน้าที่เพียงนำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานอัยการตามหลักกฎหมายเท่านั้น ซึ่งการที่ผู้ต้องหามอบตัว คาดว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอจะไม่ค้านประกันตัว เนื่องจากเป็นการมอบตัว ไม่ได้จับกุม ส่วนจะให้ประกันตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอัยการและศาล

3.ศาลฎีกาพิพากษาแก้ จำคุก “สนธิ” 1 ปี แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี คดีหมิ่น “ภูมิธรรม” ! เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล กรรมการบริษัทไทยเดย์, นายพชร สมุทวณิช กรรมการบริษัทไทยเดย์, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน, นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ผู้จัดการ, นายสุวัฒน์ ทองธนากุล กรรมการบริษัทแมเนเจอร์, นายมรุชัช รัตนปรารมย์ กรรมการบริษัทแมเนเจอร์, นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ กรรมการบริษัทแมเนเจอร์, นายวิรัตน์ แสงทองคำ ผู้ดูแลเว็บไซต์ เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อที่ 25 พ.ย. 2548 นายสนธิ จำเลยที่ 5 และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ร่วมกันจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 10 ที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV มีเนื้อหาหมิ่นประมาทโจทก์ทำนองว่า เป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่เคารพสถาบันกษัตริย์และระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการจัดทำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง และยังมีการบันทึกเป็นวีซีดีออกเผยแพร่ รวมทั้งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับเสาร์-อาทิตย์ 26-27 และ 28 พ.ย. 2548 และเว็บไซต์ผู้จัดการ

ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2550 ให้จำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยการเผยแพร่วีซีดีและดีวีดีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ พิพากษาให้ปรับเงิน 200,000 บาท และให้ทำลายวีซีดี-ดีวีดีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ครั้งที่ 10 และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันที่ 26-27 และ 28 พ.ย. 2548 รวมทั้งให้โฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเป็นเวลา 3 วัน โดยให้จำเลยที่ 1 และ 5 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด สำหรับจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง

ต่อมา นายภูมิธรรม โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2-4 และ 6-10 ด้วย ส่วนบริษัท ไทยเดย์ จำเลยที่ 1 และนายสนธิ จำเลยที่ 5 ยื่นอุทธรณ์ว่าการจัดรายการของจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาใส่ร้ายโจทก์

ซึ่งศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้การจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 10 ของจำเลยที่ 5 กับ น.ส.สโรชา เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2548 จะเป็นข้อความลักษณะการตั้งคำถามของจำเลยที่ 5 ว่าโจทก์ยังคงฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ แต่ก็ไม่ได้ต้องการคำตอบ เพราะข้อความหลังจากนั้นจำเลยที่ 5 กล่าวลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงในคำถามนั้นว่าหากโจทก์จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเชื่อในระบอบประชาธิปไตย คงไม่เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่แรก และยังกล่าวว่า โจทก์เห็นช่องทางว่าพรรคไทยรักไทยมีอำนาจคุมการเมือง ก็เข้ามาร่วมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของโจทก์ตั้งแต่ในวัยหนุ่มในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยโจทก์เคยได้รับมอบหมายจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นให้เดินทางไปประเทศจีนเพื่อศึกษาการตั้งพรรคที่มีแนวคิดแบบพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อมาดูแลจัดการพรรคและโจทก์เป็นพวกเหมาอิสม์ หรือพวกนิยมลัทธิเหมา เจ๋อตง รวมทั้งจำเลยที่ 5 ยังกล่าวหาว่าโจทก์มีส่วนให้การสนับสนุนเว็บไซต์ manusaya.com ซึ่งจัดตั้งขึ้นในประเทศสวีเดน ที่ลงข้อความโจมตีสถาบันเบื้องสูงเป็นเวลานานหลายเดือน

นอกจากนี้ โจทก์มี พ.ต.ท.ญาณพล ยั่งยืน รองผู้บังคับการศูนย์ข้อมูล ข้อสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เบิกความยืนยันว่า เว็บไซต์ manusaya.com จัดตั้งโดยใช้เซิร์ฟเวอร์ผู้ให้บริการของประเทศแคนาดาโดยมีนายอับดุลเล๊าะห์ เจ๊ะยะ ที่เดิมสัญชาติไทยก่อนเปลี่ยนไปใช้สัญชาติสวีเดน ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นเครือข่ายผู้ก่อการร้ายกลุ่มกองโจรพูโล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ในทางนำสืบของจำเลยที่ 5 ไม่ได้กล่าวถึงแนวคิดของโจทก์ต่อการแบ่งแยกดินแดนตามวัตถุประสงค์ของเครือข่ายดังกล่าว ดังนั้น ข้อความที่จำเลยกล่าวอ้างถึงโจทก์จึงเป็นการจงใจทำให้ประชาชนที่รับชมรับฟังและอ่านข้อความจากหนังสือพิมพ์เข้าใจผิด

