การเปล ยนทางการเม องในย ค ค ม จ อง อ น

จักรกริช สังขมณี เรื่องและภาพ

ในตอนที่แล้ว ผมได้ชวนผู้อ่านย้อนรอยผ่านภาพยนตร์ เพื่อร่วมรำลึกในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่ควังจู หรือที่เป็นที่รู้จักกันในนาม เหตุการณ์ 18 พฤษภาคม 1980 ผมได้ชี้ให้เห็นว่า การขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีช็อนดูฮวันนั้นเกิดขึ้นและดำเนินไปโดยขาดความชอบธรรม

อำนาจที่ขาดความชอบธรรมนั้นเป็นอำนาจที่เปราะบาง และต้องอาศัยความพยายามอย่างมากในการรักษาไว้ซึ่งสถานะทางการเมืองของตน จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งช็อนดูฮวันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น จะเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการปรับเปลี่ยนสถาบันทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการรักษาและสืบทอดอำนาจ ตลอดจนการโฆษณาชวนเชื่อ การควบคุมจัดการทางความคิด ควบคุมสื่อมวลชน และการแสดงออกทางการเมือง รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงจัดการผู้เห็นต่าง และปราบปรามการชุมนุมต่อต้านที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอ

แม้ว่าเหตุการณ์ที่ควังจูจะเป็นเหมือนประวัติศาสตร์ของความพ่ายแพ้ของประชาชนในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ แต่มันก็เป็นจุดเปลี่ยน หรือแรงกระตุ้นที่สำคัญของการเกิดจิตสำนึกร่วมในการเรียกร้องอำนาจของประชาชนที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเกาหลีใต้ ความเจ็บปวดและความขมขื่นจากการถูกกระทำโดยอำนาจรัฐจากเหตุการณ์ที่ควังจู ได้กลายมาเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญที่ผลักดันให้ขบวนการประชาชนในเกาหลีใต้ต่อสู้จนได้มาซึ่งสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลมาจากการลุกฮือครั้งสำคัญของประชาชนในเดือนมิถุนายน 1987

ความเปราะบางของอำนาจเผด็จการ

หลังการล้อมปราบอย่างโหดเหี้ยมที่ควังจูในเดือนพฤษภาคม 1980 ช็อนดูฮวันยึดอำนาจและกดดันให้ประธานาธิบดีชเวคูฮาลงจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ในวันที่ 1 กันยายน ช็อนดูฮวันขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จากการลงคะแนนของคณะกรรมการเลือกประธานาธิบดีซึ่งตั้งขึ้นโดยช็อนดูฮวันเอง

ภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่ง ช็อนดูฮวันก็เริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเข้ามาจัดการสถานการณ์บ้านเมือง และการไม่ต้องการสืบต่ออำนาจของตนเอง ช็อนดูฮวันเสนอให้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเป็นเวลา 7 ปี อย่างไรก็ตาม ในแง่ที่มาของประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญยังคงรูปแบบของการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางอ้อมผ่านคณะผู้ลงคะแนนเสียง ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากรัฐธรรมนูญฉบับยูชินของประธานาธิดีพัคจองฮี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1981 ช็อนดูฮวันลงเลือกตั้งภายใต้พรรค “ยุติธรรมประชาธิปไตย” (Democratic Justice Party) ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาใหม่ แน่นอนว่า เขาได้รับการ “เลือกตั้ง” ให้เป็นประธานาธิบดีในครั้งนั้น โดยคณะผู้ลงคะแนนเสียงซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญที่เขาร่างขึ้นมานั่นเอง

ตลอดช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งของช็อนดูฮวัน มีข้อกังขาและความไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นมากมาย และยังไม่รวมถึงความโกรธแค้นจากกรณีควังจูซึ่งยังคงคุกรุ่นอยู่ในสังคม อำนาจที่เปราะบางของช็อนดูฮวันนั้นวางอยู่บนการใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดผู้เห็นต่าง มีการจับกุมสื่อมวลชนและนักศึกษาผู้ต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง พัคจงชอล นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่ถูกจับกุมและซ้อมทรมาน จนนำไปสู่การเสียชีวิตในระหว่างการสอบสวนอย่างโหดร้ายทารุณในเดือนมกราคม 1987

ประชาชนและพรรคฝ่ายค้านซึ่งหวาดระแวงต่อการสืบทอดอำนาจของช็อนดูฮวันพยายามผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงจากการลงคะแนนเสียงของประชาชน มีประชาชนลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกว่า 10 ล้านคน ในช่วงก่อนกลางปี 1986 คณะกรรมการพิเศษเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การเจรจาหาข้อสรุประหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลของช็อนดูฮวันกับพรรคฝ่ายค้านดำเนินไปอย่างล่าช้า การปฏิรูปแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่คืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อระยะเวลา 7 ปีของการดำรงตำแหน่งใกล้หมดลง ในเดือนเมษายน 1987 ช็อนดูฮวันประกาศว่าเขาจะระงับการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ก่อน เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นไม่ทันการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งวางแผนจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีนั้น และให้การเลือกตั้งดำเนินไปในรูปแบบเดิมโดยคณะผู้ลงคะแนนเสียงตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน นอกจากนี้ เขายังได้ประกาศให้นายพลโนแทอู เพื่อนนายทหารคนสนิท ผู้มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ที่ควังจู เป็นผู้นำพรรคยุติธรรมประชาธิปไตยของเขาในการลงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่จะถึงด้วย การออกมาแสดงจุดยืนดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า ช็อนดูฮวันได้ใช้กลยุทธ์ทางการเมือง ในการปิดประตูการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตย และต้องการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารของเขา ผ่านการเลือกตั้งทางอ้อมในระบบรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง

ความโกรธเคืองเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ เพราะสัญญาที่ช็อนดูฮวันให้ไว้ว่าจะมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้งทางตรงอย่างเสรีนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง ผู้คนจากหลากหลายอาชีพและตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา พนักงานออฟฟิศ นักวิชาการ นักกฎหมาย สื่อมวลชน ศิลปิน แรงงาน และผู้นำศาสนา ได้ออกมารวมตัวแสดงความไม่พอใจ ในเดือนถัดมา

ความไม่พอใจดังกล่าวได้รับการตอกย้ำมากขึ้นไปอีก จากวาระครบรอบการรำลึกถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 1980 ในการรวมตัวของนักศึกษาและประชาชนที่โบสถ์คาทอลิกที่มย็องดงใจกลางกรุงโซล ได้มีการเปิดเผยผลชันสูตรการเสียชีวิตของพัคจงชอล ว่าเกิดจากทรมานโดยวิธีการกรอกน้ำจนเสียชีวิตที่นัมยองดง ความอึดอัดคับข้องใจต่อการใช้อำนาจอย่างไร้ความชอบธรรมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนี้ นำไปสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ทั่วประเทศในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา

เมื่อวันนั้นมาถึง

การประท้วงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ในวันที่ 9 มิถุนายน 1987 นักศึกษาร่วมกับเครือข่ายขบวนการประชาชนอื่นๆ รวมตัวกันประท้วงใหญ่หลายจุดในกรุงโซล ในช่วงเวลาประมาณ 5 โมงเย็น อิฮันยอล (이한열) นักศึกษาเอกบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยยอนเซ ถูกระเบิดแก๊สน้ำตายิงเข้าที่ด้านหลังศีรษะอย่างจัง ท่ามกลางสายตาของเหล่าผู้ชุมนุมหลายร้อยคน ในขณะเขาที่กำลังร่วมชุมนุมอยู่หน้ามหาวิทยาลัยยอนเซ

ภาพถ่ายวินาทีที่เลือดของอิฮันยอลกำลังไหลลงมาจากศีรษะ ในขณะที่ตัวของเขากำลังล้มพับลง โดยมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์กำลังประคองตัวเขาอยู่นั้น ได้รับการบันทึกโดยผู้สื่อข่าวจองแทวอนและถูกเผยแพร่ออกไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ในวันถัดมา เพียงชั่วข้ามคืน ศิลปินชเวบองซูได้นำภาพดังกล่าวมาแกะเป็นภาพพิมพ์สลักไม้ พร้อมกับสโลแกน “เอาฮันยอลกลับมา!” (한열이를 살려내라!; Save Han-yeol!) และแจกจ่ายออกไปอย่างกว้างขวางในช่วงของการชุมนุมในวันถัดๆ มา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ June Democratic Struggle (6월 민주항쟁)

ภาพการต่อสู้ของอิฮันยอลและวินาทีที่เขาถูกทำร้ายปางตายจากการสลายการชุมนุม ได้กลายมาเป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญของเกาหลีใต้จนถึงทุกวันนี้

สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ จากเหตุการณ์ June Struggle 1987

สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ จากเหตุการณ์ June Struggle 1987

สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ จากเหตุการณ์ June Struggle 1987