ส่วนที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะและเคยกล่าวหาจำเลยที่ 5 ทำลายประชาธิปไตย และดึงสถาบันเบื้องสูงมาเกลือกกลั้วกับการเมือง จำเลยที่ 5 จึงมีสิทธิตอบโต้ด้วยการตั้งคำถามถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูงของโจทก์ ศาลเห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นบุคคลสาธารณะและสามารถกล่าวถึงปูมหลัง แต่การกล่าวถึงต้องเป็นการนำข้อเท็จจริงมาแสดงความคิดเห็น ดังนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการติชมด้วยความสุจริตและเป็นธรรม หรือให้คำแนะนำต่อตัวโจทก์ตามที่อุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าในฐานะสื่อมวลชน ย่อมทำให้ประชาชนเชื่อในข้อความดังกล่าว จำเลยที่ 5 จึงต้องมีความระมัดระวังตามสมควรเพื่อไม่ให้บุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้รับความเสียหาย

ศาลอุทธรณ์จึงห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 5 มีความผิดนั้น ชอบแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 5 ตามมาตรา 326 ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วย ทั้งที่พิพากษาโทษตามมาตรา 328 ฐานหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยสิ่งบันทึกเสียง และภาพ และสื่อสิ่งพิมพ์ไปแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่ารุนแรงเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ เพราะเมื่อลงโทษจำเลยที่ 5 ตามมาตรา 328 แล้วก็ไม่จำต้องพิจารณาโทษตามมาตรา 326 อีก จึงพิพากษาแก้โทษนายสนธิ จำเลยที่ 5 เป็นจำคุก 6 เดือน ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ให้ลงโทษจำเลยอื่นนั้นฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ปรับบริษัท ไทยเดย์ฯ จำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยอื่น

ต่อมาโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยอื่นด้วย ขณะที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้พิพากษาลดโทษปรับ และจำเลยที่ 5 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ

ด้านศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 6 เดือนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่เหมาะสม จึงกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมกับคดี ส่วนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 5 กระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการที่โจทก์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 5 กับพวกร่วมกันหมิ่นสถาบันเบื้องสูงและใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านรัฐบาล ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุอันควรรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 5 เพื่อให้โอกาสกลับตัวต่อไป และเพื่อให้หลาบจำจึงให้ลงโทษปรับด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 5 ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ศาลเห็นว่าฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 5 ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

4.รวบ 3 ผู้ต้องหาวางแผนบึ้ม กทม.-ปริมณฑลแล้ว พบเป็นชาวนราธิวาส เคยก่อเหตุไม่สงบใน 3 จังหวัดใต้ เตรียมขยายผลจับเพิ่ม! เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา รักษาการรอง ผบช.ภ.1, พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รักษาการ ผบก.ส.4, พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง รักษาการ ผบก.ป. และกำลังคอมมานโด กองปราบฯ ได้ควบคุมตัวนายตาลมีซี โต๊ะตาหยง อายุ 31 ปี, นายอับดุลาซิร สือกะจิ อายุ 19 ปี และนายมูบารีห์ กะนะ อายุ 23 ปี ชาว จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้มีไว้ใช้ในครอบครอง, อั้งยี่, ซ่องโจร มาส่งให้พนักงานสอบสวน กองปราบฯ สอบปากคำ หลังพบว่าเตรียมการก่อเหตุคาร์บอมบ์ 17 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หลังสอบปากคำ ได้มีการนำตัวผู้ต้องหาไปชี้จุดประกอบคำรับสารภาพที่หอพักเลขที่ 4/226 ห้อง 207 ชั้น 2 บริเวณเคหะชุมชนเมืองใหม่บางพลี หมู่ 16 ต.บางเสาธง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และหอพักภายใน ซ.รามคำแหง 53 แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กทม. ซึ่งผู้ต้องหารับสารภาพว่านำอุปกรณ์ประกอบระเบิดไปเก็บไว้ที่ห้องพักดังกล่าว

รายงานแจ้งว่า กลุ่มผู้ต้องหาคดีดังกล่าวมี 9 ราย มักจะเดินทางมาพักในกรุงเทพฯ และปริมณฑลระยะสั้นๆ เพียง 10 วัน โดยจะทำทีสมัครงานบริษัทใหญ่ๆ แล้วลาออกไป ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตามที่ถูกกล่าวหา โดยรับว่าเคยก่อเหตุไม่สงบในภาคใต้ด้วย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบสารระเบิดทีเอ็นทีปนเปื้อนที่มือผู้ต้องหารายหนึ่งด้วย