อิฮันยอลไม่ได้สติอีกเลยหลังจากถูกนำส่งโรงพยาบาล หลังจากร่างกายของเขาถูกประคับประคองด้วยเครื่องช่วยชีวิตในโรงพยาบาลยอนเซอยู่เกือบหนึ่งเดือน อิฮันยอลก็ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 5 กรกฎาคม และในวันที่ 9 เดือนเดียวกันนั้น ศพของเขาถูกแห่จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยยอนเซไปทั่วกรุงโซล มีประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเข้าร่วมงานศพของเขากว่า 1 ล้าน 6 แสนคน ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับกองกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4,000 นาย ที่ถูกสั่งให้มาประจำการที่หน้ามหาวิทยาลัยยอนเซ เพื่อควบคุมการชุมนุมและยึดเอาศพของอิฮันยอลออกมาจากประชาชน

บทเรียนจากกรณีควังจู ที่เริ่มต้นจากการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเพียงไม่กี่ราย จากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุม ได้กลับมาย้ำเตือนและส่งสัญญาณว่าบทเรียนเหล่านี้ควรจะถูกจดจำและไม่ถูกทำให้เกิดขึ้นอีก ดูเหมือนหน่วยงานตำรวจของกรุงโซลจะตระหนักดีถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นลูกคลื่นต่อไป ผู้บัญชาการตำรวจกรุงโซลจึงได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของอิฮันยอล และแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แถลงการณ์ที่ว่านี้แตกต่างจากวาทกรรมที่ตำรวจมักใช้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมุ่งประณามผู้เข้าร่วมชุมนุมว่าเป็นพวกก่อความวุ่นวายและขัดต่อกฎหมายความมั่นคง แถลงการณ์และการออกมาขอโทษของผู้บัญชาการตำรวจกรุงโซลจึงแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด ถึงความหวาดกลัวของหน่วยงานตำรวจต่อผลบานปลายที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว

เป็นไปตามที่คาดหมาย การตายของอิฮันยอลได้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจอย่างรุนแรง และผลักดันให้ประชาชนกว่า 5 ล้านคนออกมาขับไล่รัฐบาลเผด็จการ แรงกดดันของการชุมนุมอย่างกว้างขวางและเต็มไปด้วยความโกรธเคืองเป็นเวลาร่วมสามสัปดาห์ นำไปสู่การที่โนแทอูตัดสินใจกลับลำ สวนความต้องการของช็อนดูฮวันก่อนหน้านี้ โดยการออกมาประกาศในวันที่ 29 กรกฎาคม ว่ายินดีที่จะยอมรับข้อเสนอของฝ่ายค้านและประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปการเลือกตั้งประธานาธิบดีให้เป็นไปอย่างเสรีและมาจากเจตจำนงของประชาชนโดยตรง

การกลับลำทางยุทธศาสตร์ในเกมการเมืองของโนแทอู และแรงกดดันจากจากการชุมนุมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่กี่วันให้หลัง ประธานาธิบดีช็อนดูฮวันตัดสินใจเดินตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในตอนที่เข้ารับตำแหน่ง โดยยอมให้คณะกรรมการปฏิรูปรัฐธรรมกลับมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยการลงคะแนนจากประชาชนโดยตรง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนธันวาคม 1987

จนถึงวันนี้ เสื้อและกางเกงยีนส์ที่เปื้อนไปด้วยรอยเลือด และร่องรอยของการต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด ตลอดจนรองเท้าที่เหลือติดตัวอยู่เพียงข้างเดียว และแว่นตาที่แตกหักของอิฮันยอล ยังคงได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี และจัดแสดงอยู่ที่ Lee Han-yeol Memorial Museum พิพิธภัณฑ์เล็กๆ แถวซินโชน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยยอนเซอันเป็นที่รักของเขา ส่วนร่างไร้วิญญาณของอิฮันยอลนั้น ได้รับการนำกลับไปฝังไว้ที่สุสานแห่งชาติ 18 พฤษภาคม ที่เมืองควังจูบ้านเกิดของเขา ร่วมกับเหล่าบรรพชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1980

เสื้อผ้าของใช้ของอิฮันยอล ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ Lee Han-yeol Memorial Museum

ในปี 2017 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 30 ปี การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายน 1987 เหตุการณ์การเสียชีวิตของอิฮันยอลได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ในชื่อ 1987 When the day comes เมื่อออกฉาย ภาพยนตร์มีผู้เข้าชมร่วม 10 ล้านคน และก่อให้เกิดกระแสความสนใจที่จะรื้อฟื้นการศึกษาประวัติศาสตร์อีกครั้งในแวดวงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจบทบาทของขบวนการนักศึกษาและประชาชน