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีการข่าวว่าจะมีกลุ่มคนร้ายร่วมกันวาง และก่อเหตุไม่สงบในพื้นที่เสี่ยง อาทิ สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งชุมชน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มคนร้ายวางแผนกันอย่างเป็นระบบ มีการแบ่งหน้าที่กันทำและปกปิดวิธีการดำเนินการ โดยนายตาลมีซี นายอับดุลาซิร และนายมูบารีห์ ทั้ง 3 คนอยู่ในระดับผู้ปฏิบัติการ ร่วมกันวางแผนที่จะก่อเหตุในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เหตุเกิดที่ห้องพักหลังมัสยิดยามีอุลอิสลาม ซ.รามคำแหง 53 เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร, อาคารเลขที่ 4/226 ห้องพักเลขที่ 207 ตำบลและอำเภอบางเสาธง จ.สมุทรปราการ และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ระหว่างเดือน ก.ย. ถึงวันที่ 17 ต.ค. 2559 โดยทั้ง 3 สถานที่มีความเกี่ยวพันกัน "ต่อมา ทั้ง 3 คน ถูกควบคุมตัวโดยฝ่ายทหาร ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ค่ายอิงคยุทธบริการ จ.ปัตตานี และได้รับการปล่อยตัวที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 29 พ.ย.2559 เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้แสดงหมายจับ และแจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย"

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสอบสวนหาสาเหตุที่กลุ่มผู้ต้องหาจะเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และว่า จากการสอบปากคำ ผู้ต้องหาบางส่วนให้การรับสารภาพ บางส่วนให้การภาคเสธ ทั้งนี้ ผู้ต้องหาบางรายยอมรับว่าเคยก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังร่วมอยู่ในเหตุการณ์ยิงครูเมื่อปี 2555 และเหตุระเบิดศรีสาคร ปี 2558 จึงได้สั่งการให้ ศชต. ขยายผลแล้ว พร้อมเชื่อว่า การให้การที่เป็นประโยชน์ของผู้ต้องหา จะทำให้สามารถขอหมายจับผู้ก่อเหตุระดับปฏิบัติการกึ่งแกนนำที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการวางแผนก่อเหตุของกลุ่มผู้ต้องหาในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ ต้องขอสอบสวนก่อน

5.ศาลสอบคำให้การจำเลยคดี “เจนภพ” ซิ่งเบนซ์ชนฟอร์ด ดับ 2 ศพ เจ้าตัวสารภาพแค่ข้อหาเดียวขับรถประมาท ปฏิเสธ 6 ข้อหา! ความคืบหน้ากรณีนายเจนภพ วีรพร ขับรถยนต์เบนซ์พุ่งชนท้ายรถยนต์ฟอร์ด ทำให้เพลิงไหม้รถฟอร์ด ส่งผลให้นายกฤษณะ ถาวร อายุ 32 ปี และ น.ส.ธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย อายุ 34 ปี ถูกไฟคลอกเสียชีวิตคารถ ซึ่งทั้งคู่เป็นนิสิตปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เหตุเกิดบนถนนพหลโยธิน กม.53 หมู่ 8 ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้นัดตรวจพยานเอกสารและกำหนดวันนัดสืบพยาน โดยนายเจนภพ จำเลย เดินทางมาศาลพร้อมครอบครัวและทนายความ ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตทั้งสองได้เดินทางมาศาลพร้อมทนายความเช่นกัน โดยศาลจะสอบถามจำเลยด้วยว่า จะรับสารภาพหรือปฏิเสธ หลังถูกฟ้องใน 7 ข้อหา

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเสร็จสิ้นการตรวจสอบเอกสารประกอบคำฟ้อง นายเจนภพพร้อมครอบครัวและทนายความได้เดินลงจากศาลด้วยสีหน้าวิตกกังวล จากนั้นได้เดินทางกลับโดยปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว

ด้านนางกมลรัตน์ ฮ้อแสงชัย อายุ 59 ปี มารดาของ น.ส.ธันฐภัทร์ หนึ่งในผู้เสียชีวิต พร้อมนายวิเชียร ชุปไธสง ทนายความ เผยว่า ทางนายเจนภพรับสารภาพเพียงข้อหาเดียว คือขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนอีก 6 ข้อหาให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดตรวจสอบเอกสารประกอบคำฟ้องอีกครั้งในวันที่ 2 ธ.ค. นางกมลรัตน์ เผยด้วยว่า ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงิน 100,635,503 บาท