ความสำเร็จของภาพยนตร์ที่ฉายภาพของอิฮันยอลในฐานะคนหนุ่มผู้มีความรัก ความฝัน และอนาคตที่สดใส พร้อมกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นต่อเขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ตลอดจนความสนใจของสาธารณชนที่มากขึ้น สามารถขยับขยายความประทับใจต่อเรื่องราวที่ภาพยนตร์นำเสนอ มาสู่การค้นคว้าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในมหาวิทยาลัยยอนเซ

โปสเตอร์ภาพยนตร์ 1987 When the Day Comes (2017)

โปสเตอร์ภาพยนตร์ 1987 When the Day Comes (2017)

เป็นเวลาหลายปีต่อเนื่อง ที่สมาคมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ตลอดจนนักศึกษาปัจจุบัน ได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อให้มหาวิทยาลัยยกย่องเชิดชูอิฮันยอลอย่างเป็นทางการ จัดทำอนุสรณ์สถาน ตลอดจนจัดตั้งมูลนิธิในการดูแลจัดการ เพื่อให้มีกิจกรรมและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาในการผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย ภายหลังที่ภาพยนตร์ออกฉาย สภามหาวิทยาลัยได้ลงมติอนุมัติการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นอย่างเป็นทางการ และให้มีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่ว่านี้ในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

ที่มหาวิทยาลัยยอนเซในวันนี้ บนเนินเขาไม่ไกลจากอาคารกิจกรรมนักศึกษา (student union) มีอนุสรณ์สถานหินสลักตัวเลข “198769757922” ตั้งอยู่ ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงปี (1987) และวันที่ที่อิฮันยอลโดนยิง (June 9) เดือนและวันที่ที่เขาเสียชีวิต (July 5) เดือนและวันที่ที่จัดพิธีศพ (July 9) และอายุในวันที่เขาเสียชีวิต (22) หินอนุสรณ์ดังกล่าวถูกสร้างไว้พร้อมๆ กับแบบจำลองภาพพิมพ์วินาทีหลังจากที่เขาโดนยิงด้วยระเบิดแก๊สน้ำตา เพื่อเตือนใจคนรุ่นใหม่ถึงความกล้าหาญและมรดกทางอุดมการณ์ที่รุ่นพี่ของพวกเขาได้สร้างไว้ และยังส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ ที่พื้นตรงทางเข้ามหาวิทยาลัยยังได้มีการวางหมุดสัญลักษณ์ เพื่อบ่งชี้ถึงตำแหน่งที่เกิดเหตุการณ์ในวันดังกล่าวด้วย

อนุสรณ์ 198769757922 ณ มหาวิทยาลัยยอนเซ

“มินจุง” สามัญชนผู้นำการเปลี่ยนแปลง

การต่อต้านของประชาชนในการสืบต่ออำนาจของประธานาธิบดีอีซึงมันในปี 1960, ขบวนการแรงงานที่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมในด้านสิทธิการทำงาน ท่ามกลางนโยบายการพัฒนาประเทศที่ชี้นำโดยรัฐของประธานาธิบดีพัคจองฮี ในช่วงทศวรรษที่ 1960-70, นักศึกษาที่รวมตัวกันต่อต้านการสืบต่ออำนาจเผด็จการ หลังการเสียชีวิตของพัคจองฮีในช่วง 1979 ซึ่งรู้จักกันในนาม Seoul Spring, การประท้วงและการล้อมปราบประชาชนอย่างรุนแรงที่ควังจูในเดือนพฤษภาคม 1980, การรวมตัวของนักศึกษา แรงงาน สื่อมวลชน ศิลปิน และกลุ่มทางศาสนา ในช่วงที่ช็อนดูฮวันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 1980-1987, จนมาถึงการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชนในหลายเมืองทั่วประเทศ โดยมีศูนย์กลางการชุมนุมอยู่ที่กรุงโซล ซึ่งรู้จักกันในนาม June Struggle ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนี้ ล้วนเป็นเพียงภาพบางส่วนของบทบาทของสามัญชนในการต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ขบวนการสามัญชนเหล่านี้เป็นที่เรียกขานกันในหมู่นักกิจกรรมและนักประวัติศาสตร์การเมืองว่า “มินจุง” (민중)

มินจุง เป็นคำที่ยากต่อการนิยามให้ชัดเจน และมีข้อถกเถียงมากมายถึงคำจำกัดความ ขอบเขต อัตลักษณ์ ยุทธศาสตร์ และภาพตัวแทนของพวกเขา แต่กระนั้น ความเข้าใจร่วมกันที่มีต่อมินจุงก็คือ ขบวนการหรือปฏิบัติการของคนธรรมดาสามัญในสังคม ที่ต้องเผชิญกับสภาวะของการถูกกดขี่ การไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างชอบธรรม อันเป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจที่กดทับ และพยายามปลดแอกตนเองออกจากสภาวะดังกล่าว ผ่านทางปฏิบัติการทางการเมืองและวัฒนธรรม

บาดแผลของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการสังหารหมู่ที่ควังจูนั้นเป็นหนึ่งในทรัพยากรเชิงสัญญะที่สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อขบวนการและความรู้สึกร่วมของผู้คน ที่แสดงออกมาในช่วงที่ช็อนดูฮวันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในการประท้วงเดือนมิถุนายน 1987 นั้น ภาพวาดและภาพพิมพ์ของอิซังโฮและจอนจองโฮ ศิลปินวัยยี่สิบกว่า ถูกผลิตซ้ำและแจกจ่ายออกไปมากมาย เพื่อนำไปประกอบการประท้วงในรูปแบบของธงและภาพแขวน ในฐานะเครื่องมือทางวัฒนธรรมในการต่อต้านอำนาจเผด็จการ และการตั้งคำถามต่อบทบาทที่คลุมเครือของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อขบวนการประชาชน ภาพของศิลปินทั้งสองนำเอาเรื่องราวเหตุการณ์ที่ควังจูออกมาฉายให้เห็นอย่างมีอารมณ์ร่วม โดยเฉพาะการเน้นไปที่สีหน้าแววตา และความรู้สึกที่เจ็บปวดของผู้คนที่ไม่มีวันขจัดให้หมดสิ้นไปได้ อิซังโฮและจอนจองโฮเป็นศิลปินเกาหลีสองคนแรกที่ถูกจับในข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคง จากการแขวนภาพวาดของเขาในที่สาธารณะในช่วงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

งานศิลปะเพื่อการต่อต้านของศิลปิน อิซังโฮและจอนจองโฮ จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เมืองควังจู เกาหลีใต้

งานศิลปะเพื่อการต่อต้านของศิลปิน อิซังโฮและจอนจองโฮ จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เมืองควังจู เกาหลีใต้

นอกจากบทบบาทของนักศึกษาและศิลปินแล้ว นักบวชในคริสต์ศาสนาก็มีส่วนอย่างมากในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตย ข้อมูลผลชันสูตรการเสียชีวิตของพัคจงชอล นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ในกระบวนการสืบสวนอย่างโหดร้ายทารุณ ถูกนำมาเปิดเผยโดย สตีเฟน คิมซูฮวาน พระราชาคณะแห่งโบสถ์คาทอลิกที่มย็องดง (Myeongdong Cathedral) โบสถ์แห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญที่ใช้ในการปกป้องคุ้มครองผู้ชุมนุมประท้วง จากการสลายการชุมนุมและจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 10 มิถุนายนอีกด้วย

โปสเตอร์ภาพยนตร์ Beyond That Mountain (2020)

สตีเฟน คิมซูฮวาน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจและความรุนแรงในยุคสมัยของช็อนดูฮวัน และเป็นผู้นำเอาข้อมูลหลายอย่างจากกรณีควังจูมาเปิดเผยให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนมากขึ้น ในภายหลัง สตีเฟน คิมซูฮวาน ได้รับตำแหน่งเป็นอัครสังฆราชแห่งกรุงโซลและพระคาร์ดินัลของนิกายโรมันคาทอลิกคนแรกของเกาหลีใต้ เขาเป็นที่รู้จักในวงการศาสนาในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในเกาหลี เรื่องราวในวัยเด็กของเขาถูกนำเสนอเป็นภาพยนตร์ ในชื่อ Beyond That Mountain (저 산 너머) ซึ่งออกฉายเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี่เอง

หมุดบนถนน บริเวณหน้า Seoul Anglican Cathedral หนึ่งในจุดเริ่มต้นของการชุมนุมใหญ่ในเดือนมิถุนายน 1987

ทุกวันนี้ หากเราเดินไปตามทางเดินและท้องถนนของกรุงโซลหรือเมืองหลักอื่นๆ ในเกาหลีใต้ เราจะได้พบกับอนุสาวรีย์ของผู้คน และหมุดบอกตำแหน่งของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนบทบาทและการเสียสละของสามัญชนในกระบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

ความพยายามใดๆ ของผู้มีอำนาจในการลบและทำลายมรดกความทรงจำและร่องรอยของการต่อสู้เหล่านี้ ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ยิ่งแสดงให้เห็นว่า อำนาจที่ถือครองอยู่นั้นเป็นอำนาจที่เปราะบาง ซึ่งดำรงอยู่บนความไม่ชอบธรรม อันมาจากการไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนนั่นเอง

อ้างอิง

Lee Myung-sik. 2010. The History of Democratization Movement in Korea. Seoul: Korea Democracy Foundation and The May 18 Memorial Foundation.

วิเชียร อินทะสี. 2556. พลวัตความเป็นประชาธิปไตยในเกาหลีใต้: จากอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

John D H Downing, ed. 2011. Encyclopedia of Social Movement Media. Los Angeles: SAGE Publications.

ดูภาพเหตุการณ์ในวันดังกล่าวได้ที่ //chwe.net/hanyeol/

Jameson, Sam. “Korea Student’s Death Sparks Clash in Seoul : Police Disperse Demonstration With Tear Gas; Protesters Spurn Ruling Party’s Condolences” Los Angeles Times, July 6, 1987.

Roh Tae-woo. 1987. “Special Declaration for Grand National Harmony and Progress Towards a Great Nation by the Chairman of the Democratic Justice Party” in Working a Political Miracle: Sweeping Democratic Reforms. Seoul: Korean Overseas Information Service.

Uk Heo and Terrence Roehrig. 2010. South Korea Since 1980. New York: Cambridge University Press.

Kwon Young-sau. “A Foundation At Last: 30 Years after the death of Lee Han-yeol, Yonsei University is establishing an official commemorative foundation for Lee” The Yonsei Annals 3/2018. และ Song Min-sun. “When the Day Comes;” the Day Has Come: Remembering Yonsei in 1987 for a promising 2018, and more days to come” The Yonsei Annals 3/2018.

Koo Hagen. 2001. Korean Workers: The Culture and Politics of Class Formation. Ithaca: Cornell University Press.

ดู Wells, Kenneth, ed. 1995. South Korea’s Minjung Movement: Culture and Politics of Dissidence. Honolulu: University of Hawaii Press. และ Lee Namhee. 2007. The Making of Minjung: Democracy and the Politics of Representation in South Korea. Ithaca: Cornell University Press.

McKittrick, David. “Cardinal Kim Sou-hwan: The first Korean Catholic cardinal and a campaigner for human rights” Independent, February 21, 2009. และ Choe Sang-Hun. 2009. “Stephen Kim Sou-hwan, Cardinal, Dies at 86” The New York Times, February 16, 2009.

Choi Ji-won. “‘Beyond the Mountain’ looks at childhood of late Cardinal Kim Sou-hwan” The Korea Herald, April 28, 2020. และ Kwak Yeon-soo, “‘Beyond That Mountain’ depicts late Cardinal’s childhood. The Korea Times, April 22, 2020.

เกาหลีใต้ จักรกริช สังขมณี ชาติพันธุ์ฮันกุก การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขบวนการประชาชน มิถุนายน 1987 june struggle อิฮันยอล สตีเฟน คิมซูฮวาน

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ศัพท์ทางทหาร military words แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 พจนานุกรมศัพท์ทหาร ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง ไทยแปลอังกฤษ ประโยค lmyour แปลภาษา การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ประปาไม่ไหล วันนี้ ฝยก. ย่อมาจาก หยน ห่อหมกฮวก แปลว่า เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษาจีน ่้แปลภาษา onet ม3 การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 1 ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง ตตตตลก บบบย ห่อหมกฮวกไปฝากป้า คาราโอเกะ เขียน อาหรับ แปลไทย เนื้อเพลง ห่อหมกฮวก แปลไทย asus zenfone 2e กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การประปานครหลวง ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบภาษาอังกฤษ ม.ปลาย พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ชขภใ ชื่อเต็ม ร.9 คําอ่าน ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน นยน. ย่อมาจาก ทหาร บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ฝสธ. ย่อมาจาก มัดหัวใจเจ้าชายเย็นชา 2 ซับไทย มัดหัวใจเจ้าชายเย็นชา 2 เต็มเรื่อง ยศทหารบก เรียงลําดับ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รัชกาลที่ 10 ห่อหมกฮวกไปฝากป้า คอร์ด